The Prachakorn

เมื่อก่อนยังอยู่ด้วยกันได้ ตอนนี้ก็น่าจะอยู่ด้วยกันได้ : ผู้ย้ายถิ่นต่างชาติ


กาญจนา ตั้งชลทิพย์

13 กรกฎาคม 2564
372



บทความสั้นๆ นี้ เป็นการต่อยอดความคิดเรื่องการทดแทนประชากรของไทยโดยประชากรและแรงงานต่างชาติ (Replacement migration) ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ท่านเคยนำเสนอไว้ในหลายๆ โอกาสและหลายๆ วาระ ทั้งบนเวทีสัมมนา บทความ และการพูดคุย แต่ใช้คำว่า ต่อยอดความคิด จะถูกต้องไหมนะ เพราะบทความนี้จะพาทุกท่านย้อนไปในอดีต โดยจะนำเสนอถึงเหตุการณ์ในอดีตที่สะท้อนให้เห็นว่า มีปรากฏการณ์การนำเข้าประชากรต่างชาติต่างภาษาจากต่างเมืองเข้ามาเป็นประชากรไทยมานานร้อยๆ ปีแล้ว เป็นการสนับสนุนแนวคิดของอาจารย์อภิชาติจากข้อมูลประวัติศาสตร์ 

แนวคิดการนำเข้าประชากรต่างชาติมาเป็นประชากรของประเทศ เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยมานานแล้ว ในอดีต เหตุผลของการสงครามของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เพียงการสู้รบเพื่อต้องการดินแดนเพิ่มหรือเพื่อเป็นการป้องกันตนเองเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่ นั่นคือ ความต้องการเพิ่มจำนวนประชากร ด้วยการกวาดต้อนผู้คนทั้งที่เป็นทหารฝ่ายตรงข้ามและชาวบ้านตามเมืองต่างๆ ที่กองทัพเคลื่อนผ่าน หรือที่เราเรียกว่า เชลย กลับมายังแผ่นดินไทย อีกทั้งยังมีการเกณฑ์คนต่างชาติที่อาศัยในพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ในขณะนั้นเป็นดินแดนของไทยเข้ามาเช่นกัน (เช่น คนลาวที่อยู่ในเมืองบริเวณฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำโขง คนเขมรที่อยู่ในเมืองชายแดนติดกัมพูชา) ซึ่งเหตุผลสำคัญของการกวาดต้อนคนก็คือ เพื่อมาเป็นพลเมืองของประเทศ โดยส่วนหนึ่งเป็นการทดแทนคนไทยที่สูญเสียไปในการสงคราม ทั้งจากการเสียชีวิตและจากการถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นแรงงาน โดยเฉพาะชายฉกรรจ์ ที่เป็นกำลังสำคัญทางทหารและเศรษฐกิจ 

ทำไมทั้งสังคมอยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์จึงต้องการแรงงาน ในสมัยอยุธยา ภาครัฐต้องการแรงงานในงานโยธาต่างๆ เช่น ขุดคลอง สร้างวัด สร้างวัง รวมถึงเป็นแรงงานให้เจ้าขุนมูลนายในการทำไร่ทำนา ในสมัยกรุงธนบุรี สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นระยะของการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่เสียหายเกินที่จะบูรณะ จึงต้องการแรงงานเพื่อสร้างบ้านเมืองใหม่1  ทั้งพระราชวัง วัดวาอาราม วังเจ้านาย บ้านเรือนของขุนนาง เพราะไทยหรือสยามในเวลานั้นได้สูญเสียประชากรไปจำนวนมากจากการสู้รบและการถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังประเทศพม่า ทำให้ขาดแรงงาน

