The Prachakorn

แมลงสาบ


วรชัย ทองไทย

09 มีนาคม 2565
4,111



แมลงสาบเป็นสัตว์โบราณที่มีมาในโลกกว่า 350 ล้านปีแล้ว โดยอาศัยอยู่ทั่วโลกในทุกสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ที่ที่มีอุณภูมิต่ำจนถึงที่ที่มีอุณหภูมิสูง ในพื้นที่แห้งแล้งหรืออยู่ใกล้น้ำ ในป่า ในที่รกร้าง หรือในเมือง แมลงสาบมีมากกว่า 4,500 ชนิด แต่มีไม่ถึงร้อยละ 1 (ราว 30 ชนิด) ที่เป็นสัตว์รบกวนมนุษย์ (pest) มีเพียง 2-3 ชนิดที่เป็นสัตว์เลี้ยง (pet) และอีกราว 2-3 ชนิดที่ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสัตว์    

แมลงสาบส่วนใหญ่มีขนาดเท่าเล็บหัวแม่มือ มีโทนสีน้ำตาล ตั้งแต่น้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ การเจริญเติบโตแบ่งออกเป็น 3 ขั้นคือ ไข่ (egg) ตัวอ่อน (nymph) และตัวเต็มวัย (adult) โดยไข่แมลงสาบจะอยู่ในถุงไข่ (egg sac) และแต่ละถุงมีประมาณ 20-40 ฟอง ไข่แมลงสาบใช้เวลา 1-3 เดือน ก็จะฟักเป็นตัวอ่อนที่มีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย เพียงแต่ตัวเล็กและไม่มีปีก ตัวอ่อนจะใช้เวลาอีก 1-6 เดือน จึงจะโตเต็มที่ด้วยการลอกคราบ แมลงสาบจะมีชีวิตราว 1-2 ปี

แมลงสาบเป็นสัตว์อดทนและตายยาก สามารถอยู่ได้โดยไม่มีอาหารและน้ำ และอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 อาทิตย์ หลังจากถูกตัดหัวไปแล้ว แมลงสาบขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แมลงสาบตัวเมียบางชนิดยังสามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (parthenogenesis)

แมลงสาบมีประโยชน์หลายอย่าง โดยนอกจากจะเป็นอาหารหลักของนกและสัตว์บางชนิด ซึ่งถ้าไม่มีแมลงสาบแล้ว สัตว์เหล่านี้ก็จะตายไป แมลงสาบยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาอีกด้วย โดยเป็นส่วนสำคัญของวัฏจักรพืชและวัฏจักรไนโตรเจน

ในส่วนของวัฎจักรพืช แมลงสาบช่วยผสมเกสรของดอกไม้เช่นเดียวกับผึ้งและผีเสื้อ ด้วยการคลานผ่านดอกไม้ในระหว่างการหาอาหาร

ในส่วนของวัฏจักรไนโตรเจน เพราะแมลงสาบกินทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยจะกินและถ่ายไปตลอดทาง จึงช่วยกำจัดซากพืชที่ทับถมอยู่ในป่า อีกทั้งมูลแมลงสาบมีไนโตรเจนสูง จึงเป็นการเพิ่มปริมาณไนโตรเจนในดินพร้อมกันไปด้วย อันจะทำให้ป่าไม้ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้    

เหตุที่แมลงสาบสามารถอาศัยอยู่ได้ในที่สกปรกและมีเชื้อโรคที่สัตว์อื่นๆ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ น่าจะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันธรรมชาติในตัวของแมลงสาบเอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจที่จะเรียนรู้การสร้างภูมิคุ้มกันนี้ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย MRSA (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) อันเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ    

เนื่องจากแมลงสาบมีขนาดใหญ่กว่าแมลงอื่นๆ ประกอบกับมีความอดทนและเลี้ยงง่าย จึงมักถูกใช้เป็นหนูตะเภา (สัตว์ทดลอง) ในการศึกษาแบบจําลองของแมลงในด้านต่างๆ เช่น ประสาทชีววิทยา (neurobiology) สรีรวิทยาเจริญพันธุ์ (reproductive physiology) พฤติกรรมทางสังคม  รวมทั้งการศึกษาทางพฤติกรรมด้วย ได้แก่ การเรียนรู้ การก้าวร้าว การมองภาพกลับหัว (spatial orientation) กิจกรรมจังหวะและนาฬิกาชีวิต (activity rhythms and the biological clock) นิเวศวิทยาพฤติกรรม (behavioral ecology) ฟีโรโมนทางเพศ (sexual pheromone) (ฟีโรโมนเป็นสารเคมีที่เมื่อหลั่งออกมาแล้ว จะกระตุ้นการตอบสนองทางสังคมในสปีชีส์เดียวกัน)

สำหรับคำร่ำลือว่า หลังจากที่มนุษย์ได้ฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ตนเองด้วยสงครามนิวเคลียร์แล้ว แมลงสาบจะครองโลก คือเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่ถูกล้างเผ่าพันธุ์นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าแมลงสาบจะมีความต้านทานต่อรังสีสูงกว่าสัตว์อื่น (รวมทั้งมนุษย์) ราว 6 ถึง 15 เท่าก็ตาม แต่แมลงสาบก็ไม่ได้มีความต้านทานต่อรังสีเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับแมลงอื่นๆ เช่น แมลงวันผลไม้    

