ตลอดช่วงปี 2565 เป็นภาวะยากลำบาก ประชาคมโลกผจญชะตากรรมร่วมกันจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความแปรปรวนจากสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน มีการคาดประมาณว่า ประชากรโลก 222 ล้านคน ใน 53 ประเทศ เผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร และ 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศ อดอยากขั้นรุนแรง
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เช่น โลกมีอุณหภูมิสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏและจะสูงมากขึ้น ในจำนวน 15 ประเทศที่เผชิญปัญหาอุณหภูมิสูง มี 12 ประเทศที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คาดประมาณว่า คลื่นความร้อนของโลกภายในศตวรรษนี้จะมีความรุนแรงต่อมนุษย์เทียบเท่ากับการเสียชีวิตจากมะเร็งและโรคติดต่ออื่นๆ
จากรายงาน The Global Humanitarian Overview1 โดยสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ประเมินว่า จากประชากรที่ประสบความยากลำบาก ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการระบาดของโควิด-19 จำนวน 274 ล้านคน ถ้าใช้งบประมาณ 41,000 ล้านดอลลาร์ จะสามารถบรรเทาสาธารณภัยให้ประชากรได้เพียง 182 ล้านคนเท่านั้น เนื่องจากการระดมทุนที่ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สหประชาชาติจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่และอาสาสมัครจากประเทศต่างๆ เช่น อาสาสมัครสตรีจากองค์กรต่างๆ ในเอธิโอเปีย อิรัก เมียนมา ปาเลสไตน์ ซีเรีย เยเมน ร่วมเป็นคณะทำงานแนวหน้าเพื่อกำหนดแผนงานเชิงรุกซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนไหวจากภาวะเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ลดลงจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 3.2 ในปี 2565 และจะดิ่งลงไปที่ 2.7 ในปี 2566 เกิดเป็นภาวะขาดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ซ้ำยังมีการระบาดของโควิด-19 ในอเมริกา ยุโรป และจีน ในช่วงปี 2563-2565 ที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติ รวมทั้งสงครามในยูเครน
รูป: โลโก้รณรงค์เพื่อยุติความหิวโหยของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ
ที่มา: https://twitter.com/UNOCHA/status/1610925845832400897/photo/1.
สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
จากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มีการคาดประมาณว่า ประชากรโลก 1 ใน 23 ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและในปี 2566 ประชากร 339 ล้านคน เพิ่มจาก 274 ล้านคน ของปี 2565 ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีพ ในขณะที่ความสามารถในการช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำได้เพียง 230 ล้านคน ใน 69 ประเทศ และต้องใช้งบประมาณสูงถึง 51,500 ล้านดอลลาร์
ประชากรประมาณ 77 ล้านคน ในกลุ่มประเทศทางตะวันออกและตอนใต้ของทวีปแอฟริกายังต้องการความช่วยเหลือ เมื่อเปรียบเทียบกับงบดำเนินการที่มีเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์ ต่อ 1 โครงการ/แผนงาน จึงจำเป็นต้องจัดลำดับความช่วยเหลือในแต่ละประเทศ
ยูเครนยังถูกจัดลำดับเป็นประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากสงครามเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2565 ใช้งบประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดูแลประชากร 6.3 ล้านคน สำหรับปี 2566 คาดว่าต้องใช้งบช่วยเหลือประมาณ 57,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับประชากร 13.6 ล้านคน เนื่องจากสงครามเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น
สาธารณรัฐคองโกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว ต้องได้รับการช่วยเหลือ 23,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณ 2566 เพิ่มจากปี 2565 ประมาณ 20% เนื่องจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงและอาหารเพิ่มขึ้น
เมียนมามีความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากับรัฐบาลกลางประชากร 4.5 ล้านคน ต้องรักษาชีวิตรอดทั้งจากการสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาล และความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 แต่มีสัญญาณที่ดีในระดับหนึ่งที่การสู้รบเบาบางลง และคาดว่าในปี 2566 ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
ประชาคมโลกในแต่ละภูมิภาคได้ผ่านภาวะความยากลำบากเพื่อความอยู่รอดจากสาเหตุต่างๆ ในรอบปี 2565 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกในปี 2566 ซับซ้อนมากขึ้น อเมริกาเข้าแทรกแซงจีนจากนโยบายรวมจีนหนึ่งเดียวต่อไต้หวัน ที่กำลังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมตลาดโลก ผลิตแผง microchip และ semi-conductor ที่มีคุณภาพสูง และกลายเป็นคู่แข่งกับจีนที่เปิดประเทศให้บริษัทผู้ผลิตต่างชาติเปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายทั่วโลก อเมริกาต้องใช้วิธีกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบเพื่อชิงตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จีนจำเป็นต้องเร่งเปิดประเทศเสรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากปิดติดต่อมา 3 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มีผลให้อเมริกาและประเทศพันธมิตรบางประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ขอสันติสุขของประชากรโลก 8,000 ล้านคน เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 และตลอดไป
ที่มา
อมรา สุนทรธาดา
รศรินทร์ เกรย์
นนทวัชร์ แสงลออ
อภิชัย อารยะเจริญชัย
สุภาณี ปลื้มเจริญ
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
วรชัย ทองไทย
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ศิรดา เขมานิฏฐาไท
ศุทธิดา ชวนวัน
อมรา สุนทรธาดา
สุชาดา ทวีสิทธิ์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
เพ็ญพิมล คงมนต์
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
พิชฌ์นิพัทธ์ วิชัยโน
เพ็ญพิมล คงมนต์
อมรา สุนทรธาดา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ประทีป นัยนา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
อมรา สุนทรธาดา
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
วรชัย ทองไทย