สังคมไทย ณ ช่วงเวลานั้นยังเป็นระบบไพร่ ชายฉกรรจ์ต้องเข้าเดือนเพื่อเป็นไพร่หลวง ไพร่สม โดยไพร่เหล่านี้จะเป็นแรงงานให้รัฐ และมูลนายที่สังกัด นอกจากนี้ ยังมีไพร่ส่วยที่ไม่ต้องมาเป็นแรงงาน แต่ส่งส่วยเป็นเงินหรือผลิตผลที่มีค่าซึ่งในสมัยนั้นมักเป็นของป่า เช่น ไม้ฝาง ไม้กฤษณา งาช้าง หนังสัตว์ และเครื่องเทศต่างๆ แทนการเข้าเดือน ส่วยเหล่านี้เป็นสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ

นอกจากการเกณฑ์คนจากสงครามที่เป็นการบังคับมา ยังมีผู้ที่เข้ามาเป็นประชากรของไทยอย่างสมัครใจ โดยมักเป็นผู้ที่หนีภัยทางการเมืองมา เช่น ราชวงศ์ของญวน (หนีกบฏไตเซินเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์) ราชวงศ์ลาวและขุนนางลาว ที่หนีภัยการเมืองจากความขัดแย้งภายในประเทศ (ระหว่างนครเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และนครจำปาศักดิ์) รวมถึงราชวงศ์และขุนนางเขมร ดังเช่น

“ท้าวไชยอุปฮาดไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาพระบรมราชา อุปฮาดจึงพาสมัครพรรคพวกประมาณ 2,000 เศษ อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงเทพมหานคร” 2 

หรือชาวมอญที่มีความขัดแย้งกับพม่าก็หนีภัยจากเมาะตะมะเข้ามายังแผ่นดินไทย

“...เป็นจำนวนคน 40,000 เศษ โปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง แขวงเขื่อนขันธ์บ้าง” 3

อีกทั้งยังมีผู้เข้ามาเพราะหนีภัยจากการเข้ารีตกับคริสตจักรซึ่งขัดกับนโยบายของผู้ปกครองในสมัยนั้นที่ประกาศห้ามคนในประเทศนับถือศาสนาคริสต์ เช่น ชาวญวนที่นับถือคริสต์นิกายคาทอลิก  

ประชากรต่างชาติที่เข้ามานี้ ได้มีการจัดสรรที่อยู่ให้โดยเฉพาะ มีทั้งอยู่ในเขตพระนคร เมืองใกล้เคียง และตามหัวเมืองต่างๆ โดยพิจารณาจากความมั่นคง และเศรษฐกิจ ประชากรเหล่านี้สามารถดำรงวิถีชีวิต สืบสานความเชื่อ และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญที่ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ คนญวนที่อยู่ในเขตพระนคร บริเวณสามเสน บางโพ และที่จันทบุรี หรือชาวลาวที่แยกย้ายอยู่ในพนัสนิคม นครนายก สระบุรี4  ซึ่งในปัจจุบัน เรายังเห็นผู้สืบเชื้อสายของประชากรเหล่านี้ยังคงปฏิบัติตามประเพณีตามความเชื่อของตนอยู่ (เช่น ประเพณีสงกรานต์และการเล่นสะบ้าของชาวมอญพระประแดง) 

ในอดีต มีผู้ย้ายถิ่นที่มีฝีมือ (Skilled migrants) เข้ามาอยู่ในประเทศเช่นกัน จากการเข้ามาของคนในราชสำนักและขุนนางของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมักนำผู้มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมติดตามเข้ามาด้วย ทำให้มีการถ่ายทอดมาศิลปวัฒนธรรมสู่กัน เราจึงเห็น ศิลปการร่ายรำของไทยกับเขมรที่มีความคล้ายคลึงกัน 