เหตุที่เชื่อว่า แมลงสาบมีความสามารถที่จะทนต่อรังสีได้นั้น เป็นเพราะวงจรของเซลล์จะเปราะบางต่อรังสีที่สุดในช่วงที่กําลังแบ่งตัว โดยที่เซลล์มนุษย์และสัตว์ทั่วไปจะแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เซลล์แมลงสาบจะแบ่งเพียงครั้งเดียวในขณะที่ลอกคราบ (ยาวราวหนึ่งสัปดาห์) และแมลงสาบทั้งหมดจะไม่ลอกคราบในเวลาเดียวกัน ทำให้มีแมลงสาบอีกมากที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแผ่รังสีอย่างเฉียบพลัน แต่อย่างไรก็ตาม แมลงสาบก็ยังจะตายได้จากรังสีที่ตกค้างอยู่

ส่วนที่กล่าวว่า คนไทยกินแมลงสาบนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะผู้กล่าวสับสนระหว่างแมลงสาบ  (cockroach หรือ roach) กับแมลงดานา (giant water bug) ที่เมื่อดูเผินๆ ก็จะคล้ายกัน เว้นแต่แมลงสาบตัวเล็กกว่าแมลงดานา (ดูรูป 1) แต่ถ้าดูอย่างละเอียดจะพบข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ แมลงสาบมีหนวดหนึ่งคู่ มีขา 6 ข้างไว้ใช้เดิน ส่วนแมลงดานาไม่มีหนวด มีขา 6 ข้างเช่นกัน (อันจัดเป็นแมลง ไม่ใช่แมง คำเรียกถูกต้องคือ "แมลงดานา" ไม่ใช่ "แมงดานา") แต่ขาคู่หน้ามีไว้ใช้จับเหยื่อ เพื่อใช้ปากที่เป็นแบบเจาะดูด ดูดกินน้ำเลี้ยงภายในตัวเหยื่อ ส่วนขาคู่กลางและหลังใช้ว่ายน้ำ

รูป 1 เปรียบเทียบแมลงสาบด้านซ้ายกับแมลงดานาด้านขวา
ที่มา: https://www.westernexterminator.com/cockroaches/cockroach-vs-water-bug/
สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2564

แมลงดานาอาศัยอยู่ตามหนองน้ำ โดยกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ลูกอ็อด ลูกน้ำ ลูกปลา ลูกกบ รวมทั้งแมลงและสัตว์ขาปล้อง เช่น แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ ตั็กแตน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น แมลงดานามีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยา ในการควบคุมจำนวนแมลง (โดยเฉพาะยุง) ให้เหมาะสม แมลงดานาตัวผู้จะผลิตสารฟีโรโมนที่มีกลิ่นฉุน เพื่อดึงดูดตัวเมียให้เข้ามาผสมพันธุ์ ด้วยกลิ่นนี้เองที่ทำให้แมลงดานาถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหาร แมลงดานาจึงเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์รบกวน

แต่เมื่อกล่าวถึงแมลงสาบแล้ว เรามักจะนึกถึงแมลงสาบส่วนน้อยที่อาศัยอยู่กับมนุษย์ โดยแมลงสาบกลุ่มนี้เป็นสัตว์รบกวนที่ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษอย่างเดียวคือ เป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ โดยแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายสู่พื้นผิวที่เดินผ่าน เช่น โรคเรื้อน กาฬโรค ตับอักเสบ รวมทั้งโรคภูมิแพ้และหืดหอบในเด็ก

ในประเทศไทย แมลงสาบรบกวนที่มักพบตามบ้านคือ แมลงสาบตัวเล็ก (แมลงสาบเยอรมัน) และแมลงสาบตัวใหญ่ (แมลงสาบอเมริกัน) (ดูรูป 2) โดยที่แมลงสาบตัวเล็กมีสีน้ำตาล ลำตัวยาวประมาณ 1-2 ซม. อาศัยอยู่ในตัวบ้าน และจะบุกรุกเข้าไปในครัวและห้องน้ำ ส่วนแมลงสาบตัวใหญ่มีสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวยาวประมาณ 2-6 ซม. บินได้แต่มักจะคลาน อาศัยอยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น พื้นที่เก็บของ ห้องใต้ดิน ใต้ถุนบ้าน พุ่มไม้ ท่อน้ำทิ้ง

รูป 2 เปรียบเทียบแมลงสาบตัวเล็ก (ด้านช้าย) กับแมลงสาบตัวใหญ่ (ด้านขวา)
ที่มา: https://cockroachfacts.com/types-of-roaches-with-pictures/ สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2565

แมลงสาบถูกดึงดูดให้เข้ามาอยู่ในบ้านด้วยอาหาร น้ำ ความอบอุ่น และที่พัก โดยที่บ้านใดมีเศษอาหารตกหล่น วางภาชนะใส่อาหารที่ยังไม่ล้างทิ้งไว้ในอ่างล้างจาน วางอาหารไว้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ไม่เก็บข้าวของสัมภาระทั้งในบ้านและนอกบ้านให้เรียบร้อย จนทำให้มีมุมอับ ในบ้านที่รกรุงรังเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ที่แมลงสาบชอบที่จะเข้ามาอยู่อาศัยและแพร่ขยายพันธุ์

ดังนั้น วิธีป้องกันแมลงสาบที่ดีที่สุดคือ การดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีเศษอาหาร ขยะ หรือสิ่งหมักหมมอยู่ รวมทั้งดูแลห้องเก็บของให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ

ในปีล่าสุด (2564) รางวัลอีกโนเบล สาขากีฏวิทยาได้มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา 4 คน (John Mulrennan, Jr., Roger Grothaus, Charles Hammond และ Jay Lamdin) สำหรับรายงานวิจัยเรื่อง วิธีการใหม่ของการควบคุมแมลงสาบในเรือดําน้ำ

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


หมายเหตุ: ขยายความจาก “แมลงสาบ” ในประชากรและการพัฒนา 42(3) กุมภาพันธ์-มีนาคม 2565: 8



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th