The Prachakorn

ขึ้นปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน


ปราโมทย์ ประสาทกุล

01 เมษายน 2565
2,919



ถ้าไม่นับอากาศที่ร้อนและพื้นดินที่ดูเหมือนจะแห้งแล้งที่สุด  เมษายนก็นับเป็นเดือนที่มีความหมายและสำคัญมากอยู่ในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ในแต่ละปี

เดือนเมษายนมีวันจักรี วันสงกรานต์ วันครอบครัว และวันผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะวันสงกรานต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ที่เราถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย ปีไทยนับตามปีนักษัตรเป็นรอบ 12 ปี เราท่องจำกันมาตั้งแต่เด็ก ชวดหนู ฉลูวัว ขาลเสือ เถาะกระต่าย มะโรงงูใหญ่ มะเส็งงูเล็ก มะเมียม้า มะแมแพะ ระกาไก่ วอกลิง จอสุนัข กุนสุกร (เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่คงไม่ท่องจำปีชื่อสัตว์เหล่านี้กันแล้ว)

อย่างปี 2565 นี้เดือนมกราคมไปจนถึงวันสงกรานต์ (14 เมษายน) ก็จะยังเป็นปีฉลู (วัว) พอมีการเคลื่อนย้ายจักรราศี จากราศีมีนไปเป็นราศีเมษ ก็จะ “ลาทีปีฉลู” “แล้วก็จะขึ้นปีใหม่ “สวัสดีปีขาล” กัน จากนั้นเราก็อยู่กับปีขาลเสือนี้ต่อไปจนถึงวันสงกรานต์กลางเดือนเมษายนปี 2566

การนับปีนักษัตรตามประเพณีไทยที่ทับซ้อนกับศักราชนับตามสากลนิยมทำให้เกิดความสับสนอยู่บ้าง เรามักจะเหมารวมเรียกปีสากลตั้งแต่ 1 มกราคมจนถึง 31 ธันวาคมเป็นปีนักษัตรปีเดียว เช่นเรียกปี 2565 ทั้งปีว่าเป็นปีขาล ทั้งๆ ที่ปีนี้มีปีฉลูรวมอยู่ด้วยนานถึง 3 เดือนครึ่ง

ผมขอยกกรณีของผมเป็นตัวอย่าง ผมเกิดต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 จึงควรนับว่าผมเกิดปลายปีกุน เพราะเกิดก่อนวันสงกรานต์ที่จะเปลี่ยนจักรราศีจากปีกุนเป็นปีชวด แต่พอบอกใครๆ ว่าผมเกิด พ.ศ. 2491 หลายคนก็จะบอกทันทีว่า “อ้อ...เป็นคนปีชวด” (ซึ่งก็ดีเหมือนกันทำให้เรามีอายุน้อยไปอีกปีหนึ่ง)

วันที่ 1 เมษายนตั้งต้นปีใหม่

เรื่องการนับวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยน่าจะเป็นเรื่องยาว ในที่นี้ผมจะขอคุยเรื่องนี้อย่างคร่าวๆ ก่อนก็แล้วกันนะครับ

วาดภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล

ในอดีตเราใช้ปฏิทินจันทรคติ ถือเอาแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นวันสุดท้ายของปีเก่า ในสมัยก่อนก็จะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 นึกภาพวันเพ็ญเดือนสิบสองออกนะครับพระจันทร์เต็มดวง ค่ำคืนนั้นน้ำจะนองเต็มตลิ่ง ส่วน “เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง” แล้วชวนกันไปลอยกระทงหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

เราเริ่มใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี 2432 โดยถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ และใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกฎหมายให้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตั้งแต่ปี 2454 และให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่เรื่อยมา

รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคมตามสากลนิยมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2484 เป็นต้นไป ดังนั้นปี 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน คือตั้งแต่ 1 เมษายน-31 ธันวาคม 2483

พูดถึงวันขึ้นปีใหม่ก่อนปี 2484 แล้ว ผมก็คิดถึงคุณพิชัย วาศนาส่ง เมื่อครั้งผมเป็นกรรมการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) อยู่กับท่าน พอถึงวันงาน “อำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่” คุณพิชัยจะร้องเพลง “เถลิงศก” (เวอร์ชั่นเดิม คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา ทำนอง: พระเจนดุริยางค์) ให้พวกเราได้ฟังกันชัดๆ ด้วยเสียงก้องดังกังวานอันเป็นเอกลักษณ์

“วันที่หนึ่ง เมษายน ตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวัน พราวพราย ใสสว่างแจ่มจ้า เสียงระฆัง หง่างเหง่งก้อง ร้องทักทายมา ไตรรงค์ร่า ระเริงปลิว พริ้วเล่นลม (สร้อย) ยิ้มเถิดยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจขอให้สวัสดี (ซ้ำ) มองทางไหน ทั้งชีวิต มีจิตใจทั้งนั้น ต้อนรับวัน ปีใหม่เริ่ม ประเดิมปฐม มาเถิดหนา พวกเรามา ปล่อยอารมณ์ มาชื่นชม ยินดี ปีใหม่แล้ว (สร้อย) สิ่งใดแล้ว ให้แล้วไป ไม่ต้องนำพา สิ่งผิดมาให้อภัย ให้ใจผ่องแผ้ว สิ่งร้าวราน ประสานใหม่ ให้หายเป็นแนว สิ่งสอดแคล้ว มาสอดคล้อง ให้ต้องตามกัน (สร้อย) มาจับมือ แสดงยินดี ในวันปีใหม่ มาทำใจ ให้ชื่นบาน ร่วมสมานฉันท์ มาเล่นหัว ให้เบิกบาน สำราญใจครัน มารับขวัญ ปีใหม่ไทย อวยชัยชโย

เดี๋ยวนี้ เราจะได้ยินเพลง “เถลิงศก” (เวอร์ชั่นใหม่ คำร้องและทำนอง: สุนทราภรณ์) ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

“วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กันในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องใดจงอภัยให้กัน หมดสิ้นกันทีปีเก่า เรื่องทุกข์เรื่องเศร้าอย่าเขลาคิดมัน ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ ให้มันสดใสสุกใหม่ทั่วกัน…….. ฯลฯ ……..”

ย้อนกลับมาถึงเดือนเมษายนกันอีกครั้ง

วันตรุษสงกรานต์ในเดือนเมษายนเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ชาวไทย ลาว พม่า เขมร งานวันสงกรานต์จะจัดขึ้นเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่องกันในช่วงเวลากลางเดือนเมษายน บรรยากาศงานสงกรานต์ของไทยบรรยายไว้ในเพลงสุนทราภรณ์จนเห็นภาพได้ชัดเจน

“วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย ตอนเช้าทำบุญ ทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันกันเอย เข้าวัดแต่งตัว แต่งตัวสวยสะ ไปสรงน้ำพระ ณ วันสงกรานต์กันเอย ตอนบ่ายเราเริงกีฬา เล่นมอญซ่อนผ้าเล่นสะบ้ากันเอย ทำบุญทำทานสนุกสนานกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วรำวงกันเอย”

กิจกรรมหลักของคนไทยในวันสงกรานต์ในอดีต คือการไปทำบุญที่วัด ฟังพระสวด เลี้ยงพระ แล้วก็มีการสรงน้ำพระ พระในที่นี้เป็นได้ทั้งพระสงฆ์และพระพุทธรูป เดี๋ยวนี้คนในเมืองไม่สะดวกที่จะไปทำบุญและสรงน้ำพระที่วัด จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน หรือที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งตามห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็จัดให้มีพระพุทธรูปตั้งไว้บริการ

ผมจำได้ว่าเคยตามแม่ไปวัดในวันสงกรานต์เมื่อยังเป็นเด็กตัวน้อยๆ ไปนั่งฟังพระสวดและได้มีประสบการณ์เอาน้ำไปรดมือพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้พอถึงวันสงกรานต์ก็ได้แต่เอาพระบูชาองค์เล็กองค์น้อย เหรียญหลวงพ่อขนาดต่างๆ มาเช็ดขัดทำความสะอาดเป็นงานประจำปี

ปัจจุบันกิจกรรมหลักในวันสงกรานต์อีกอย่างหนึ่งที่ขาดเสียมิได้คือการเล่นสาดน้ำกัน ถ้าไม่นับรวมการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งจัดกันในบางครอบครัว และในสถานที่ทำงานหลายแห่งแล้วในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมาก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ตั้งแต่ปี 2563) การเล่นสาดน้ำของคนไทยในเทศกาลตรุษสงกรานต์ได้กลายเป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ตื่นตาตื่นใจที่ผู้คนตั้งตารอคอย

