The Prachakorn

การศึกษาท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

16 กุมภาพันธ์ 2565
331



เหตุการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ความขัดแย้งจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้ผู้คนมากมายต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเพื่อแสวงหาที่ๆ ปลอดภัยสำหรับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (internally displaced people) หรือพลัดถิ่นออกนอกประเทศเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) หรือผู้ลี้ภัย (refugees) ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ประเด็นสำคัญของผู้พลัดถิ่นอีกประเด็นหนึ่งคือ การศึกษา 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เก็บข้อมูลใน 40 ประเทศ ในช่วงปี 2562-2563 พบว่า การสมัครเรียนในระดับมัธยมศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยมีเพียง 34% เท่านั้น ในขณะที่การสมัครเรียนในระดับประถมศึกษาอยู่ที่ 68% และยังชี้อีกว่าการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เยาวชนผู้ลี้ภัยประสบกับอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นในการเข้าสู่การศึกษา1

ในระดับอุดมศึกษาพบว่า มีผู้ลี้ภัยสมัครเข้าเรียนเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั่วโลกอย่างมาก โดยการสมัครเรียนในระดับอุดมศึกษาของคนที่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทั่วโลกอยู่ที่ 39%2

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการสมัครเข้าเรียนที่ต่ำ ยังไม่สามารถสะท้อนภาพปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยได้ทั้งหมด จากประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาร่วมสองปี ทำให้ได้เห็นว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการพลัดถิ่นยังประสบกับอุปสรรคมากมายในการศึกษา การเรียนออนไลน์ที่บ้านซึ่งทำให้สมาธิของนักเรียนลดลง ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน สัญญาณอินเทอร์เน็ตติดขัด ขาดการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมกับนักเรียนคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งกับผู้สอน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะผู้สอนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า ในช่วงการเรียนออนไลน์นั้น การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีทั้งในฝั่งของผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้เป็นปัญหามากนัก แต่ปัญหามักเกิดจากปัจจัยพื้นฐานดังที่ได้กล่าวมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตติดขัด หรือการที่นักศึกษาจะต้องทำหน้าที่อย่างอื่นนอกเหนือจากการเรียนด้วย เช่น ดูแลสมาชิกที่บ้าน หรือแม้แต่ทำงานไปด้วย แต่สิ่งที่เปิดโลกของผู้เขียนอีกประเด็นหนึ่งคือ การสอนนักศึกษาที่อยู่ในประเทศที่มีทรัพยากรขั้นพื้นฐานไม่ดีและไม่เพียงพอ เช่น ไฟฟ้า หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังมีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือการสู้รบในประเทศ สิ่งเหล่านี้กระทบกับความเป็นอยู่ของนักศึกษา และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของนักศึกษามาก การที่ต้องอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ เช่น กรณีของนักศึกษาชาวเมียนมาหลายคน ทำให้บางครั้งขาดการติดต่อจากอาจารย์หรือจากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เมื่อนักศึกษาติดต่อกลับมาพร้อมกับคำขอโทษที่ส่งงานช้า เราจึงได้ทราบเหตุผลที่หายไปของนักศึกษาว่า เป็นเพราะมีระเบิดลงในเมืองที่อยู่ ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งคืน จากการติดตามนักศึกษาชาวเมียนมาพบว่า บางคนยังอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิม ส่วนคนที่ยังติดต่อไม่ได้นั้น ไม่แน่ใจว่าอาจจะเป็นผู้พลัดถิ่นไปแล้วหรือไม่ 

ยังมีกรณีของนักศึกษาชาวอัฟกานิสถานที่ขาดการติดต่อไปเช่นกัน ภายหลังได้พบว่าเขาต้องลี้ภัยจากอัฟกานิสถานไปยังประเทศเยอรมนี และขอสถานะผู้ลี้ภัยที่นั่น กระบวนการการย้ายถิ่น ตั้งถิ่นฐาน และการเดินเรื่องต่างๆ ในบ้านใหม่ ทำให้เขาไม่สามารถมีสมาธิกับการเรียนได้มากนัก 

คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านี้จะต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป บางคนเรียนมาแล้วหลายปี แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องจากบ้านเกิดและเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ การศึกษาของเขาและเธอก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ในเวลานี้ นอกจากเราจะต้องหายุทธศาสตร์ทางการศึกษาในสภาวะโรคระบาดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบเหล่านี้ด้วย จะทำอย่างไรเพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก และจะมีการสนับสนุนให้กับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไร เป็นความท้าทายร่วมสมัยที่สำคัญลำดับต้นๆ ของสถาบันการศึกษาเลยทีเดียว 

รูป: คุณครูชาวกะเหรี่ยงกำลังสอนภาษาพม่าแก่นักเรียนผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง เธอได้กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการอาศัยอยู่ค่ายพักพิงในภาคเหนือ ของประเทศไทยคือ การที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ที่มา: UNHCR. (2016). Missing Out: Refugee Education in Crisis. Retrieved January 17, 2022, from https://www.unhcr.org/missing-out-state-of-education-for-the-worlds-refugees.html 


  1. United Nations. (7 September 2021). Critical gaps in refugee education, only 34 per centattend secondary school: UNHCR. Retrieved December 29, 2021, from https://news.un.org/en/story/2021/09/1099242 
  2. UNHCR. (n.d.). Tertiary Education. Retrieved December 29, 2021, from https://www.unhcr.org/tertiary-education.html
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีกร

วรชัย ทองไทย

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

เด็กน้อยเร่งเรียนเขียนอ่าน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

เวลา

วรชัย ทองไทย

เจเนอเรชันโควิด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th