The Prachakorn

ปี 2564 ปีแรกที่มีการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในไทย


สุริยาพร จันทร์เจริญ

25 เมษายน 2565
495



เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเริ่มได้ยินคำว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัล (Digital Token) กันบ่อยครั้ง ซึ่งหลายคนคงคุ้นหูกันบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่รู้ความหมายว่ามันคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร อีกทั้งทำไมปีนี้กรมสรรพากรจึงต้องมีการเรียกเก็บภาษี ?

คริปโทเคอร์เรนซี คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนโดยการเข้ารหัสลับเพื่อทำธุรกรรมซึ่งถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถรับและส่งรายการธุรกรรมบนแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ และมีอัตราค่าธรรมเนียมไม่สูงมากหรือในบางรายการมีค่าธรรมเนียมเป็นศูนย์1, 2 

โทเคนดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และกําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง3 ซึ่งก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนชี จนเราเข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกัน แต่สองสิ่งนี้มีความแตกต่างกันตรงที่ โทเคนดิจิทัลจะไม่มีระบบบล็อกเชนเป็นของตัวเองและเป็นโปรเจคย่อยของบล็อกเชนในค่ายเดิมอีกทีหนึ่ง

ที่มา : https://www.brandbuffet.in.th/2022/01/cryptocurrency-tax/

ในปีนี้ผู้เขียนได้เข้ายื่นภาษีแบบออนไลน์กับกรมสรรพากรประจำปี 2564 ซึ่งมีรายการที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะดุดตาในแบบฟอร์มหัวข้อจากการลงทุนที่ระบุโดดเด่นขึ้นมาในหน้าเว็บไซต์เป็นหัวข้อแรกคือ “ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน (มาตรา 40(4))” 

อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ให้ไว้ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 “โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามบทบัญญัติเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หมายความว่า ต้องมีการกำกับและการควบคุมการดำเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง3 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (หรือ ก.ล.ต.) นั่นเอง

เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลถูกจัดเป็นเงินได้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ซึ่งตามมาตรฐานการเสียภาษีขั้นพื้นฐานแบบเดียวดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้4 ดังนั้นผู้ที่มีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลจึงต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 155 โดยกรมสรรพากรได้มีกำหนดจากกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีประจำปี 2564 ไว้ 5 กิจกรรม6 ได้แก่ 

  1. กิจกรรมการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล 
  2. กิจกรรมการขุดคริปโทเคอร์เรนซี
  3. กิจกรรมที่ได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
  4. กิจกรรมที่ีได้รับคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลจากการให้หรือได้รับเป็นรางวัล
  5. กิจกรรมที่ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

ทั้งนี้จะต้องทำการยื่นแบบผู้เสียภาษี ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เสมือนเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตามในการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของความยุ่งยากและความไม่ชัดเจนในการเรียกเก็บหรือการคำนวณเงินที่ได้จากการลงทุน เพราะผู้ลงทุนในตลาดนี้มักมีจำนวนการทำธุรกรรมหลายครั้งต่อวันซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการเก็บหลักฐานในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งว่าได้กำไรหรือขาดทุน อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระให้กับผู้ลงทุนที่ใช้กระดานเทรดของไทย ซึ่งจะต้องชี้แจงภาษีให้กับกรมสรรพากร ผู้เขียนเห็นว่า “กฎหมายไทยควรสนับสนุนหรือมีมาตรการที่คุ้มครองผู้ลงทุนให้มีความชัดเจนหรือลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้จากส่วนนี้ด้วย แทนที่คนไทยจะสนับสนุนกระดานเทรดของไทย หากยังไม่มีความชัดเจนในกฎหมายหรือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์คาดว่าจะมีนักลงทุนไทยที่หันไปใช้กระดานเทรดของต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีก็เป็นได้”

ที่มา : https://www.bbc.com/news/business-60339561


อ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คริปโทเคอร์เรนซี. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/คริปโทเคอร์เรนซี 
  2. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. DeFi คืออะไร เกิดขึ้นตอนไหน มีความเสี่ยงหรือไม่ เรื่องควรรู้ก่อนลงทุน. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:  https://www.prachachat.net/finance/news-856380 
  3. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561. [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/43.PDF
  4. KRUNGSRI GURU. รู้จักภาษีคริปโต! จัดการยังไง? ให้หายห่วง. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 21 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/tax-cryptocurrency
  5. FINNOMENA. “ภาษีคริปโตฯ” คืออะไร? เสียยังไง? ใครต้องเสียบ้าง? สรุปทุกประเด็นที่ต้องรู้!. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:  https://www.finnomena.com/z-admin/cryptocurrency-tax/  
  6. กรมสรรพากร. การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล. ปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อ มีนาคม 2565.  [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:  https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/newsbanner/2022/03/Instructions_for_paying_personal_income_tax.pdf


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คณิตศาสตร์

วรชัย ทองไทย

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

พรจากพระเจ้า

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

รางวัลล้อเลียน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th