The Prachakorn

ความสุขของแม่


สุภาณี ปลื้มเจริญ

08 ตุลาคม 2563
666



“....สองมือที่ดูนิ่มนวลอ่อนโยน สองมือที่ดูช่างบอบบางอย่างนั้น สองมือที่ดังไม่มีความสำคัญ คือสองมือที่ทำให้โลกหมุนไป...” (บางส่วนจากเนื้อเพลง “คือหัตถาครองพิภพ”) แล้ววันนี้ “แม่” ผู้มี “สองมือที่ทำให้โลกหมุนไป” มีความสุขหรือไม่ 

 

ข้อมูลความสุขของแม่ในบทความนี้เป็นข้อมูลเฉพาะผู้หญิงที่ทำงาน ในองค์กรที่มีบุตรตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ที่ได้จากการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) รอบปี 2561* โดยใช้เครื่องมือ HAPPINOMETER ของศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเก็บข้อมูลด้วยการวัดผลความสุข 9 มิติ ได้แก่การมีสุขภาพกายดี (Happy Body) น้ำใจดี (Happy Heart) จิตวิญญาณดี ( Happy Soul)  ครอบครัวดี (Happy Family)  สังคมดี ( Happy Society) ใฝ่รู้ดี   (Happy Brain)  สุขภาพเงินดี (Happy Money) และการงานดี (Happy Work-life)  

สุขโดยรวม

ความสุขของแม่ในภาพรวมมีคะแนนเท่ากับ 59.3 คะแนน สูงกว่าคะแนนความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ในภาพรวมทั้งประเทศที่มีคะแนนเท่ากับ 58.6 คะแนน  ซึ่งตามเกณฑ์อยู่ในระดับ  “มีความสุข” หรือระดับความสุขเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีคะแนนความสุขสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ครอบครัวดี (Happy Family) จิตวิญญาณดี (Happy Soul) และสังคมดี (Happy Society) และต่ำสุดคือมิติใฝ่รู้ดี (Happy Brain) 

คะแนนความสุขของแม่ที่ทำงานในองค์กร

สุขสุด ๆ ถึงสุขน้อยสุด

ภูมิภาค: แม่ที่สุขที่สุด คือแม่ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   มีคะแนนความสุขอยู่ที่ 61.8 คะแนน   สุขน้อยสุดคือแม่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร  ที่มีคะแนนความสุข 56.0 คะแนน  สะท้อนให้เห็นว่า “ความเป็นเมือง”  โดยเฉพาะการเป็นเมืองหลวง  ที่เป็นศูนย์รวมความเจริญในทุก ๆ ด้านส่งผลต่อความสุข  ทำให้ความสุขของแม่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีน้อยกว่ากว่าแม่ที่อยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ 

ค่าคะแนนความสุขในภาพรวมของแม่ จำแนกตามภูมิภาค

Generation: เมื่อแบ่งตามช่วงวัย หรือ Generation คือ Gen Y (อายุไม่เกิน 36 ปี)  Generation X (อายุ 37-55 ปี)  และ Gen BB (อายุ 56 ปีขึ้นไป) แม่ที่สุขที่สุดคือแม่ Gen BB  มีคะแนนความสุข 61.1 คะแนน  โดยมีแม่ Gen Y มีความสุขน้อยสุดมีคะแนน 58.2 คะแนน  ซึ่งอาจเป็นเพราะแม่ที่อยู่ใน Gen Y อยู่ในช่วงวัยของการเริ่มต้น  ทั้งในด้านหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว   ภาวะของการอดทน ดิ้นรน และต่อสู้ ฯลฯ  ย่อมต้องมีมากกว่าช่วงวัยอื่น  ทำให้แม่ Gen Y  มีความสุขน้อยสุด ในขณะที่แม่ Gen BB ได้ผ่านเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน  ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเริ่มลดน้อยลง ความมั่นคงทั้งในชีวิตการทำงาน และครอบครัวมีมากขึ้น จึงทำให้แม่ Gen BB มีความสุขมากที่สุด 

