The Prachakorn

ที่อยู่อาศัยและกับใครที่คาดหวังจะอยู่ด้วย ในวัยสูงอายุ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

14 มิถุนายน 2565
493



ประชากรวัยแรงงานจำนวนมากในประเทศไทย ย้ายถิ่นเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อการศึกษาและการประกอบอาชีพ หลายคนย้ายถิ่นจากครอบครัวมาทำงานคนเดียวในถิ่นปลายทาง บางคนสร้างครอบครัวในถิ่นที่อยู่ใหม่ บางคนมีเป้าหมายเพื่อหารายได้ส่งกลับไปยังครอบครัวในถิ่นเดิมที่มีพ่อแม่และญาติพี่น้องอาศัยอยู่ แต่บางคน (น่าจะ) โชคดีที่ได้ทำงานใกล้กับที่อยู่เดิมจึงไม่ต้องย้ายไปทำงานไกลบ้าน เมื่อผ่านช่วงวัยแรงงานจนเข้าสู่วัยเกษียณอายุ พวกเขาจึงต้องเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัย คนวัยแรงงานส่วนมากมีเป้าหมายชัดเจน และความหวังจะเป็นจริงได้ จึงต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า

โครงการวิจัยเรื่อง “ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจความต้องการถึงที่อยู่อาศัยที่คาดหวังเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในปี 2564 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,734 คน ส่วนมากต้องการอยู่อาศัยในที่เดิม (ร้อยละ 56.1) รองลงมา คือ ที่อยู่อาศัยใหม่ของตนเองหรือของสมาชิกในครอบครัว (ร้อยละ 19.4) และย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาเดิมหรือบ้านเกิด (ร้อยละ 13.8) น่าสนใจที่คนวัยแรงงานบางส่วนคาดหวังจะไปอยู่ที่พักอาศัยหรือชุมชนที่สร้างขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ หรือสถานสงเคราะห์ สัดส่วนรวมกันประมาณ ร้อยละ 7 (แผนภูมิ 1)

แผนภูมิ 1 ที่อยู่อาศัยที่ประชากรวัยแรงงานคาดหวังเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ (ร้อยละ)

สมาชิกที่อาศัยอยู่ด้วยกัน สำคัญไม่น้อยกว่าที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง เพราะจะเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกด้าน ทั้งการดูแลสุขภาพ การเงิน และจิตใจ คนวัยแรงงานส่วนมาก คาดหวังจะอยู่กับครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส ลูก พ่อแม่ พี่น้อง และหลาน ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการอยู่คนเดียว และร้อยละ 8.6 ต้องการอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักผู้สูงอายุ (แผนภูมิ 2)

แผนภูมิ 2 บุคคลที่ประชากรวัยแรงงานคาดหวังจะอาศัยอยู่ด้วย เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ (ร้อยละ)

ผลการสำรวจ 2 ประเด็นนี้ ทำให้เห็นว่า การสำรวจที่อยู่อาศัยที่เป็นสิ่งปลูกสร้างพบว่า มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ตอบว่าต้องการจะอาศัยในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ แต่เมื่อถามถึงบุคคลที่จะอาศัยอยู่ด้วย กลับมีคำตอบว่าต้องการอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักผู้สูงอายุ สูงกว่าถึงเกือบร้อยละ 10 เพื่อให้ได้มีคนดูแลเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

การอยู่กับสมาชิกครอบครัวและอาศัยอยู่ที่เดิมเป็นทางเลือกส่วนใหญ่ของคนวัยแรงงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกได้ ผู้ที่ไม่ได้มีคู่ชีวิต ลูก หรือสมาชิกครอบครัวที่สามารถพึ่งพาได้ จึงคาดหวังจะมีสถานสงเคราะห์ดูแลเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจนถึงวาระท้ายความต้องการนี้จะเพิ่มมากขึ้นในคนรุ่นใหม่ที่ไม่แต่งงาน แผนภูมิ 3 แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ที่ต้องการอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักผู้สูงอายุส่วนมากเป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และสถานภาพโสด

แผนภูมิ 3 ผู้ที่คาดว่าจะอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์/บ้านพักผู้สูงอายุ จำแนกตามรุ่นอายุและสถานภาพสมรส (ร้อยละ)
หมายเหตุ: เสนอเฉพาะการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป เนื่องจากเป็นส่วนใหญ่ของผู้ต้องการอาศัยในสถานสงเคราะห์/บ้านพักคนชรา (n=120 คน)

ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ คนวัยแรงงานมีแนวโน้มจะไม่มีลูกจากสาเหตุหลายประการที่ผู้นำและนักนโยบายควรทำความเข้าใจ พวกเขาจึงอาจขาดผู้ดูแลเมื่อเป็นผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมถอยจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุจึงกลายเป็นความหวังที่คนวัยแรงงานกลุ่มนี้ต้องการพึ่งพิง รัฐจึงควรเตรียมการให้มีสถานสงเคราะห์และผู้ดูแลอย่างเพียงพอ เข้าถึงได้ ในอัตราที่จ่ายไหว เพื่อให้ประชากรทุกคนได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีตราบจนวาระท้าย

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ใครจะเป็นคนดูแลเรา

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

หลุมดำ

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th