The Prachakorn

บทเรียนจากปากีสถานสู่ระบบอาหารไทย


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

12 กันยายน 2565
749



ภาวะโลกรวนกำลังแสดงให้ประชากรโลกเห็นถึงผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น บทเรียนจากปากีสถานอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยควรเตรียมรับมืออย่างไร

ภาวะโลกรวนกำลังแสดงให้ประชากรโลกเห็นถึงผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1 องศา จะทำให้น้ำระเหยมากขึ้นและปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้น 5% หลักฐานที่เกิดขึ้นในแคว้นต่างๆ ของปากีสถานที่ประสบภัยพิบัติชี้ให้เห็นถึงปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-9 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาและพื้นที่เดียวกันในปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนร่วมกับภาวะน้ำแข็งบนภูเขาละลายทำให้ 1 ใน 3 ของพื้นที่ในปากีสถานถูกน้ำท่วม และประชากร 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ บ้านเรือนเสียหายกว่า 1.4 ล้านหลัง จำนวนผู้เสียชีวิตจนถึงวันนี้ (5 กันยายน 2565) เกินกว่า 1,200 คนแล้ว1

ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับปากีสถานในปี 2565 นี้ นอกจากบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างจะจมอยู่ใต้น้ำแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนนและสะพาน เสียหายอย่างหนัก กระทบระบบขนส่ง พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 2 ล้านเอเคอร์ หรือกว้างประมาณ 5 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ปศุสัตว์เสียหายอย่างมาก สัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ตายกว่า 8 แสนตัว คาดประมาณมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พื้นที่เกษตรที่เสียหายนี้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารที่ผลิตได้ในประเทศ ดังนั้นผลกระทบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ประชากรจะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มสะอาด ราคาอาหารสูงขึ้นจนไม่สามารถซื้อได้ และเงินเฟ้อสูงถึงเกือบ 25% ปากีสถานจะต้องนำเข้าอาหาร จำพวกธัญพืชจากต่างประเทศ และผักจากประเทศเพื่อนบ้านที่สัมพันธภาพไม่ดีนักอย่างอินเดีย ปากีสถานจะไม่สามารถเพาะปลูกได้จนกว่าจะถึงฤดูกาลหน้าในราวเดือนตุลาคม แต่ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูประเทศจะไม่สามารถทำได้ในเวลาอันใกล้นี้ หรืออาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี2 ดังนั้นปากีสถานอาจต้องประสบปัญหาวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารไปอีกอย่างน้อยหลายเดือนหรือหลายปี

ปากีสถานมีพื้นที่ 796,095 ตารางกิโลเมตร ซึ่งขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 1.6 เท่า ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ ทิศตะวันออกติดกับอินเดียและทิศตะวันตกติดกับอัฟกานิสถานและอิหร่าน ปี 2565 ปากีสถานมีประชากรจำนวน 236 ล้านคน สัดส่วนประชากรเด็ก (0-14 ปี) 36.6% ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) 56.7% และประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 6.8% จึงถือได้ว่าปากีสถานมีอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก (65%) สูงกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (12%)3 กล่าวคือ ประชากรวัยแรงงานต้องดูแลเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ราคาอาหารสูงจนครอบครัวไม่สามารถซื้อได้ในปริมาณที่ต้องการ จึงอาจทำให้เด็ก 86 ล้านคนในปากีสถานได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกาย นักวิเคราะห์ระบุว่าเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2565 ประชากร 4.66 ล้านคนในพื้นที่ชนบทจะประสบความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง (ดังแสดงด้วยแผนที่ในรูป 1) เนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้น ความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ และโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร การระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น4 ข้อมูลและการวิเคราะห์ดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2565 ที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้รวมผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่ชาวปากีสถานกำลังประสบอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาวะขาดแคลนอาหารในปากีสถานจะยิ่งทวีความรุนแรงและครอบคลุมพื้นที่กว้างมากขึ้น


รูป 1 ปากีสถาน: สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูงช่วงเดือนตุลาคม ปี 2021 – เดือน เมษายน ปี 20224
หมายเหตุ: สีส้ม หมายถึง พื้นที่วิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรง

บทเรียนจากปากีสถานที่เกิดจากภัยพิบัติและภาวะโลกร้อน ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเพื่อเตรียมรับมือวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) ด้วยมาตรการที่พอจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและพื้นที่ใด ระบบสำรองอาหารหรือบางประเทศเรียก “ธนาคารอาหาร (food bank)” จะสามารถช่วยบรรเทาความอดอยากได้ทันท่วงที ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการกระจายอาหารสู่พื้นที่ประสบภัยอย่างทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม อาจต้องคำนึงถึงการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่เมื่อการเดินทางด้วยเส้นทางถนนไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจต้องการแผนระยะยาวโดยการกระจายพื้นที่เพาะปลูกอาหารหลักของประชากร เช่น ข้าว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ หรือ “เกษตรแม่นยำ (precision agriculture)” ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ภายในฟาร์ม โดยต้องมีการจัดการข้อมูลและบริหารจัดการพื้นที่ในฟาร์ม เช่น คุณสมบัติดินเพื่อคำนวณและปรับปริมาณแร่ธาตุอย่างเหมาะสมและพอเพียงต่อพืชแต่ละชนิดและสายพันธุ์ ความชื้นและอุณหภูมิผิวดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช การเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายเดือน และบริหารจัดการนำมาใช้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ

