หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตื่นมาดูไลฟ์ (live) ท่านผู้ว่ากทม. อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วิ่งทุกเช้า หรือ ชอบติดตามท่านลงพื้นที่สำรวจปัญหาของกรุงเทพฯ แบบเสมือนจริงกับแอดมินหมู คุณอาจจะอยากรู้จักประชากรชาวกรุงเทพฯ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ทำไมใครๆ จึงมักบอกว่า “กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย” ผู้เขียนเป็นประชากรไทย 1 ใน 66 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดมาตลอดชีวิต แต่ชะตาชีวิตทำให้กิจวัตรวนเวียนอยู่รอบๆ เมืองหลวงราวกับเป็นศูนย์กลางจักรวาล จึงอดไม่ได้ที่จะติดตามข่าวการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ตามนโยบาย 214 ข้อของท่านผู้ว่าฯ
เช้าวันนี้ 6 สิงหาคม 2565 ได้ฟังข้อมูลจากท่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) อัพเดทให้ท่านผู้ว่าฯ ฟังว่า “เขตคลองสามวามีประชากรกว่า 2 แสนคน และ เป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดในกรุงเทพฯ แซงหน้าเขตสายไหมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ข้อสังเกตจากท่านสก. บอกว่า เป็นเพราะคลองสามวามีพื้นที่กว้าง (110 ตร.กม.) ไม่แออัด (1,876 คนต่อตร.กม. [1]) อากาศดี มีบ้านจัดสรรหลากหลายราคาให้เลือกซื้อ และเข้าถึงศูนย์การค้าหลักๆ ได้สะดวก เงื่อนไขเหล่านี้จึงทำให้เมืองขยาย ประชากรย้ายถิ่นมาตั้งหลักปักฐาน ดังนั้น กทม. จึงต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างใกล้ชิด เพื่อการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ โรงเรียน และสถานพยาบาล คำถามต่างๆ เกี่ยวกับประชากรกรุงเทพฯ จึงผุดขึ้นมา และให้ได้ค้นคว้ากันต่อในบทความนี้
กรุงเทพฯ มีขนาด 1,568.750 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2564 แสดงจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 5,527,994 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 3,524 คนต่อตร.กม. จำนวนบ้าน 3,147,231 หลัง เขตที่มีจำนวนประชากรมากเกิน 2 แสนคน คือ เขตสายไหม (206,831 คน) และ เขตคลองสามวา (206,437 คน) ส่วนเขตที่มีประชากรน้อยที่สุดคือเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีประชากรเพียง 20,777 คน (ข้อมูลประกาศเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)1
กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย หากรวมประชากรแฝงที่ไม่ปรากฏในทะเบียนและคนที่เดินทางมาทำงานในตอนกลางวันด้วยแล้ว คาดว่าจะสูงถึงเกือบเท่าตัวของประชากรที่ปรากฏในทะเบียน เราจึงเรียกกรุงเทพฯ ว่าเป็น “อภิมหานคร (megacity)” คือมีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป หรือกล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ในตอนกลางวันจะมีประชากรถึง 1 ใน 6 ของประเทศมารวมตัวกัน นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็น “เอกนคร (primate city)” เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศและมีความโดดเด่นอย่างมากเพียงเมืองเดียวที่เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากกว่าเมืองรองหลายเท่า
อัตราเพิ่มของประชากรกรุงเทพฯ อยู่ระดับเกือบ 1% และเริ่มลดลงในปี 2559 จนเริ่มติดลบในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ประชากรต้องย้ายกลับถิ่นที่อยู่เดิม อันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองทำให้ร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดหรือปิดกิจการ
รูป 1 อัตราการเพิ่มของประชากรกรุงเทพมหานคร1
แม้กรุงเทพฯ จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าต่างจังหวัด แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของครัวเรือนสูงถึง 31,142 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 21,329 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของครัวเรือนนี้จำแนกเป็น ค่าอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 1 ใน 3 (35.6%) ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใชภายในบ้าน 20.6% และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและยานพาหนะ 17.2% ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ2 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานระหว่างปี 2553-2563 ชี้ให้เห็นว่า ราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า3
ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรไทยปี 2563 พบว่า จำนวนบุตรที่ผู้หญิงในกรุงเทพฯ คนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) อยู่ที่ 1.21 คนเท่านั้น ต่ำกว่าระดับประเทศที่ 1.53 คน4 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด หรือจำนวนปีที่ทารกคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ สำหรับชาย 72.56 ปี และหญิง 80.18 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ (อายุคาดเฉลี่ยของชายไทยเท่ากับ 73.23 ปี และหญิงไทย 80.35 ปี)4
ท่านผู้ว่าฯ ตั้งข้อสังเกตการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น เรือที่แล่นให้บริการในคลองแสนแสบว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีสมมติฐานว่าผู้ชายนิยมขี่มอเตอร์ไซด์มากกว่าใช้บริการขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอสมมติฐานด้านประชากรว่า อาจเป็นเพราะ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง อัตราส่วนเพศชายต่อหญิงของกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยเท่ากับ ชาย 88.3 คน ต่อหญิง 100 คน เขตที่อัตราส่วนเพศสูงที่สุดคือ เขตดุสิต (ชาย 116.4 คนต่อหญิง 100 คน) รองลงมาคือ เขตดอนเมือง (ชาย 99.2 คนต่อหญิง 100 คน) เขตที่อัตราส่วนเพศต่ำที่สุด 3 อันดับ คือ เขตห้วยขวาง เขตพระโขนง เขตลาดพร้าว (ชาย 80.9, 81.8, 83.1 คนต่อหญิง 100 คน ตามลำดับ)1
สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อเด็กและผู้สูงอายุเป็นตัวชี้สังคมสูงอายุ การคาดประมาณในปี 2565 จำนวนเด็ก (0-14 ปี) 25.62 คน ต่อประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) 100 คน และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 30.35 คนต่อแรงงาน 100 คน หรือคิดเป็นประชากรที่ต้องการพึ่งพิง 55.97 คนต่อประชากรวัยแรงงาน 100 คน นั่นหมายความว่า ประชากรวัยแรงงานในกรุงเทพฯ เพียงไม่ถึง 2 คน (1.79 คน) จะต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาสำหรับคนวัยแรงงานที่ต้องทำงานหารายได้เพื่อดูแลพ่อแม่สูงอายุและลูก จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีลูกเลย
แหล่งข้อมูล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ธีรนันท์ ธีรเสนี
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ชิษณุพงษ์ สรรพา
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
สุริยาพร จันทร์เจริญ
จงจิตต์ ฤทธิรงค์