การส่งเสริมการกินผักและผลไม้ให้ได้เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำโลก คือ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน1 มีความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชากร แต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกใช้มาตรการที่มีประสิทธิผล รวมถึงมาตรการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับประชากร
มาตรการสำคัญในการสร้างการรับรู้ในระดับกว้างที่สำคัญในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการโฆษณารณรงค์ต่างๆ ผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชากรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือผ่านทางการสื่อสารอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุ ฯลฯ การรณรงค์ส่งเสริมเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพจึงถูกนำมาใช้ในหลากหลายระดับ ได้แก่ 1) ระดับสื่อมวลชน (mass media campaigns: MMC) ซึ่งเป็นการดำเนินการสื่อสารทางเดียวเพื่อให้ข้อมูลผ่านป้ายโฆษณา ใบปลิว ทีวี และวิทยุ เช่น การรณรงค์เรื่อง “The 2&5” (ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ 2 ส่วน และผัก 5 ส่วน) ของประเทศออสเตรเลียที่พบว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม2 สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการ MMC เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ รวมไปถึงการลดไขมัน/น้ำตาล/เกลือ และส่งเสริมให้บริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น3 2) การรณรงค์สื่อการตลาดเพื่อสังคม (Mass media social marketing campaigns: MMSMC) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ทางเลือกแก่ประชาชนผ่านสื่อมวลชน เช่น ทีวี วิทยุ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย งานประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดเวทีสาธารณะ และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การรณรงค์เรื่อง 2:1:1 (บริโภคผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อ 1 ส่วน) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)4 และ 3) การรณรงค์ในชุมชน (Community-based campaigns: CBC) ซึ่งเป็นการรณรงค์ในระดับอำเภอและตำบล โดยทั่วไปจะดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาสังคม ชาวบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าอิทธิพลของการรณรงค์ในระดับข้างต้น (MMC, MMSMC และ CBC) รวมถึงปัจจัยทางประชากรและสังคมมีผลต่อการบริโภคผักและผลไม้เพียงพออย่างไร บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการรณรงค์ในระดับ MMC, MMSMC และ CBC รวมถึงปัจจัยทางประชากรและสังคมที่มีผลการบริโภคผักและผลไม้เพียงพอของประชากร
จากข้อมูลของโครงการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเก็บข้อมูล 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ปี 2561 และรอบที่ 2 ปี 2562 โดยศึกษาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 4,649 คน พบว่า การรณรงค์แบบ MMC และการรณรงค์แบบ CBC ส่งผลต่อการกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่พบผลกระทบต่อการกินผักและผลไม้ให้ได้เพียงพอตามเกณฑ์โลก ในขณะที่การรณรงค์แบบ MMSMC ของ สสส. ในประเด็น 2:1:1 กลับพบว่า มีผลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพออย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอ ได้แก่ การศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป การมีอาชีพ และการมีกิจกรรมทางกาย
จากผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การรณรงค์แบบ MMSMC สามารถช่วยให้ประชากรบรรลุการกินผักและผลไม้ได้ตามเกณฑ์โลก อย่างไรก็ตาม การรณรงค์แบบ MMC และการรณรงค์แบบ CBC ก็ยังมีความสำคัญ เนื่องจากมีส่วนช่วยให้ประชากรเพิ่มการกินผักและผลไม้ได้ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นควรดำเนินการรณรงค์ผ่านการสร้างและพัฒนาสื่อต่างๆ ที่มีเป้าหมายเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและในระยะยาว
ที่มา
Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Chamratrithirong, A., Gray, R. S., Pattaravanich, U., Ungchusak, C., & Saonuam, P. (2022). Implementing population-wide mass media campaigns: Key drivers to meet global recommendations on fruit and vegetable consumption. PloS one, 17(8), e0273232.
อ้างอิง
กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน
รีนา ต๊ะดี
ศุทธิดา ชวนวัน
สุรีย์พร พันพึ่ง
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สาสินี เทพสุวรรณ์
อมรา สุนทรธาดา
ชณุมา สัตยดิษฐ์
วาทินี บุญชะลักษี
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
ณัฐพร โตภะ
วรชัย ทองไทย
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
สุชาดา ทวีสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ศุทธิดา ชวนวัน
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา