The Prachakorn

ต้องยกเลิกมาตรา 301


กฤตยา อาชวนิจกุล

16 กุมภาพันธ์ 2564
368



คำอภิปรายของ รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล

ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิง
ที่ท้องไม่พร้อม และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยผู้แปรญัตติให้ตัดมาตรา 301 ออกทั้งมาตรา
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 20 มกราคม 25641


ภาพได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ และกรรมาธิการทุกท่าน ดิฉันรองศาสตราจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติมาตรา 301 ไว้ เพราะต้องการให้ตัดออกทั้งมาตรา เพราะการคงอยู่ของมาตรา 301 คือหมุดหมายที่แสดงว่ากฎหมายนี้ สังคมนี้มองว่าการทำแท้งคืออาชญากรรม ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการที่หนึ่ง มาตรา 301 เป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่ขยี้หัวใจผู้หญิง เป็นมาตราเดียวที่ผู้กระทำความผิด ไม่ใช้คำว่า “บุคคล” แต่ใช้คำว่า “ผู้หญิง” เป็นมาตราเดียวที่ทำให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาชีวิตตัวเอง ถูกรัฐมองว่าเป็นการทำผิด เป็นอาชญากร

มาตรานี้ได้ชื่อว่า เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ (Victimless Crime) คือ ผู้หญิงไม่ได้ไปทำร้ายใคร ผู้หญิงตัดสินใจอยู่เหนือเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เพราะเนื่องจากเขาตั้งท้องแล้วเป็นท้องที่ไม่พร้อม ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุนานาประการ

คำว่า ท้องไม่พร้อม เป็นภาษาไทย มาจากงานวิจัยที่เราพบว่า ผู้หญิงไทย ไม่ได้คิดแบบฝั่งตะวันตกที่คิดว่าเป็นท้องที่ไม่พึงประสงค์ เป็นท้องที่ไม่ได้วางแผน เป็นท้องที่ไม่ต้องการ จากงานวิจัยที่เราทำเมื่อ 20 ปีที่แล้วนั้น พบว่าผู้หญิงทุกคนที่เขาตั้งท้องและต้องการยุติการตั้งครรภ์นั้น เขาให้เหตุผลว่า ท้องของเขานั้นเป็นท้องที่ไม่พร้อม ภาษาอังกฤษไม่มีคำนี้นะคะ unready pregnancy มันเป็นสิ่งที่ผู้หญิงใช้เป็นวาทกรรมของตัวเองในการบอกกับสาธารณชนว่า ฉันท้องไม่พร้อมนะ

เหตุผลประการที่สอง อยากให้ข้อสังเกตว่า คนจนขายซี่โครงตัวเองลงไทยรัฐหน้าหนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว  ซี่โครงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขา ผิดอาญาไหม? ไม่ผิดค่ะ คนฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกายตัวเองจนถึงแก่ชีวิต แล้วบังเอิญไม่ตาย ผิดไหม? ไม่ผิดค่ะ

แล้วทำไมเมื่อผู้หญิงตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ตัวเอง กฎหมายจึงเอาผิดเขา กฎหมายจึงตัดสินว่าผู้หญิงทำอาชญากรรม

ประการที่สาม ทิศทางของโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน ถ้าติดตามเรื่องนี้จะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ได้ทำการยกเลิกการลงโทษผู้หญิงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่า ทิศทางของโลกสมัยใหม่ เป็นทิศทางที่ไวยากรณ์ชีวิตสังคม ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เรื่องนี้ขัดกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ยังคงมาตรานี้ไว้ นั่นคือสังคมไทยยังคงมองว่า การทำแท้งคือ อาชญากรรม และเป็นอาชญากรรมที่ผู้หญิงกระทำต่อตัวเอง มองอย่างไรก็ไม่มีเหตุผล

สิ่งที่จะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ และองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้นานมากแล้วว่า “การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์นั้น คือบริการสุขภาพ” (Abortion is health care) ถ้าสมมติว่า สังคมไทยมองว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของบริการสุขภาพ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงเจ็บป่วย และมาเข้าบริการสุขภาพ ข้อเท็จจริงในประเทศไทยคือ หมอที่ยินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้หญิงมีไม่มากนัก สังคมไทยบังคับหมอไม่ได้ และสังคมอื่นก็เช่นกัน ฉะนั้นในจำนวนหมอที่มีไม่มากที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิง ต้องขอขอบพระคุณหมอทุกคนไว้ตรงนี้ โดยเฉพาะกรมอนามัยที่มีงานเครือข่ายแพทย์อาสาที่ตั้งมาเมื่อพ.ศ. 2557 ปัจจุบันการยุติการตั้งครรภ์สามารถเบิกได้เป็นสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าคีย์เบิกในโรงพยาบาลของรัฐ ประกันสังคมก็จ่าย แต่ประกันของข้าราชการนั้นดิฉันไม่แน่ใจว่าสิทธิข้าราชการจะครอบคลุมเรื่องนี้หรือไม่

ดิฉันขอเสนอต่อที่ประชุมว่า เพื่อให้เราเปลี่ยนวิธีคิดและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง คือขอให้ยกเลิกมาตรา 301 เลิกเอาผิดกับผู้หญิงที่เขาต้องการยุติการตั้งครรภ์  


1   เรียบเรียงใหม่ให้กระชับจากคำอภิปรายที่นำเสนอในที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ความผิดเรื่องการทำแท้ง) ของสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย ครม. เป็นหลักในการพิจารณา และมีข้อสังเกตท้ายรายงานของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

ภาพประกอบโดย Fathromi Ramdlon จาก Pixabay



CONTRIBUTOR

Related Posts
ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

ต้องยกเลิกมาตรา 301

กฤตยา อาชวนิจกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

กฎหมาย

วรชัย ทองไทย

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th