ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ลุยซิเอน่า และนิว เม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองนักแสดงเด็กที่อยู่ทำงานในวงการบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์หรือรายการทีวีต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1939 กฎหมายนี้ชื่อว่า Coogan law ซึ่งได้ถูกบังคับใช้หลังจากที่อดีตนักแสดง แจ็คกี้ คูแกน (Jackie Coogan) ทำการฟ้องร้องพ่อแม่ของตนเองว่านำรายได้ที่เขาหามาได้ตอนเป็นนักแสดงเด็กไปใช้จนหมด กฎหมายนี้บังคับให้พ่อแม่ต้องแสดงบัญชีทรัสต์ หรือ trust account ที่เปิดขึ้นสำหรับเด็กเพื่อนำมาประกอบการขอใบอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างจะนำรายได้ของนักแสดงเด็กขั้นต่ำร้อยละ 15 ไปฝากในบัญชีนี้ โดยจะไม่มีใครสามารถถอนเงินในบัญชีนี้ออกมาใช้ได้ มีเพียงเจ้าของบัญชีเท่านั้น และจะทำได้เมื่อเข้าของบัญชีบรรลุนิติภาวะแล้ว นี่เป็นกลไกหลักกลไกหนึ่งที่ฮอลลีวูดใช้คุ้มครองนักแสดงเด็กจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ (SAG AFTRA, n.d.)
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้มีความล้าหลังและตามไม่ทันยุคดิจิทัล ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เด็กทั้งหลายยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้ความคุ้มครองเยาวชนที่ได้รับรายได้จาก โซเชียลมีเดีย จึงยังไม่กลไกที่ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบทางการเงิน คุ้มครองความปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบจำนวนชั่วโมงการทำงานของเด็ก ๆ เหล่านี้ด้วย พ่อแม่ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เด็กหลาย ๆ คน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า หาประโยชน์จากการใช้แรงงานลูกผ่านการสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลาย ๆ คนก็ออกมาโต้แย้งว่า เงินที่ได้รับจากการสร้างคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อให้ครอบครัวรวมถึงเด็ก ๆ เองมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเด็ก ๆ เองก็รู้สึกสนุกที่ได้ปรากฎตัวบนคอนเทนต์ต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย
เมื่อขาดกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองเด็ก ๆ จากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางโซเชียลมีเดีย หน้าที่ในการคุ้มครองเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เด็กจึงตกอยู่ในมือของตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นเอเจนซี่หรือพ่อแม่ผู้ปกครองก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีความตระหนักเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการเอารัดเอาเปรียบเด็กทางโซเชียลมีเดีย เอเจนซี่ที่ดูแลศิลปินเด็กหรืออินฟลูเอนเซอร์เด็กเหล่านี้ได้มีการออกกฎให้พ่อแม่ต้องเปิดบัญชี ทรัสต์เพื่อเก็บออมรายได้ให้กับเด็ก ๆ พ่อแม่บางคนนำรายได้ทั้งหมด 100% ฝากในบัญชี ซึ่งมากกว่าข้อกำหนดใน Coogan law เสียอีก (Lambert, 2019)
รายงานของ Unicef ในปี 2016 ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทยเอง ยังไม่มีกฎหมายหรือแนวทางในการคุ้มครองเรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากคอนเทนต์ที่มีเด็กเป็นส่วนหนึ่งในโซเชียลมีเดียอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงกฎหมายและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองเด็กในแง่ของการกระทำทารุณบนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ โดยประเทศไทยมี พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2558 ความผิดเกี่ยวกับการครอบครอง-ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก (Unicef, 2016)
แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง YouTube และ Instagram ได้มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน ดังเช่นในกรณีของคู่สามี-ภรรยาที่กระทำความรุนแรงกับลูก ๆ นั้น YouTube ได้ดำเนินการลบวีดิโอและหยุดจ่ายค่าโฆษณาให้กับทั้งคู่ นอกจากนี้ยังมีการล็อคไม่ให้มีการคอมเมนต์ในวีดิโอที่มีเด็กปรากฏอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดและความรุนแรงต่อเด็กอีกทางหนึ่ง ส่วน Instagram เองก็ได้เริ่มซ่อนยอดไลค์บนรูปภาพ เพื่อให้ผู้ใช้พุ่งความสนใจไปที่รูปภาพที่ถูกโพสต์มากกว่าจำนวนไลค์ที่ได้รับ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจในการติดต่อเด็กให้ช่วยโปรโมทสินค้าในช่องทางนี้น้อยลงก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายหรือแนวทางในการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองเด็ก ๆ จากการถูกเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์ทางโซเชียลมีเดีย หนึ่งในสิ่งที่จะต้องได้รับการผลักดัน คือ การยอมรับว่า การถ่ายทำวีดิโอเด็ก ๆ เป็นการทำงาน เพื่ออินฟลูเอนเซอร์เด็กเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่คุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งควรมีการให้คำนิยามที่ชัดเจนและครอบคลุมเรื่องข้อบังคับในการได้รับใบอนุญาตในการทำงาน รวมถึงการจำกัดชั่วโมงการทำงาน การแต่งตั้งผู้ปกครอง และรายละเอียดข้อบังคับในการจัดการรายได้ที่ได้รับจากคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียด้วย
อ้างอิง
กัญญา อภิพรชัยสกุล
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ศุทธิดา ชวนวัน
พิมลพรรณ นิตย์นรา
วรชัย ทองไทย
รีนา ต๊ะดี
รีนา ต๊ะดี
กาญจนา เทียนลาย
สาสินี เทพสุวรรณ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา เทียนลาย