The Prachakorn

‘พัทยา’ บ้านหลังสุดท้ายของชาวต่างชาติ


ขวัญชนก ใจซื่อกุล

04 ธันวาคม 2563
1,586



เมื่อกล่าวถึงพัทยาหลายคนคงจะนึกภาพของเมืองท่องเที่ยวแบบ Sea, Sand Sun and Sex เป็นลำดับแรก ทว่าในอีกด้านหนึ่งนั้นเมืองชายทะเลแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นบ้านหลังที่สองให้แก่ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย และในบางครั้งก็ได้กลายมาเป็นบ้านหลังสุดท้ายโดยไม่ตั้งใจและโดยปริยาย ในบทความนี้ผู้เขียนต้องการเล่าถึงแรงจูงใจในการย้ายถิ่นของชาวเยอรมันจำนวนหนึ่งที่เข้ามาพำนักในเมืองพัทยา ความเจ็บป่วยที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น และฉากสุดท้ายของชีวิตในยามที่ความตายมาเยือน 

บริเวณชายหาดพัทยา

ทำไมต้องเป็นพัทยา?

จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยระดับปริญญาโท1 ของผู้เขียนเกี่ยวกับชาวเยอรมันในพัทยาพบว่าการย้ายถิ่นมายังพัทยาเริ่มต้นมาจากความประทับใจในฐานะนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเดินทางมาด้วยตนเองหรือมากับกรุ๊ปทัวร์ จากนั้นจึงเลือกเดินทางมาเที่ยวพัทยาอีกเป็นประจำ จนเริ่มมองเห็นช่องทางในการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจย้ายถิ่นในที่สุด แรงจูงใจในการย้ายถิ่นมายังพัทยาประกอบด้วย ความไม่พอใจสภาพชีวิตในบ้านเกิด การมองเห็นอนาคตที่ดีกว่าในเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วยค่าครองชีพที่ถูกกว่า การใช้ชีวิตอย่างอิสระจากกรอบหรือวิถีปฏิบัติในสังคมเยอรมัน เช่น การเที่ยวบาร์ การดื่มเบียร์ตลอดทั้งวัน หรือความสัมพันธ์กับหญิงไทยซึ่งส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่ามาก งานวิจัยของทอมป์สัน และคณะ (2016)2  นำเสนอว่าคู่รักไทย-ตะวันตกส่วนใหญ่มักพบรักกันที่พัทยา จากนั้นจึงเดินทางไปใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านเกิดของหญิงไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน อย่างไรก็ตามงานวิจัยของผู้เขียนพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวเยอรมันเลือกที่จะพำนักในพัทยาต่อไป โดยพวกเขากล่าวว่าไม่ต้องการที่จะมีปัญหากับครอบครัวของฝ่ายหญิงอันเนื่องมาจากเรื่องเงิน จึงเลือกที่จะอาศัยในพัทยาและเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของฝ่ายหญิงเป็นครั้งคราว เหตุผลอีกประการหนึ่งคือชีวิตความเป็นอยู่ที่อีสานนั้นแตกต่างกับที่พัทยามาก หลายคนที่เคยไปอยู่ที่อีสานกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถอยู่ที่นั่นได้เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนที่พัทยา ที่พัทยาพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนกับอยู่ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ชุมชนเยอรมัน ร้านอาหารเยอรมัน บริการต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้ และสามารถเข้าถึงการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมและมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้อย่างสะดวก

สังขารที่ร่วงโรย

ผู้เขียนเริ่มเข้าไปทำความรู้จักกับผู้ย้ายถิ่นชาวเยอรมันในพื้นที่พัทยาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 ผ่านทางชุมชนเยอรมันแห่งหนึ่ง แม้เกือบทุกคนจะเป็นผู้สูงอายุ (อายุราว 50 – 80 ปี) แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกได้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหาร เดินเล่นริมหาด หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยชุมชนเยอรมันว่าพวกเขาค่อนข้างแข็งแรง กระฉับกระเฉง และมีความจำดี แม้งานวิจัยจะสิ้นสุดลง แต่ผู้เขียนก็ยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับชาวเยอรมันกลุ่มนั้นเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้รับทราบข่าวคราวการเจ็บป่วยของชาวเยอรมันเป็นระยะ ๆ โดยส่วนใหญ่ เกิดจาดโรคชรา มะเร็ง และเส้นเลือดในสมองแตก แม้โรงพยาบาลเอกชนในพัทยาจะมีบริการล่ามภาษาเยอรมัน แต่คนเยอรมันจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้เนื่องจากค่ารักษาพยาบาล ชาวเยอรมันที่อาศัยในไทยที่ไม่มีประกันสุขภาพจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ทำให้คนเยอรมันที่พำนักในพัทยาส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังเห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดในยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือการที่มีภรรยา (คนไทย) คอยดูแล ทั้งเป็นล่ามช่วยแปลและคอยดูแลทั้งเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลและเมื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้าน

