The Prachakorn

กฎหมายสมรสเท่าเทียม จุดเปลี่ยนสำคัญของโครงสร้างครอบครัวในสังคมไทย


นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

13 มิถุนายน 2567
474



ประเทศไทยกำลังจะมีประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การประกาศใช้ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากรัฐสภา หากผลการพิจารณาจากรัฐสภา “ผ่าน” และมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศลำดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย ต่อจากประเทศไต้หวัน และประเทศเนปาล และเป็นประเทศลำดับที่ 38 ของโลก ที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

รูป 1: สมรสเท่าเทียม
รูปโดย: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นได้จากความพยายามอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศร่วมกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักการเมือง ในการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมุ่งเป้าไปที่เรื่องของสิทธิการจัดตั้งครอบครัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้สิทธิการจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายใจความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวนี้ เพื่ออนุญาตให้บุคคล 2 บุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ให้สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ บุคคลจากเดิมที่กฎหมายจะอนุญาตให้การจดทะเบียนสมรสนั้นจะกระทำได้เฉพาะบุคคลที่เป็นชายและหญิงเท่านั้น

การมีสิทธิในการสร้างครอบครัวถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นพลเมืองคนหนึ่งของสังคมไทย การที่จะมีกฎหมายมารับรองสถานะการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำเนินชีวิตคู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะช่วยผลักดันสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างแท้จริง ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงกฎหมายและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอีกหลายอย่างที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับอื่นตามมาด้วย ได้แก่ สิทธิในครอบครัว สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสที่สร้างร่วมกันมา สิทธิในการรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิในการทำนิติกรรมหรือธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน สิทธิในการลงนามยินยอมให้ทำการรักษาพยาบาล สิทธิในการจัดการศพ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม และสิทธิประโยชน์จากรัฐในฐานะคู่สมรส 

อย่างไรก็ตาม การสร้างครอบครัวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น ถือเป็นสิทธิในการสร้างครอบครัวด้วยบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม ที่ช่วยลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ทำให้สังคมไทยจะมีโครงสร้างครอบครัวในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเปิดเผย โดยมีกฎหมายมารองรับสถานะการเป็นคู่สมรส

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนในสังคมไทยคุ้นเคยนัก หลายคนอาจจะรู้สึกขัดใจ และอาจจะต้องยังฝืนใจยอมรับด้วยความไม่สะดวกใจสักเท่าไร โดยสาเหตุของการไม่ยอมรับ หลายคนอาจจะมองว่าผิดจารีต ประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยทำกันมา หลายคนอาจจะใช้หลักคำสอนตามหลักศาสนาเป็นเหตุผลของการไม่ยอมรับแต่หากลองเปิดใจ ใช้มุมมองของหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเหตุผลของการยอมรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็อาจจะทำให้เข้าใจ สบายใจและยอมรับได้มากขึ้น เป็นการยอมรับที่อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และความเคารพความแตกต่างต่อกัน เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบและวิถีชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

รูป 2: LOVE WINS
รูปโดย: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th