อันที่จริงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้ประสบภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารอันเนื่องจากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติรูปแบบหนึ่ง ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ได้แก่ กระบวนการผลิต แปรรูป ขนส่ง และการค้าอาหาร ทำให้วัตถุดิบอาหารราคาสูงขึ้น 20-30% ไข่ไก่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของคนไทยมีราคาสูงขึ้น โดยไข่ไก่เบอร์ 0 ราคาสูงถึงฟองละ 5 บาท5 หากย้อนไปช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2554 ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14% (ดูรูป 2)6  แม้สถานการณ์ความขาดแคลนอาหารของไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับกรณีที่เกิดขึ้นในปากีสถาน แต่ราคาไข่ไก่ที่สูงขึ้นจนกระทบกับความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มเปราะบาง จึงถือเป็นวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารอันเนื่องมาจากภัยพิบัติด้วยเช่นกัน


รูป 2 ราคาไข่ไก่สดเฉลี่ยขายที่ฟาร์มในประเทศไทย ปี 2542-2564
แหล่งข้อมูล: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภาพ: จัดทำโดยคณะวิจัยโครงการระบบอาหารของประเทศไทย7

ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนตกงานและมีรายได้ลดลง ไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอให้แก่สมาชิกครอบครัวได้ โดยเฉพาะกลุ่ม “คนจนเมือง” เพราะเป็นประชากรเปราะบางที่มีรายได้รายวัน เมื่อไม่ได้ทำงานเพราะกิจการต่างๆ ปิดตัวลงหรืองดให้บริการ จึงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรเมือง การอาศัยอยู่ในเมืองมีข้อจำกัดของพื้นที่เพื่อการปลูกพืชอาหาร จึงเห็นได้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เกิดโครงการเกษตรในเมืองหลายแห่ง เช่น สวนผักคนเมืองที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน การปลูกผักในชุมชนหรือบนดาดฟ้าเพื่อใช้ในธุรกิจอาหารและแบ่งปันในชุมชน

มาตรการเพื่อการฟื้นคืน (resilience) ระบบอาหารของประเทศไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่า 1,497,813 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 17.6 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด6 แม้ประเทศไทยจะมีอาหารส่วนเกิน (surplus) เพื่อส่งออก แต่หากเกิดภัยพิบัติรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปากีสถาน เราอาจไม่มีข้าวกินเพราะน้ำท่วมนาข้าวยาวนานหลายเดือน หรือ ขาดแคลนไข่ไก่เพราะฟาร์มไก่จมอยู่ใต้น้ำ หรือ พื้นที่แห้งแล้งจนไม่สามารถปลูกพืชผักได้ ดังเช่นในมาดากัสการ์8 ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารจะช่วยให้เราไม่ต้องอดอยากหรือทนหิว เพราะรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ


อ้างอิง

  1. The Standard. ประมวลสถานการณ์น้ำท่วมปากีสถาน พวกเขาสูญเสียมากแค่ไหน. ประเทศไทย2565.
  2. Mangi F, Dilawar I. Pakistan's Food Security Threatened by Massive Flooding TIME: TIME; 2022 [Available from: https://time.com/6209889/pakistan-food-floods/.
  3. Population Division DoEaSA, United Nations,. World Population Prospects 2022. In: Nations U, editor. World Population Prospects: United Nations; 2022.
  4. Integrated Food Security Phase Classification. Pakistan: Acute Food Insecurity Situation October 2021 - March/April 2022 and Projection for April/May - June 2022 Integrated Food Security Phase Classification: Integrated Food Security Phase Classification; 2022 [Available from: https://www.ipcinfo.org/ipc-country-analysis/details-map/en/c/1155374/#:~:text=In%20total%2C%20nearly%204.66%20million,)%20through%20March%2FApril%202022.
  5. thichaphat_d. สำรวจราคาไข่ไก่ หลังเริ่มขาดตลาด คนแห่ตุนช่วงล็อกดาวน์ คาดปลายเดือน ส.ค.นี้กลับสู่ปกติ: 3PlusNews; 2564 [Available from: https://ch3plus.com/news/economy/morning/253128.
  6. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศปี 2564. กรุงเทพฯ: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์; 2565.
  7. จงจิตต์   ฤทธิรงค์, สิรินทร์ยา พูลเกิด, ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ, พิมลพรรณ นิตย์นรา. ระบบอาหารของประเทศไทย. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2565.
  8. Bunnag N. ความอดอยากในมาดากัสการ์อยู่ในระดับหายนะ โดยมีสาเหตุจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move); 2565 [Available from: https://www.sdgmove.com/2021/07/27/famine-in-madagascar-caused-by-climate-change/

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ส้วม

วรชัย ทองไทย

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th