The Prachakorn

เมื่อพาแม่ไปฉีดวัคซีน


โซรยา จามจุรี

12 สิงหาคม 2564
352



วันนี้พาแม่ไปฉีดวัคซีน

แม่ไม่ปฏิเสธเลย เมื่อลูกๆ บอกว่าจะพาไปฉีดวัคซีน เพียงแต่แม่บ่นตลอดทางจากบ้านไปโรงพยาบาล ว่าฉันเป็น "ตา" ให้แม่ไม่เก่ง แม่จึงต้องค่อยๆ ก้าวเดินทีละนิดอย่างเชื่องช้า ไม่เหมือน "ยิ" (น้องชาย) ที่แม่ชมเปาะว่านำทางแม่ได้แบบคนรู้ใจจริงๆ

"ตา" แม่สองข้างบอดสนิท แม่จึงต้องอาศัย "ตา"ของลูกๆ นำทางและประคับประคอง เวลาต้องออกจากบ้านไปโรงพยาบาลหรือเมื่อจำเป็นต้องเดินทาง  เมื่อถึงโรงพยาบาลยะหริ่ง ฉันให้แม่นั่งรถวีลแชร์ แล้วค่อยๆ เข็นรถไปยังจุดที่มีเมาะๆ (แม่ๆ) เป๊าะๆ (พ่อๆ) กำลังรอคิวให้เจ้าหน้าที่ทยอยเรียกเข้าห้อง เพื่อฉีดวัคซีน

"คนเยอะนะ" แม่บอก
"รู้ได้ไง?" ฉันถาม
"ได้ยินเสียง" แม่ตอบ

รูป บรรยากาศที่โรงพยาบาลระหว่างรอฉีดวัคซีน
รูปโดย ผู้เขียน (ได้ขออนุญาตจากผู้เขียนแล้ว)

ราวกับตาเห็น ถูกของแม่ คนเยอะจริงๆ แม่ถูกห้อมล้อมไปด้วยบรรดาเป๊าะๆ เมาะๆ ที่ต่างกำลังรอคิวฉีดวัคซีน ด้วยสถานที่ที่คับแคบถนัดตาในวันนี้ ทำให้การรักษาระยะห่างกันทำได้ลำบาก บางคนมีลูกนั่งเป็นเพื่อน บางคนบัณฑิตอาสาพามา บางคนเดินถือไม้เท้ากะโผลกกะเผลกเดินมาคนเดียวด้วยความมั่นใจ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคอยอำนวยความสะดวก ด้วยการเดินมาวัดความดันถึงตัว

"อาเยาะห์ (พ่อ) มาฉีดวัคซีน เพราะลูกหลานชวนมาหรือเปล่าคะ? " ฉันถามอาเยาะห์ อายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ระหว่างรอคิว อาเยาะห์มากับเด็กสาววัยรุ่น
"อยากมาเอง เพราะว่าอยากเดินทางไปโน่นไปนี่ได้ ปลอดภัย" อาเยาะห์ตอบ
อายุก็มากแล้วนะ อาเยาะห์จะไปไหนอีก ฉันคิดในใจ
"อยากไปเยี่ยมลูกอยู่ที่สะเดา ลูกไปทำสวนยาง อาเยาะห์ก็มีสวนยางอยู่ที่โน่นด้วย" อาเยาะห์ตอบ ฉันร้องอ๋อ
สาวรุ่นอีกคนนั่งกุมมือแม่ เธอชวนฉันคุยด้วย เธอบอกว่ากว่าจะคะยั้นคะยอแม่มาได้ยากเหลือเกิน แต่ในที่สุดก็มา เพราะไม่อยากขัดลูก และเห็นคนใกล้บ้านเสียชีวิตเพราะโควิด
ระหว่างคุย และสำรวจตรวจตราผู้คน พร้อมคำถามถึงแรงจูงใจของเป๊าะๆ เมาะๆ ที่มาฉีดวัคซีน ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตของชาวปัตตานี พุ่งไม่หยุด
แม่ฉัน ยังคงนั่งสงบนิ่ง พร้อมถือลูกตัสเบียะห์ (คล้ายๆ ลูกประคำ) ซิเกร (กล่าวรำลึกถึงพระเจ้า) และดุอา (ขอพรต่อพระเจ้า) ไปตลอดระหว่างรอฉีดวัคซีน

และแล้วก็ถึงเวลา...