ค่าคะแนนความสุขในภาพรวมของแม่ จำแนกตาม Generation

ขนาดองค์กร และประเภทของการจ้างงาน: แม่ที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่พิเศษ (XL) มีความสุขมากที่สุด (61.3 คะแนน) ขณะที่ แม่ที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ (L)  มีความสุขน้อยที่สุด  (58.6 คะแนน) สำหรับประเภทของการจ้างงาน แม่ที่ทำงาน “ประจำ/ตามสัญญาจ้าง”  ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงในการได้รับการจ้างงานสูงมีความสุขมากที่สุด (62.0 คะแนน) ขณะที่ แม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างรายวันที่มีความมั่นคงต่ำกว่ามีความสุขน้อยสุด (53.9 คะแนน)

ค่าคะแนนความสุขของแม่ จำแนกตามขนาดองค์กร และประเภทของการจ้างงาน

ขนาดองค์กร* ค่าคะแนนความสุขเฉลี่ย
XL 61.3
L 58.6
M 59.7
S 59.1

* XL (มากกว่า 1,000 คน) L (201-1,000 คน) M (มากกว่า 50 - 200 คน) S (ไม่เกิน 50 คน)

ประเภทของการจ้างงาน ค่าคะแนนความสุขเฉลี่ย
ประเภทประจำ/สัญญาจ้าง 62.0
รายวัน 53.9
อื่น ๆ เช่น จ้างเหมาตามเวลาหรือตามผลงาน 55.0

 

ประเภทองค์กร: การสำรวจมีแม่ที่ทำงานอยู่ในองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจน้อยกว่าแม่ที่ทำงานในภาคเอกชนแต่พบว่าแม่ที่ทำงานอยู่ในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ มีความสุขมากกว่าแม่ที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชน  แม้ว่าคะแนนจะอยู่ในเกณฑ์ของ “มีความสุข” ก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด   (65.7 และ 56.5 คะแนน)  อาจเป็นเพราะว่าการทำงานในภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจสามารถตอบสนองความสุขในมิติต่าง ๆ ของแม่ได้มากกว่าการทำงานในภาคเอกชน  ทำให้ในภาพรวมแม่ที่ทำงานอยู่ในภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจมีความสุขมากกว่า แม่ ๆ ที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชน 

ค่าคะแนนความสุขเฉลี่ย จำแนกตามประเภทองค์กร 

ประเภทองค์กร ค่าคะแนนความสุขเฉลี่ย
ภาครัฐ/รัฐวิสาหากิจ 65.7
ภาคเอกชน 56.5

 

สุขอย่างไร 

เมื่อนำคะแนนความสุขของแม่ทุกมิติมาจัดอันดับ  มิติที่มีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่งคือ  มิติครอบครัวดี (Happy Family  (67.5คะแนน) อยู่ในระดับของ “มีความสุข”  (Happy) ขณะที่มิติใฝ่รู้ดี (Happy Brain)  มีคะแนนเป็นอันดับสุดท้าย  (48.4 คะแนน)  อยู่ในระดับ “ไม่มีความสุข”  (Unhappy) โดยมีมิติสุขภาพเงินดี  (Happy Money) และน้ำใจดี (Happy Heart)  มีคะแนนเท่ากัน (56.6 คะแนน)  ซึ่งใกล้เคียงกับมิติผ่อนคลายดี (Happy Relax) 

เปรียบเทียบกับคะแนนความสุขในภาพรวมระดับประเทศแล้วพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  คือมีค่าคะแนนสูงสุดในมิติครอบครัวดี (Happy Family) และต่ำสุดในมิติใฝ่รู้ดี (Happy Brain) ความสุขของแม่ในทุกมิติมีคะแนนสูงกว่าคะแนนความสุขในภาพรวมของทั้งประเทศ   ยกเว้นมิติสุขภาพเงินดี (Happy Money) และมิติใฝ่รู้ดี (Happy Brain) เท่านั้นที่คะแนนต่ำกว่า 

ค่าคะแนนความสุขของแม่ (เรียงตามอันดับ) และค่าคะแนนความสุขภาพรวมระดับประเทศ

อันดับ มิติความสุข ค่าเฉลี่ยความสุขของแม่ ค่าคะแนนความสุขภาพรวมระดับประเทศ
1 ครอบครัวดี (Happy Family) 67.5 64.5
2 จิตวิญญาณดี (Happy Soul) 64.2 63.1
3 สังคมดี (Happy Society) 63.1 61.7
4 การงานดี Happy Work-life) 60.5 60.4
5 สุขภาพกายดี (Happy Body) 60.4 59.5
6 น้ำใจดี (Happy Heart) 56.6 55.3
7 สุขภาพเงินดี (Happy Money) 56.6 58.8
8 ผ่อนคลายดี (Happy Relax) 56.1 54.9
9 ใฝ่รู้ดี (Happy Brain) 48.4 49.5

 

Happy Brain ต่ำสุด...

ตัวเลขบอกว่าความสุขมิติใฝ่รู้ดีหรือ Happy Brain ของแม่มีคะแนนต่ำสุด  (48.4 คะแนน) และยังต่ำกว่าความ สุขมิตินี้ในภาพรวมระดับประเทศอีกด้วย (49.5 คะแนน)   เมื่อลงลึกในรายละเอียด 3 ข้อคำถามของ Happy Brain  บอกให้รู้ว่า

  • แม่มีความสนใจแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม
    อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 43.1
    ระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 34.9  
    ระดับน้อย –น้อยที่สุดร้อยละ 22.0
  • แม่มีความสนใจพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต
    อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 42.2
    ระดับมาก – มากที่สุดร้อยละ 39.6 
    ระดับน้อย – น้อยที่สุดร้อยละ 18.1
  • แม่มีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาฝึกอบรม
    อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 31.0
    ระดับมาก – มากที่สุดร้อยละ 17.7 
    ระดับน้อย – น้อยที่สุดร้อยละ 51.3

ข้อน่าสังเกตคือคำถามมิติใฝ่รู้ดีที่แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ “ความสนใจ” และ “โอกาส”  ในด้าน  “ความสนใจ”  (ความสนใจแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และความสนใจพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต) ส่วนใหญ่แล้วแม่มีความสนใจในระดับปานกลาง และมากถึงมากที่สุด หากดูเฉพาะระดับมากถึงมากที่สุดก็พบว่าแม่มีความสนใจแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ร้อยละ 34.9  และสนใจพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตร้อยละ 39.6  แต่สำหรับ คำถาม ในด้าน “โอกาส” (การมีโอกาสที่จะได้รับการอบรม/ศึกษาต่อ/ดูงาน เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเอง) กลับพบว่าแม่คิดว่าตนเองมีโอกาสน้อยถึงน้อยที่สุดที่จะได้รับโอกาส  ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 51.3  

"สนใจใฝ่รู้...แต่โอกาสมีน้อย"

 

จับตาสถานการณ์ความสุขของแม่

ผลการสำรวจความสุขของแม่ในรอบปี 2561 ในภาพรวมแม่มีความสุขมากเกินกว่าครึ่ง (59.3 คะแนน) มากกว่าความสุขในภาพรวมระดับประเทศ (58.6 คะแนน)   ซึ่งตามเกณฑ์แล้วอยู่ในระดับ “มีความสุข” มิติความสุขที่มีคะแนนสูงสุดคือครอบครัวดี (Happy Family) (67.5 คะแนน)  ส่วนความสุขในมิติอื่น ๆ มีคะแนนอยู่ในช่วงระหว่าง 56.1 – 64.2 คะแนน  ซึ่งอยู่ในระดับ “มีความสุข” เช่นเดียวกัน   ยกเว้นมิติใฝ่รู้ดี  (Happy Brain)  เท่านั้นที่มีคะแนนต่ำสุดคือ 48.4 คะแนน จึงเป็นมิติเดียวที่แม่อยู่ในระดับ “ไม่มีความสุข” โดยในมิตินี้พบว่าจริง ๆ แล้ว แม่มีความสนใจที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ  เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้า แต่คิดว่าตนเองมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการพัฒนา

ผลการสำรวจในบทความนี้เป็นการสำรวจเมื่อปี 2561  ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปรกติ  แต่ในช่วงต้น ปี 2563 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19  ที่ก่อให้เกิดผลกระทบนานัปการต่อผู้คนในสังคม  ฉะนั้นจึงควรจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์ความสุขของแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะสุขมากขึ้นหรือน้อยลง  สุขใดเพิ่มขี้น สุขใดลดลง ซึ่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กำลังจะดำเนินการสำรวจความสุขของคนทำงาน (ในองค์กร) ทั่วประเทศรอบปี 2563 ในเร็ว ๆ นี้  


หมายเหตุ:  * การสำรวจได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการผนวกข้อคำถามความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) หรือ แบบ HAPPINOMETER ไปกับการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ทำการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ.2561 สนับสนุนการดำเนินงานโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

                                      



CONTRIBUTOR

Related Posts
มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

ศีล 5

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th