การเล่นสาดน้ำที่ถนนข้าวสาร บางลำภู สนุกสนานมีชีวิตชีวาจนกลายเป็นงานมหกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้เข้ามาร่วมฉลองวันสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ชื่อ “ถนนข้าวสาร” โด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยก็สร้างประเพณีสาดน้ำที่ยิ่งใหญ่ในถนน “ข้าว” สารพัดชนิด เช่น ถนนข้าวปุ้น ข้าวหลาม ข้าวเหนียว ข้าวยำ ข้าวฮาง ข้าวหอมมะลิ

การเล่นสาดน้ำในเขตเมือง ชานเมือง และหมู่บ้านชนบทเป็นไปอย่างสนุกสนานคึกคักกันมากในระยะหลังๆ นี้ (ก่อนโควิด-19) ในอดีตวันสงกรานต์ที่อยู่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูแล้ง บางพื้นที่ต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในช่วงเดือนนี้ ในระยะหลังการประปาส่วนภูมิภาคได้จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ทำให้คนไทยมีน้ำให้เล่นสาดกันอย่างสนุกสนาน เราคงเคยเห็นภาพเด็กๆ วัยรุ่น และหนุ่มสาวใช้รถกระบะเป็นพาหนะ บรรทุกถังน้ำ พร้อมอาวุธครบมือ (ปืนฉีดน้ำ ขัน ถัง) ขับตระเวนฉีดและสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

พวกที่ไม่มีพาหนะที่จะขับตระเวนไปเล่นสาดน้ำตามที่ต่างๆ ก็ใช้วิธีตั้งฐานที่มั่นคอยดักสาดรถที่ผ่านไปผ่านมา ผมเคยโดนสาดน้ำด้วยยุทธวิธีนี้มาบ่อยๆ ต้องใช้กลวิธีป้องกันด้วยการทำใจโดยคิดเสียว่า เด็กๆ เขาช่วยล้างรถให้เราในวันสงกรานต์

วันขึ้นปีใหม่ไทยในสถานการณ์โควิด-19

ก่อนปี 2563 ที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดหนัก เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ในแต่ละปี คนกรุงอย่างพวกเราก็มักจะถามกันว่า “สงกรานต์นี้จะไปเที่ยวไหน”

เทศกาลสงกรานต์จะมีวันหยุดยาว ปกติจะมีวันหยุดนานเป็นอาทิตย์ ผู้คนในเมืองจะถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวกัน คนที่มีเงินก็จะไปเที่ยวต่างประเทศ หรือไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองอื่น ก็จะเดินทางกลับไปถิ่นฐานบ้านเดิมของตน

กรุงเทพมหานครในช่วงสงกรานต์จึงว่างลงอย่างเห็นได้ชัด การจราจรคล่องตัว จะไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย ผู้คนไม่แออัดยัดเยียดกันเหมือนอย่างในช่วงเวลาปกติ ผมจึงตอบคำถามว่า “สงกรานต์นี้จะไปเที่ยวไหน” ในเกือบทุกปีว่า “สงกรานต์นี้ผมจะไปเที่ยวกรุงเทพฯ” ผมขอยืนยันว่า กรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์น่าอยู่น่าเที่ยวจริงๆ

ตั้งแต่ปี 2563 เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดหนักไปทั่วโลก พิษของเชื้อไวรัสร้ายนี้ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดกิจการลง ผู้คนต้องตกงานเป็นจำนวนมาก คนที่มาจากต่างจังหวัดต้องกลับไปถิ่นเดิมของตนโดยไม่ต้องรอวันสงกรานต์ ปี 2563 ผ่านไปแล้ว ปี 2564 ผ่านไปแล้ว โควิด-โอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ยังระบาดไม่เลิก พวกที่หนีโควิดกลับไปอยู่ต่างจังหวัดจำนวนมากยังคืนกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะไม่มีงานรองรับ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ก็มีมุมบวก คนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่จำนวนหนึ่งได้ประสบการณ์ ความรู้ และเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กลับไปสร้างอาชีพการงานในถิ่นเกิดของตน หลายคนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

ปีฉลู “วัว” หรือ ปี “โค” ได้จากพวกเราไปแล้ว พร้อมๆ กับ “โควิด”

สวัสดีปีเสือครับ



CONTRIBUTOR

Related Posts
มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คลื่นกระทบฝั่ง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อคนสูงวัยเข้าใกล้วัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th