The Prachakorn

สูงวัยอย่างไรให้ปลอดภัยในยุคดิจิทัล


จุฬาลักษณ์ อิ่นแก้ว

27 กันยายน 2566
3,299



ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตและการให้บริการตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ประชาชนกำลังเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันต่างๆ ทั้งในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง ซื้อสินค้าออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงิน และเพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนหรือลูกหลานที่อยู่ห่างไกลกัน

จากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล 18.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 5.7 อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามที่มาพร้อมกับประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลนี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีความเสี่ยงสูงกับผู้สูงอายุบางกลุ่มที่รู้ไม่เท่าทันสื่อออนไลน์ จากสถิติการประสบภัยจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล พบว่ามีผู้สูงอายุที่เคยประสบภัยจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากถึงร้อยละ 49.7 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกหลอกหรือถูกรบกวนโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากที่สุด ร้อยละ 44.2 รองลงมาคือ ได้รับข่าวปลอม (fake news) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ข่าวสร้างความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง สร้างความสับสน ตื่นตระหนกให้ประชาชน ร้อยละ 19.5 และถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์ เช่น สั่งซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ ซื้อของแล้วได้ของไม่เป็นไปตามรูปแบบที่สั่ง ร้อยละ 8.1

ข้อมูล: การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ปี 2566

บทความนี้ขอนำเสนอ 4 วิธีให้ผู้สูงอายุสามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ดังนี้

1. การรับสายอย่างปลอดภัย เมื่อมีเลขหมายโทรศัพท์แปลกๆ โทรเข้ามา สิ่งแรกที่ผู้สูงอายุควรทำคือ การตั้งสติแล้วเตือนตัวเองว่าเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานต่างๆ ที่โทรศัพท์เข้ามา อาจจะไม่ใช่พนักงานจริง หากเป็นพนักงานจริงจะต้องแจ้งชื่อ-นามสกุลของพนักงานได้ชัดเจน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้หลังจากวางสาย โดยวิธีการตรวจสอบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์และชื่อ-นามสกุลของพนักงานกับศูนย์ประสานงานบริการ (call center) ของธนาคาร หรือหน่วยงานนั้นๆ เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
  • หาข้อมูลในเว็บ Blacklistseller ซึ่งเป็นเว็บเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาในรูปแบบแม่ค้า พ่อค้า และรูปแบบอื่นๆ ที่ผู้เสียหายอัปโหลดข้อมูลทิ้งไว้เพื่อเตือนภัย มีทั้งข้อมูลชื่อ-นามสกุล, หมายเลขโทรศัพท์, หมายเลขบัตรประชาชน, เลขบัญชีธนาคารของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
  • ติดตั้งแอปพลิเคชันเป็นตัวช่วย เช่น Whoscall ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่คอยแจ้งเตือนว่า   เลขหมายโทรศัพท์แปลกๆ ที่โทรศัพท์เข้ามาเป็นหมายเลขที่น่าสงสัย ขายประกัน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกรับสายโทรศัพท์เฉพาะที่ปลอดภัย
  • จำกัดการรับเลขหมายโทรศัพท์จากต่างประเทศ เพื่อป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ มาหลอกให้โอนเงิน ส่วนมากจะเป็นการโทรศัพท์เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหมายเลขโทรศัพท์มักจะขึ้นต้นด้วยเครื่องหมาย + ข้างหน้า เช่น +689 ซึ่งผู้สูงอายุสามารถจำกัดการรับโทรศัพท์จากหมายเลขเหล่านั้นได้ด้วยการกดหมายเลข *138*1# แล้วโทรออก หลังจากนั้นจะได้รับข้อความว่าปิดรับสายจากต่างประเทศแล้ว ทั้งนี้บริการปฏิเสธการโทรเข้าจากต่างประเทศไม่ใช่การจำกัดแค่เลขหมายของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่จะจำกัดเลขหมายทั้งหมดจากต่างประเทศ ดังนั้น หากมีญาติหรือธุระที่จะต้องติดต่อระหว่างประเทศอาจจะไม่สามารถทำได้

2. อยู่อย่างปลอดภัยในโลกโซเชียล สื่อออนไลน์ในปัจจุบันเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถสร้างข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด และมีวิธีมากมายให้คนทั่วไปหลงเชื่อและเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความที่น่าเชื่อถือ การจัดรูปแบบข้อความให้เป็นทางการ หรือแม้แต่การแนบแหล่งข้อมูลที่เป็นเท็จ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่รับข่าวสารผ่านสังคมสื่อออนไลน์ต่างๆ จำเป็นต้องคิด ไตร่ตรอง และตรวจสอบข้อมูลให้ดีว่าเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไม่ควรใช้ภาษาและถ้อยคำที่รุนแรงในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากผู้รับสารจะตีความข้อความเหล่านั้นจากความรู้สึก ทำให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการแสดงอารมณ์จากสีหน้า และภาษากายในเชิงลบ

3. การซื้อของออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยซื้อผ่านเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถสังเกตความปลอดภัยของเว็บไซต์ที่ทำการซื้อขายจากสัญลักษณ์แม่กุญแจด้านหน้าที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) หรือร้านค้าออนไลน์ที่มีเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ เช่น เครื่องหมาย DBD Registered หรือ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต (Wi-Fi) สาธารณะหรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นช่องทางที่อาชญากรสามารถเจาะระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งไม่ปลอดภัยกับผู้สูงอายุที่กำลังทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์

4. พิจารณาลิงก์ (link) ที่อยู่บนเว็บไซต์หรือข้อความที่ถูกส่งมาผ่านบริการข้อความสั้น (SMS) ก่อนคลิก อาชญากรมักจะหลอกล่อให้ผู้สูงอายุที่รู้ไม่เท่าทันโลกออนไลน์คลิกไปยังลิงก์ข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังเว็บไซต์ที่มีอันตราย ทำให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลที่สำคัญ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย ไม่คลิกไฟล์แนบจากผู้อื่นที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และใช้วิจารณญาณก่อนคลิกลิงก์ต่างๆ หรือขอคำแนะนำจากลูกหลานในการพิจารณาว่าข้อมูลหรือลิงก์ที่ถูกส่งต่อๆ กันมามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด


เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2565). การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2565. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566, จาก http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/2565/full_report_q2_65.pdf
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2566). การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2566. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566, จาก http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/2566/fullreport_Q2_66.pdf
  • สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2564). คู่มือคนไทย Go Cyber (ฉบับวัยเก๋า). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.etda.or.th/getattachment/.pdf.aspx

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Related Posts
ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ต้องยกเลิกมาตรา 301

กฤตยา อาชวนิจกุล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th