ฝูงปลากะมง ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน
“Seaspiracy” หนังสารคดีที่ผู้กำกับได้เล่าถึงอันตรายต่าง ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้กระทำต่อสัตว์ทะเลทั้งหลายและยังได้เปิดโปงคอร์รัปชั่นขององค์กรในระดับสากลที่น่ากังวลอีกด้วย นี่คือคำบรรยายหนังสารคดีเรื่องนี้ที่ถูกเขียนไว้ในการแนะนำบนช่องทางสตรีมมิ่ง Netflix
หนังสารคดีเรื่องนี้เปิดตัวเล่าเรื่องขยะพลาสติคในทะเล ผลกระทบที่เกิดจากขยะเหล่านี้ รวมถึงวิธีการที่ผู้ดำเนินเรื่อง (ผู้กำกับ) เชื่อว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติคในทะเลลงได้ นั่นเป็นความรู้ทั่วไป และฉันเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงตระหนักถึงเรื่องนี้ดีในปี 2021 นี้
จากนั้นได้มีการพูดถึงสิ่งที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลและปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการล่าวาฬและการทำประมงเชิงพาณิชย์ เช่น การจับปลาทูน่าซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงการทำประมงด้วยวิธีลากอวน ขยะอวนที่อยู่ในทะเล การที่องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ หลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดเรื่องการทำประมงเชิงพาณิชย์ว่าส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างไร การที่รัฐบาลบางประเทศให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการเพื่อควบคุมค่าอาหารทะเลให้อยู่ในราคาที่ไม่แพงเกินไป และมาตรการต่าง ๆ ในระดับสากล รวมถึงการใช้แรงงานทาสในเรือประมง และอาชญากรรมต่าง ๆ ที่พ่วงมากับการทำประมงเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน การทำฟาร์มสัตว์น้ำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และปิดท้ายด้วยการเสนอทางออกว่า แม้ว่าเราจะไม่กินปลาหรืออาหารทะเลอีกต่อไป เราก็มีทางเลือกไปกินอาหารทะเลที่ทำมาจากพืชได้ (plant based seafood) นอกจากจะไม่ต้องจับสัตว์ทะเลมาเพื่อบริโภคและส่งผลให้ระบบนิเวศในทะเลเสียสมดุลแล้ว ยังสามารถหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลที่จับมาอย่างปรอทได้อีกด้วย
เมื่อฉันดูหนังสารคดีเรื่องนี้จบ ฉันมีความรู้สึกแรกว่าไม่อยากกินอาหารทะเลอีกต่อไปเลย รวมถึงเนื้อสัตว์อื่น ๆ ด้วย แต่นั่นคงทำให้ฉันต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของฉันค่อนข้างมาก ฉันจึงพยายามหาทางเลือกอื่น และตั้งคำถามขึ้นมากมายถึงประเด็นอื่น ๆ ที่หนังสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึง ในรายละเอียด คือ เรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน และการหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สภาพิทักษ์ทะเล หรือ Marine Stewardship Council: MSC ได้ให้คำนิยามการทำประมงอย่างยั่งยืนว่า หมายถึง การทำประมงในระดับที่สามารถควบคุมรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลให้มีการจับได้อย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศในทะเล รวมถึงการเคารพและสนับสนุนวิถีชีวิตของผู้ที่ต้องพึ่งพาการประมงในการดำรงชีพ1
อย่างไรก็ตามความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ โดยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เน้นการสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ มิติของสังคม มิติของเศรษฐกิจ และมิติของสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ แม้ว่าการเลิกบริโภคอาหารทะเลหรือการเลิกทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิงจะทำให้จำนวนของสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจทำให้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการประมงแย่ลง จึงอาจไม่สามารถเรียกว่าเป็นความยั่งยืนได้
นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ระบุว่าปลาและสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ และความต้องการอาหารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก เพื่อให้ประชากรทุกคนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ ในอนาคตอาจจะต้องมีการจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารมากขึ้นด้วยซ้ำ แม้ใน SDGs จะได้ระบุถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเอาไว้เป็นเป้าหมายหนึ่ง (เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน) แต่การยุติการขาดแคลนอาหารก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ SDGs (ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน) เช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารไปพร้อมๆ กัน2
อีกทั้งสหประชาชาติยังได้พยายามให้เกิดการสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็ก หรือการประมงแบบพื้นบ้านภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดย FAO Regional Office for Asia and The Pacific (2004) ได้ให้คำนิยามว่าการทำประมงขนาดเล็กคือการทำประมงที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลักในการจับสัตว์น้ำ รวมถึงการแปรรูปและการจัดจำหน่าย ซึ่ง FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF (1995) ระบุถึงความสำคัญของการทำประมงพื้นบ้านและการประมงขนาดเล็กว่านำไปสู่การจ้างงาน รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร โดยรัฐควรสนับสนุนและปกป้องสิทธิของชาวประมงและแรงงานชาวประมงอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและการคงไว้ซึ่งวิถีการดำเนินชีวิต
ตามเป้าหมายหลักด้านการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนของไทยภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เป้าหมายที่ 14 ชีวิตใต้น้ำ (Life Below Water) ในบริบทของประเทศไทย ได้ระบุเรื่องการส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็ก โดยประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริมการทำประมงชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้การทำประมงนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรชายฝั่ง และยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงตลาดให้กับชาวประมงรายย่อย ทำให้ยังเกิดปัญหาความยากจนในชุมชนชาวประมงชายฝั่ง
Seaspiracy ได้มีการพูดถึงการทำประมงอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดมากนัก และได้นำเสนอการประมงในรูปแบบของการทำฟาร์มสัตว์น้ำแทนก่อนที่จะเสนอให้ผู้ชมเลิกการบริโภคปลาและสัตว์ทะเล ฉันคิดว่าการทำประมงแบบพื้นบ้าน ที่ชาวประมงออกเรือเล็กและจับสัตว์ทะเลด้วยวิธีที่อนุญาตให้สัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ ได้เติบโต มีเวลาให้ทรัพยากรได้ฟื้นฟูขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้ทันอาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ และเราอาจจะไม่ต้องเลิกบริโภคปลาและสัตว์ทะเลอย่างสิ้นเชิง แต่สามารถเปลี่ยนแหล่งผลิตของปลาเพื่อการบริโภคได้
เรือประมงขนาดเล็กริมชายฝั่งหน้าหมู่บ้านของชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ ภาพโดยผู้เขียน
ในการเพาะปลูกพืชต้องใช้น้ำในปริมาณมาก รายงานจากเว็บไซต์ ourworlddata.org ระบุว่าร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดบนโลกนี้ถูกนำไปใช้ในการเกษตร3 ทำให้ในบางพื้นที่ถึงกับขาดแคลนน้ำใช้ เช่น ในพื้นที่ที่มีการปลูกอะโวคาโด้ในประเทศชิลี4,5 และยังมีพืชอีกหลายชนิด เช่น เห็ดบางชนิด โปรตีนทางเลือกที่เกิดจากการหมักเชื้อรา (Mycoprotein) โกโก้ และถั่วบางชนิด ที่ใช้น้ำปริมาณมากในการเพาะปลูกและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากในขั้นตอนการเพาะปลูกและการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ6
นอกจากการเพาะปลูกพืชจะต้องใช้น้ำในปริมาณมากแล้ว ยังมีการใช้สารเคมีอีกด้วย BBC ได้ระบุว่าปุ๋ยเคมีก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดบนโลก7 ซึ่งรายงานจาก ourworlddata.org ยังระบุว่าร้อยละ 78 ของมลภาวะในน้ำจืดและน้ำทะเลทั่วโลกเกิดจากสารเคมีตกค้างในการทำเกษตรกรรม8