"บิสมิลลาฮ์ฯ" เจ้าหน้าที่ชายเปล่งเสียงออกมา (แปลว่าในนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ทรงเมตตาเสมอ มุสลิมมักกล่าวคำนี้เวลาจะเริ่มต้นทำสิ่งใดๆ) ขณะค่อยๆ บรรจงฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา (AZ) ให้แม่อย่างเบามือ แม่บอกว่ารู้สึกอุ่นใจมาก เมื่อได้ยินคำกล่าวนี้ ออกจากปากเจ้าหน้าที่
"บิสมิลลาฮ์ฯ" ฉันคิดว่าเป็นถ้อยคำที่มีพลังมาก (powerful) มากนะ และมีผลในทางจิตวิทยาต่อแม่ และเป๊าะๆ เมาะๆ มากในบริบทพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ผู้คนผูกพันกับศาสนาอย่างแนบแน่น

รูป บรรยากาศที่โรงพยาบาลระหว่างรอฉีดวัคซีน
รูปโดย ผู้เขียน (ได้ขออนุญาตจากผู้เขียนแล้ว)

เจ้าหน้าที่ยังคงทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ประกาศให้ผู้มาฉีดวัคซีนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ฉีด การดูแลตนเองหลังฉีด
"วัคซีน ไม่ได้ป้องกันได้ 100% นะ เรายังคงต้องใส่หน้ากาก ใส่หน้ากากให้ติด เหมือนกับที่เราติดมือถือนั่นแหละ ล้างมือ เว้นระยะห่าง วัคซีนจะช่วยกรณีที่หากเราติดโควิด ทำให้อาการไม่รุนแรงนะคะ" เจ้าหน้าที่พยาบาลอาวุโสหน่อย อธิบายเสียงดัง อย่างไม่เหนื่อยอ่อน คงจะพูดซ้ำๆ แบบนี้กับคนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

เจ้าหน้าที่ยังบอกถึงอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น และบุคคล/ช่องทางการติดต่อขอรับการช่วยเหลือ การจัดทำคิวนัดฉีดวัคซีนเข็ม 2 รวมทั้งการแจกน้ำดื่ม หลังฉีดวัคซีน และรอดูอาการราวๆ 30 นาที
ซึ่งอัลฮัมดุลิลลาฯ แม่ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ

ระหว่างกลับ แม่เจอเพื่อนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานนั่งวีลแชร์ ฉีดวัคซีนเสร็จแล้วเหมือนกัน และกำลังจะกลับ เลยได้ทักทายกัน
"โห กว่าจะพาแม่มาได้ยากมากนะ แม่ไม่ยอมมา แม่มีหลานๆ เป็นสิบเลย เราก็ต้องบอกแม่ว่ามาเถอะ
เพราะหลานๆ อาจนำเชื้อมาติดแม่ได้ ต้องพูดหลายครั้ง ในที่สุดแม่ก็ยอมมา" ลูกสาวเพื่อนแม่บ่นให้ฟัง
ฉันพาแม่กลับมาบ้าน บอกแม่ดื่มน้ำเยอะๆ นอนให้เยอะๆ และเพื่อความสบายใจ ทำในแบบที่แม่ชอบทำเป็นกิจวัตรให้เยอะๆ เช่นกัน ทั้งซิเกร และขอดุอา

น้องสาวเสิร์ฟมะม่วงหวานอมเปรี้ยว และขนมครกให้แม่ทาน แม่ทานด้วยความเอร็ดอร่อย และดูมีความสุขมาก
ฉันเองก็มีความสุขที่ได้ทำหน้าที่ลูก อย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่แม่นั้น ฉันคิดว่า แม่มีความสุขไม่เพียงแต่คิดว่าตนเองปลอดภัยมากขึ้น แต่เพราะคิดว่า ลูกๆ ก็จะได้หายห่วงและเบาใจ เพราะแม่ได้รับวัคซีนแล้ว

ฉันรู้สึกเสียใจที่มีผู้คนจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน และยังคงต้องรอคอยวัคซีน ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายจากโรคระบาด ที่คร่าชีวิตผู้คนตายนับร้อยต่อวัน

ชายแดนใต้ตอนนี้ สถานการณ์ใกล้เคียงกรุงเทพฯ เฉพาะปัตตานี (ข้อมูล 28 ก.ค. 2564) มีผู้ป่วยสะสม 8,409 ราย เสียชีวิตสะสม 113 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 211 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในขณะที่ข้อมูลเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564 เสียชีวิตในวันเดียวสูงถึง 10 ราย

เป๊าะๆ เมาะๆ เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด วัคซีนในพื้นที่ขณะนี้ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงได้ก่อนคนกลุ่มอื่นๆ (นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ) ในปัตตานี มีทั้งให้ walk in รวมทั้ง drive thru

เราช่วยกันให้คนเปราะบางกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด ก่อนที่สถานการณ์ในพื้นที่จะแย่กว่านี้นะคะ
เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่ต้องได้รับสิทธิเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ โดยเร็วเช่นกัน

เราไม่อยากนับจำนวนคนติดเชื้อและคนตายรายวันอีกต่อไป
มีใครบอกให้เราได้คิดนะว่า

"จำนวนคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข
แต่คือชีวิตและเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน"


 หมายเหตุ: ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพและผู้ที่อยู่ในภาพให้เผยแพร่ได้

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th