The Prachakorn

Kidfluencer | EP. 1


รีนา ต๊ะดี

31 ธันวาคม 2563
359



อินฟลูเอนเซอร์เด็กบนโลกออนไลน์กับรายได้มหาศาล และความเปราะบางที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ

ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนไม่มากที่ไม่รู้จักหรือไม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย (social media) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, หรือ Instagram นอกจากแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเป็นช่องทางติดตามข่าวสารหรือสื่อสารกันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านยังใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ในการโพสต์เรื่องราว รูปภาพ หรือวีดิโอของลูกหลานอีกด้วย และหลาย ๆ คนก็คงจะเพลิดเพลินกับการดูรูปภาพ หรือวีดีโอน่ารัก ๆ ของเด็ก ๆ เช่นกัน การแชร์รูปภาพและวีดิโอของเด็ก ๆ ดูจะเป็นเรื่องปกติทั่วไป จนเกิดคำศัพท์ใหม่ว่า “Sharenting” ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่างคำว่า “share” ที่แปลว่า แบ่งปัน กับคำว่า “parenting” ที่แปลว่าการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ โดยคำว่า “Sharenting” นี้มีความหมายว่า การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ที่มีการโพสต์หรือแบ่งปันรูปภาพหรือวีดิโอลูกลงบนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา 

ภาพถ่ายโดย ผู้เขียน

เมื่อรูปภาพและวีดิโอของเด็ก ๆ ในอากัปกิริยาต่าง ๆ มีความน่ารัก ก็ดึงดูดให้มีผู้ชมและผู้ติดตามจำนวนมาก ผู้ประกอบการหลายรายเล็งเห็นช่องทางในการทำโฆษณากับเด็ก ๆ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เกิด “Kidfluencer” หรืออินฟลูเอนเซอร์เด็กขึ้นมา การมียอดติดตามจำนวนมาก อาจนำมาซึ่งรายได้มหาศาลมาให้กับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากยอดดูวีดิโอ จากโฆษณาบนวีดิโอ หรือจากสปอนเซอร์ที่จ้างให้ช่วยโปรโมทสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียให้ ซึ่งหากมีกลยุทธ์ที่ดี การหารายได้จากช่องทางนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย Kidfluencer ที่มียอดติดตามจำนวนมากในปัจจุบันมีหลายคน เช่น Ryan Kaji เด็กชายวัย 10 ขวบที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการรีวิวของเล่นบนช่อง YouTube ชื่อ Ryan’s World มีผู้ติดตามกว่า 27 ล้านคน และ Forbes คาดว่า Ryan มีรายได้จาก YouTube มากถึง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019  และมีรายได้สุทธิ (net worth) มากถึงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Berg, 2019)

แต่ใครกันที่จะมีสิทธิในรายได้ที่ได้มา การใช้เด็กเป็นแบบหรือเป็นส่วนประกอบในวีดีโอเหล่านี้ถือว่าเป็นการทำงานหรือใช้แรงงานเด็กหรือไม่ แรงงานที่ใช้ในการผลิตรูปภาพและวีดิโอเหล่านี้ถือว่ามาจากเด็กที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า หรือเป็นแรงงานของพ่อแม่ผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำและการจัดการช่อง social media กันแน่ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน

ภาพถ่ายโดย ผู้เขียน

เมื่อปลายปี 2017 สามี-ภรรยาคู่หนึ่งในอเมริกาได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากได้โพสต์วีดิโอที่พวกเขาตะคอกลูก ๆ และเปิดเผยกับลูกทีหลังว่า เป็นการหยอกเล่น พวกเขามักบันทึกวีดิโอที่กระทำความรุนแรงทางคำพูดและทางร่างกายกับลูก ๆ และโพสต์ลงในช่อง YouTube ของพวกเขา หลังจากถูกผู้ติดตามหลายคนกดรีพอร์ตวีดิโอเนื่องจากมีเนื้อหาที่มีความรุนแรง พวกเขาก็ลบวีดิโอนั้นออก และออกมากล่าวคำขอโทษต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปตรวจสอบและได้ลงโทษควบคุมความประพฤติสามี-ภรรยาคู่นี้เป็นเวลา 5 ปี โทษฐานทารุณกรรมและละเลยทอดทิ้งเด็ก นอกจากนี้เขายังสูญเสียสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกติด 2 คนของสามีให้กับแม่ที่เป็นผู้กำเนิดของเด็ก ๆ อีกด้วย (ครอบครัวนี้มีลูกทั้งหมด 5 คน โดย 2 คนเป็นลูกติดจากฝ่ายสามี) มีการประมาณการจากยอดติดตามบน YouTube ว่า สามี-ภรรยาคู่นี้น่าจะมีรายได้จากการโฆษณาใน YouTube มากถึงปีละ 200,000 – 350,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว (Leaver, 2017)

ไม่ได้มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากรูปภาพหรือวีดิโอที่มีเด็ก ๆ เป็นส่วนประกอบของคอนเทนต์ แต่เจ้าของแพลตฟอร์มเองก็ได้รับรายได้มหาศาลด้วยเช่นกัน แพลตฟอร์มเหล่านี้มักจะพยายามดึงดูดและขยายปริมาณผู้ใช้เพื่อจะได้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการในการลงโฆษณากับแพลตฟอร์มด้วยเช่นเดียวกัน


อ้างอิง

  • Berg, M. (2019, December 18). The Highest-Paid YouTube Stars of 2019: The Kids Are Killing It. Forbes. https://www.forbes.com/sites/maddieberg/2019/12/18/the-highest-paid-youtube-stars-of-2019-the-kids-are-killing-it/?sh=22e4744138cd
  • Leaver, T., & Abidin, C. (2017, May 2). When exploiting kids for cash goes wrong on YouTube: the lessons of DaddyOFive. The Conversation. https://theconversation.com/when-exploiting-kids-for-cash-goes-wrong-on-youtube-the-lessons-of-daddyofive-76932#:%7E:text=With%20over%20760%2C000%20subscribers%2C%20it,year%20from%20YouTube%20advertising%20revenue.


CONTRIBUTOR

Related Posts
Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

ขั้นตอนวิธี (algorithm)

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th