รายงานฉบับเดียวกันได้เปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในการผลิตอาหารแต่ละประเภท พบว่าในอาหารที่ให้ปริมาณโปรตีน 100 กรัมเท่ากัน ดาร์กช็อกโกแลต กาแฟ และมะเขือเทศ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตมากกว่ากุ้งและปลาจากฟาร์มเสียอีก ดังนั้นแล้ว การบริโภคอาหารที่มาจากพืชผักอย่างเดียวจึงไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไปแต่ขึ้นอยู่กับประเภทของพืชที่บริโภค โดยธัญพืชต่าง ๆ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อยมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานพืชผักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อย และหลีกเลี่ยงพืชผักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้ แต่สำหรับบางคน การเลิกดื่มกาแฟคงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่ใช่น้อย
ในฐานะผู้บริโภค ฉันคิดว่าการเลิกรับประทานอาหารทะเลไปเลยโดยสิ้นเชิงคงไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการหันมาสนับสนุนชาวประมงรายย่อย รวมถึงเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายย่อยเหล่านี้ได้ในตลาดของชุมชนที่เราอยู่ นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพแล้ว ยังได้ส่งเสริมการมีงานทำและวิถีชีวิตชุมชนด้วย
การบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นตามฤดูกาลก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้โดยรวม เช่น ผักและผลไม้ที่เพาะปลูกและจำหน่ายในท้องถิ่นตามฤดูกาลนั้นก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการเพาะปลูกและการขนส่งน้อยกว่าผักและผลไม้ที่เพาะปลูกนอกฤดูกาลหรือมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
การบริโภคอย่างพอเพียงและพยายามทำให้เกิดขยะจากอาหารให้น้อยที่สุดก็สามารถลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน เนื่องจากการย่อยสลายของขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน เราสามารถลดการเกิดขยะอาหารได้โดยการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบทุกส่วน การถนอมอาหารเพื่อยืดอายุอาหารให้สามารถนำมารับประทานได้นาน หรือการนำเศษขยะอาหารเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เช่น การหมักปุ๋ย
ตลาดปลาเล็กๆ ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน
ฉันคิดว่าเป็นหนังสารคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง และอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านลองรับชมดู ฉันคิดว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ทำได้ดีในการกระตุกให้ผู้ชมเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเปิดประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่ทำให้เกิดการสนทนา การอภิปรายโต้แย้ง และการสืบหาข้อมูลในเชิงลึกต่อไปในสังคมอีกด้วย
สิ่งที่ฉันต้องการจะย้ำก่อนจบบทความนี้คือ หนังสารคดีเรื่องนี้ได้ส่งสารสำคัญกับผู้ชมคือ การทำประมงเชิงพาณิชย์ การจับสัตว์น้ำมากเกินไป (over fishing) และขยะพลาสติกในทะเลส่งผลอย่างรุนแรงต่อการเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) รุนแรงขึ้น หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน อาจเกิดอันตรายขึ้นในอนาคตต่อโลกและมนุษย์เอง
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจจะรับประทานปลา สัตว์ทะเล รวมถึงเนื้อสัตว์อื่น ๆ ต่อไปหรือไม่ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะแต่ละคนมีบริบทของการดำรงชีวิตที่ต่างกัน ดังนั้นเราจึงควรยอมรับและเคารพการตัดสินใจของกันและกันโดยไม่ตัดสินทางเลือกของใครว่าถูกหรือผิด เท่านี้เราก็จะพบกับความยั่งยืนในความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
เรือประมงขนาดกลาง ภาพถ่าย โดย ผู้เขียน
อ้างอิง
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
กัญญา อภิพรชัยสกุล
ฉัตรชัย วัฒนไชยประทีป
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
รีนา ต๊ะดี
อมรา สุนทรธาดา
ปรกชล อู๋ทรัพย์
วรเทพ พูลสวัสดิ์
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
วรชัย ทองไทย
สรัญญา สุจริตพงศ์
ปาริฉัตร นาครักษา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
ปรียา พลอยระย้า
ปาริฉัตร นาครักษา,สิรินทร์ยา พูลเกิด
วรชัย ทองไทย