ช่วงสุดท้ายของชีวิต

แม้ไม่อยากละทิ้งสิ่งที่รัก แต่ที่สุดแล้วความชราและโรคภัยก็พรากชีวิตชาวเยอรมันไปไม่น้อย จากคนที่เคยมีสุขภาพแข็งแรง สดใส กระฉับกระเฉง หลายคนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีอาการซึมเศร้า ก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด ผู้เขียนยังจำได้ดีเมื่อครั้งได้ถามถึงแผนการในอนาคตของพวกเขาในช่วงปี พ.ศ. 2558 เกือบทุกคนกล่าวว่าพวกเขายังไม่รู้อนาคต เพราะ ณ เวลานั้น พวกเขายังแข็งแรงดี แต่หากเจ็บป่วยมาก ๆ ก็อาจจะเลือกกลับไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนี สอดคล้องกับส่วนหนึ่งของผลการวิจัยของกนกวรรณ ตั้งจิตนุสรณ์ (2016)3  ที่ว่า เมื่อเจ็บป่วยผู้ย้ายถิ่นชาวตะวันตกจะเลือกกลับไปรักษาที่บ้านเกิด แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวเยอรมันในพัทยาพบว่า บ่อยครั้งโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัว หรือเมื่อพบโรคหนึ่งแล้วโรคอื่น ๆ ก็อาจตามมาเป็นขบวน บางคนไม่สามารถเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ประเทศเยอรมนีได้เนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถนั่งเครื่องบินเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ชั่วโมงได้ หลายคนเสียชีวิตที่พัทยา ทั้งนี้การดำเนินการเกี่ยวกับร่างของผู้เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้เสียชีวิตหรือการตัดสินใจของภรรยาคนไทย บางคนแจ้งความประสงค์ไว้ก่อนเสียชีวิตว่าต้องการให้ส่งร่างกลับไปฝังยังประเทศบ้านเกิด บางรายมีการสวดอภิธรรมตามความเชื่อของภรรยาคนไทยซึ่งนับถือศาสนาพุทธ โดยหลังจากพิธีฌาปนกิจ อาจมีการส่งอัฐิกลับไปยังบ้านเกิดหรือนำไปลอยอังคาร

จากการย้ายถิ่นที่เต็มไปด้วยความสุขและความหวังของการมีชีวิตที่ดีกว่า ดำเนินมาสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ปิดฉาก ยุติเรื่องราวของชาวต่างชาติคนหนึ่งอย่างสงบและจบลงที่พัทยา

พวงหรีดดอกไม้สดจากผู้เขียนเพื่อแสดงความระลึกถึงหนึ่งในผู้ย้ายถิ่นชาวเยอรมันที่จากไป


อ้างอิง

  1. Jaisuekun, Kwanchanok. 2017. “German Migrants in Pattaya, Thailand: Lifestyle, motivations, and integration.” MA Thesis, Mahidol University. 
  2. Thompson, Eric C., Pattana Kitiarsa, and Suriya Smutkupt. 2016. "From Sex Tourist to Son-inlaw: Emergent masculinities and transient subjectivities of farang men in Thailand.” Current Anthropology 57(1): 53-71.
  3. Tangchitnusorn, K. (2016). International retirement migration of Westerners to Thailand: Decision-making process, wellbeing, assimilation, and impacts on destination. Doctoral dissertation, Demography, Chulalongkorn University.


CONTRIBUTOR

Related Posts
สันติภาพโลก

อมรา สุนทรธาดา

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th