“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” เป็นพระดำรัสของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่" และได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อปี 2510 ในสาขาบริการสาธารณะ
วลีนี้ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง เมื่อเกิดวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งในประเทศไทยเมื่อปี 2540 และถูกลืมไปชั่วระยะหนึ่งในยุค “ทักษิโณมิกส์” แต่วลีนี้กลับได้รับการกล่าวขานอีกครั้ง เมื่อโลกได้เผชิญกับวิกฤติการเงินที่เริ่มต้นจากฟองสบู่อหังสาริมทรัพย์แตกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี 2550 คือ วิกฤติการเงินแฮมเบอร์เกอร์ และต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนถึงวิกฤติอหังสาริมทรัพย์ในรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปลายปี 2552 คือ วิกฤติดูไบ
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ ย่อมไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด ถ้าคนเรายังหลงในสิ่งสมมุติอยู่ ในที่นี้คือหลงสมมุติว่าเงินเป็นสิ่งของที่มีค่าอย่างแท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินไม่มีค่าในตัวเองเลย
เงินเป็นเพียงสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้น เงินเริ่มต้นจากการใช้สินค้าหรือสิ่งของมีค่าบางชนิด ที่สะดวกในการขนย้ายเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย เช่น เกลือ ใบยาสูบ เปลือกหอย ซึ่งของเหล่านี้มีค่าในตัวของมันเอง เพราะสามารถนำมาบริโภคหรือใช้สอยได้โดยตรง ต่อมาได้มีการสร้างเหรียญกษาปณ์ขึ้น โดยใช้วัตถุมีค่า เช่น ทอง เงิน ทองแดง ตะกั่ว ซึ่งแต่ละเหรียญจะมีมูลค่าใกล้เคียงหรือเท่ากับวัตถุที่ใช้สร้าง ในช่วงนี้เงินยังคงมีค่าในตัวของมันเองอยู่
เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น จนไม่สามารถหาวัตถุมาทำเหรียญกษาปณ์ให้ทันกับความต้องการได้ จึงทำให้เกิดเงินชนิดใหม่คือ ธนบัตร โดยมีธนาคารกลางและรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันมูลค่าของธนบัตร นั่นคือสามารถนำธนบัตรมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำหรือของมีค่าอื่นๆ ได้เมื่อต้องการ อันทำให้ธนบัตรยังคงมีค่าในตัวเอง
ต่อมาเมื่อคนเริ่มมีความเชื่อถือในธนบัตรมากขึ้นเรื่อยๆ ธนบัตรจึงได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นเพียง “เงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” เท่านั้น กล่าวคือไม่มีค่าในตัวเอง หรือไม่สามารถนำไปแลกเป็นทองคำจากธนาคารได้ แต่มูลค่าของธนบัตรจะขึ้นอยู่กับความสมดุลของภาวะเศรษฐกิจกับจำนวนเงินหรือธนบัตรที่หมุนเวียนในตลาด โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้บริหารให้เกิดความสมดุลนี้ ด้วยการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง นั่นคือ บริหารจัดการให้จำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาด สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง
ภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงคือ ภาวะที่มูลค่าของสิ่งของและบริการที่ผลิตได้ เป็นไปตามราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ราคาที่ถูก “ปั่น” ให้สูงกว่าความเป็นจริง เช่น บ้าน ที่ดิน หุ้น ที่ถูกคนโลภ (อยากมีเงินมากๆ) ปั่นราคาให้สูงขึ้นเป็นฟองสบู่ เมื่อฟองสบู่แตกย่อมทำให้เกิดวิกฤติการเงินดังกล่าวขึ้น
การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มโดยไม่คำนึงภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงนี้ ย่อมก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อันมีผลให้ธนบัตรหรือเงินมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีค่าในที่สุด
รางวัลอีกโนเบลสาขาคณิตศาสตร์ ในปี 2552 จึงได้มอบให้กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศซิมบาบวย ที่ทำให้ประชาชนได้ฝึกฝนกับตัวเลขอยู่ทุกวัน ด้วยการพิมพ์ธนบัตรราคาตั้งแต่ หนึ่งเซ็นต์ (.01 ดอลล่าร์) (ดูรูป 1) จนถึง หนึ่งร้อยล้านล้านดอลล่าร์ (100,000,000,000,000) (ดูรูป 2)
รูป 1 ธนบัตรราคา หนึ่งเซ็นต์ ของประเทศซิมบาบวย
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Zimbabwe_1c_2006_Obverse.gif
สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2565
รูป 2 ธนบัตรราคา หนึ่งร้อยล้านล้านดอลล่าร์ ของประเทศซิมบาบวย
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Zimbabwe_$100_trillion_2009_Obverse.jpg
สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2565
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ "ทำให้หัวเราะก่อนคิด"
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “เงินทองเป็นของมายา ” ในประชากรและการพัฒนา 30(3) กุมภาพันธ์-มีนาคม 2553: 6
สุชาดา ทวีสิทธิ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ฉัตรชัย วัฒนไชยประทีป
ปราโมทย์ ประสาทกุล
บุรเทพ โชคธนานุกูล
ณปภัช สัจนวกุล
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย