ประเทศเกาหลีใต้มีแผนปฏิบัติการฉบับที่ 4 เพื่อสนับสนุนครอบครัวสุขภาพดีขั้นพื้นฐาน (4th Plan of Action for the Basis of a Healthy Family) โดยใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมนโยบายครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า กฎหมายคูฮารา (Goo Hara Act) ได้ถูกนำมาพิจารณาในแผนงานดังกล่าว โดยเป็นข้อกฎหมายด้านสวัสดิการสาธารณะที่ได้รับคำร้องจากพลเมืองเกาหลีใต้กว่าแสนคนว่าด้วยการตัดสิทธิผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมในการสืบทอดมรดกของบุตร กฎหมายนี้ถูกรับรองในระหว่างการประชุมสมัชชาแห่งชาติที่จัดขึ้น ในวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา "กฎหมายคูฮารา" ระบุว่าบุคคลที่บกพร่องในการทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร เช่น ทอดทิ้ง ละเลยบุตร หรือไม่มีความรับผิดชอบในการเป็นผู้ปกครองของบุตร หรือการก่ออาชญากรรม เช่น การไม่ดูแลบุตร หรือ ทารุณกรรมบุตร จะถูกตัดสิทธิจากการสืบมรดกของบุตรหากมีการพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นเป็นความจริง (Joan, 2021)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ต้นสังกัดของคูฮารา นักร้องนักแสดงได้ยืนยันว่าคูฮาราถูกพบเสียชีวิตในบ้านพัก (PPTVOnline, 2562) ซึ่งในแวดวงไอดอลเกาหลีและแฟนคลับไอดอลเกาหลีจะทราบกันดีว่าคูฮาราเป็นสมาชิกวง KARA หนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปของวงการ K-pop Generation 2 ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ทั้งในประเทศเกาหลีใต้เองและประเทศในแถบเอเชีย การสูญเสียครั้งนั้นจึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงในสังคม หลังการจากไปของคูฮาราทำให้ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายจากภาวะความเครียดและโรคซึมเศร้าถูกพูดถึงมากขึ้น โดยประเด็นนี้เป็นเหมือนปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานานเพราะสังคมเกาหลีใต้ยังไม่ค่อยยอมรับคนที่มีปัญหาทางจิตเวชมากนัก ทำให้การออกมาแสดงตนว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียดรุนแรงไม่ค่อยปรากฎให้เห็นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการบันเทิงที่เป็นพื้นที่สว่าง เป็นพื้นที่ที่คนให้ความสนใจ ศิลปิน ไอดอลเกือบทั้งหมดจึงเลือกที่จะเข้ารับการรักษาแบบส่วนตัว นอกจากนี้หลังจากการสูญเสียคูฮาราก็ยังมีไอดอลนักแสดงอีกหลายคนที่จบชีวิตตนเองจากภาวะซึมเศร้าและความเครียด อีกทั้งอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรวัยรุ่น ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางเพื่อลดการฆ่าตัวตายเป็นวาระแห่งชาติ (So, 2020)
ที่มา IG: koohara__
ท่ามกลางความตกใจและความเสียใจของเพื่อนพี่น้องในวงการและแฟนคลับ กลับมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อแม่ของคูฮาราได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องมรดกและทรัพย์สินกว่าครึ่งหนึ่งของคูฮาราให้เป็นทรัพย์สินของตนเองหลังการจากไปของลูกสาว โดยอ้างว่าคูฮาราเป็นบุตรสืบทอดทางสายเลือดโดยตรง แม้ว่าตนเองจะไม่เคยอยู่ดูแลหรือจ่ายค่าเลี้ยงดูคูฮาราเป็นเวลามากกว่าสิบปีหลังจากหย่าร้างกับสามี ต่อมาพี่ชายของคูฮาราได้ทำการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาการแบ่งทรัพย์สินอีกครั้ง ซึ่งศาลมีคำตัดสินให้ทำการแบ่งทรัพย์สินในอัตรา 6 ต่อ 4 ที่ปกติจะแบ่งในอัตรา 5 ต่อ 5 หากพี่ชายไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว เนื่องจากภายใต้กฎหมายครอบครัวฉบับปัจจุบันของเกาหลีใต้ ระบุไว้ว่าหากมีคนเสียชีวิตโดยไม่มีคู่สมรสหรือบุตร บิดามารดาของพวกเขาสามารถรับมรดกได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เลี้ยงดูบุตรผู้เสียชีวิตด้วยตนเอง ยกเว้นในกรณีรุนแรง เช่น การฆาตกรรมหรือปลอมแปลงพินัยกรรม จึงหมายความว่าผู้ปกครองที่ทอดทิ้งบุตรสามารถกลับมาและเรียกร้องมรดกหรือทรัพย์สินของบุตรได้หลังจากการตายของบุตร แม้แต่ในกรณีของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เป็นเรื่องปกติที่ศาลจะแบ่งทรัพย์สินของบุตรที่เสียชีวิตให้ผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม (J.K, 2020)
คำตัดสินของศาลสร้างความไม่พอใจกับสังคมต่อการกระทำของแม่ของคูฮาราอย่างมากและคิดว่าแม่ของคูฮาราไม่สมควรที่จะได้รับทรัพย์สินเท่ากับจำนวนที่ศาลตัดสิน ตลอดเวลาหลายเดือนระหว่างการพิจารณาคำร้อง พี่ชายของคูฮาราได้พยายามผลักดันกฎหมายคูฮารา เพื่อปกป้องสิทธิและมรดกให้เด็กที่ถูกผู้ปกครองทอดทิ้งละเลย แต่คำร้องนั้นก็ไม่ได้ถูกพิจารณาในครั้งแรกจนกระทั่งมีประชาชนลงชื่อกว่าแสนคน ภายใน 17 วัน (Chan, 2021) ข้อกฎหมายจึงถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งและได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 (Joan, 2021; Snowblack, 2563) ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
แม้ว่ากฎหมายคูฮาราจะได้รับการพิจารณารับรองแล้ว แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีของครอบครัวของคูฮาราได้ เนื่องจากการพิจารณาตัดสินคดีคำร้องได้จบไปก่อนที่จะมีการรับรองกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตามพี่ชายของคูฮารามีความตั้งใจให้กฎหมายนี้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายแก่น้องสาวของเขาและจะนำมรดกที่ได้มาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว บุตรที่มีความยากลำบาก และอีกหลายครอบครัวที่ต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นเดียวกับกรณีครอบครัวของพวกเขา ให้ได้รับผลประโยชน์อย่างยุติธรรม (Chan, 2021)
อ้างอิง
ชิษณุพงษ์ สรรพา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
อมรา สุนทรธาดา
อารี จำปากลาย
วรชัย ทองไทย
นิธิพัฒน์ ประสาทกุล
ภัสสร มิ่งไธสง
ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
ดวงวิไล ไทยแท้
อมรา สุนทรธาดา
บุรเทพ โชคธนานุกูล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย
ศุทธิดา ชวนวัน
กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน
สุพัตรา สำอางค์ศรี