ส่วนที่เป็นแรงงาน (Low-skilled migrants) มักเป็นผู้ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาและเข้าสู่ระบบไพร่ มีมูลนายดูแล ซึ่งนอกจากผู้ถูกกวาดต้อนเข้ามาดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวจีนที่หนีความอดอยากขัดสนที่เมืองจีนเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างด้วยเช่นกัน โดยเข้ามาเป็นแรงงานเพื่อขุดคลอง ซึ่งเป็นการขยายเส้นทางการคมนาคม หรือ เพื่อเป็นแหล่งน้ำการปลูกข้าวที่เริ่มเป็นสินค้าออกสำคัญ เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองรังสิต รวมถึงการตัดถนนตามแนวคิดการพัฒนาอย่างตะวันตก เช่น ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ถนนราชดำเนิน 

ประชากรและแรงงานต่างชาติเหล่านี้ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อยมาก สามารถกลมกลืนเข้ากับสังคมไทย และมีความรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองของประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากสังคมเดิมที่จากมาและสังคมใหม่ที่เข้ามาอยู่มีวิถีชีวิตที่ไม่ต่างกันมาก อีกทั้งผู้ที่เข้ามายังสามารถดำรงวิถีชีวิตตามความเชื่อ ขนบธรรมเนียมของตนได้ ซึ่งรวมถึงการนับถือศาสนาตามนโยบายของรัฐไทยในขณะนั้น ทำให้ไม่มีความรู้สึกแปลกแยก นอกจากนี้ ณ เวลานั้น ความรู้สึกความเป็นชาติที่ก่อให้เกิดความเป็นชาตินิยม หรือลัทธิประชาชาตินิยม (National populism) ยังมีไม่มากหรือไม่รุนแรงมากนัก ทำให้คนไทยไม่มีอคติที่รุนแรงต่อคนต่างชาติต่างภาษาที่มาจากต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งเหตุผลหลังนี้ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนต่างชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา เป็นสังคมพหุลักษณ์ที่ไม่มีปัญหารุนแรง เพราะแม้จะมีปัญหาขัดแย้งกับภาครัฐจากการขยายอิทธิพลของคนบางกลุ่มบ้าง แต่ก็สามารถแก้ไขได้และสงบลงได้ในที่สุด เช่น การเกิดขบวนการอั้งยี่ของชาวจีน 

ภาพถ่ายมุมกว้างจากภูเขาทองมองไปยังฝั่งกรุงเทพมหานคร สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นภาพถ่ายโดยชาวต่างประเทศ เชื้อชาติสวิส ชื่อ โรซิเยต์
ที่มา https://pantip.com/topic/30000543

บทความนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นว่า การให้คนต่างชาติเข้ามาเป็นประชากรไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีการปฏิบัติมานานแล้วในอดีต และสามารถทำได้ ซึ่งเงื่อนไขที่ทำได้ในอดีตอาจไม่เหมือนกับเงื่อนไขของปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากกว่า ทั้งเรื่องของความรู้สึกอคติ กฎหมาย แต่หากพิจารณาจากแนวคิดของท่านอาจารย์อภิชาติ ก็มีความเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี มีการสร้างทัศนคติที่ดีต่อประชากรเหล่านี้ และต้องมีระบบการจัดการที่ดี

“อย่าปล่อยให้ประชากรทะลักเข้ามาด้วยตัวของมันเอง หรือผ่านระบบที่ไร้ธรรมาภิบาล หรือรูรั่วเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม” 5 

เราอาจต้องเรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต และนำมาปรับใช้กับปัจจุบันให้เหมาะสมตามเงื่อนไขที่เป็นอยู่ สิ่งที่คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ 


อ้างอิง

  1. ศรีศักร วัลลิโภดม. (2560). สร้างบ้านแปงเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
  2. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. (2546). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  3. เพิ่งอ้าง
  4. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑. อ้างในอมรา พงศาพิชญ์. (2523). ชนกลุ่มน้อยและผู้ลี้ภัยอินโดจีนในประเทศไทย, วารสารวิจัยสังคม, ปีที่ 3 ฉบับที่ 1, หน้า 1-38.
  5. อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์. (2564). นโยบาย Replacement Migration กับ  โควิด - 19. ประชากรและการพัฒนา, ปีที่ 40 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2563), หน้า 1-2.


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th