The Prachakorn

สวีเดน...ต้นแบบการเพิ่มอัตราเกิด


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

21 เมษายน 2564
1,475



ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ ในปี 2020 ไม่ถึง 6 แสนคนสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อโครงสร้างอายุของประชากรไทย ที่จะยิ่งเร่งการเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28%) ให้เร็วยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเชิญชวนให้คนไทยมีลูกโดยจัดกิจกรรม “โสดมีตติ้ง”และลุ้นรับคูปองตรวจสุขภาพก่อนการมีบุตรอีกด้วย บทความนี้จึงขอนำเสนอต้นแบบจากประเทศสวีเดนที่สามารถเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์รวม (total fertility rate-TFR) ได้จนถึง “ระดับทดแทน” คือ ครอบครัวมีลูก 2 คนเพื่อทดแทนพ่อและแม่

TFR ของสวีเดนลดลงจากประมาณ 2.1 ในปี 1990 จนเหลือ 1.5 ในปี 1998 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 2.0 ในปี 2010 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย “speed premium” ที่ทำให้ประชากรตัดสินใจมีลูกคนที่สองภายในระยะเวลา 2.5 ปี หรือสั้นกว่านั้น


ที่มา: https://www.forbes.com/sites/ebauer/2019/08/09/is-sweden-our-fertility-boosting-role-model/?sh=3b47aac613cb สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564

งานวิจัยพบว่า นโยบายที่มีผลต่อการเพิ่ม TFR คือการเพิ่มระยะเวลาการลาเพื่อดูแลบุตร (parental leave) จาก 6 เดือนเป็น 16 เดือนต่อลูกหนึ่งคน ปัจจุบันพ่อและแม่จะลาได้คนละ 3 เดือน ส่วนที่เหลืออีก 10 เดือน พ่อแม่สามารถบริหารจัดการได้เอง และยังคงได้รับค่าจ้างสูงถึง 80% ของเงินเดือน แต่ไม่เกินอัตราเพดาน ที่ประมาณ 2,800 ยูโร (~101,520 บาท) และผู้ที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในระบบก่อนมีบุตรจะได้รับเงินเดือนประมาณ 700 ยูโร (~25,380 บาท)

ส่วนใหญ่คุณแม่จะเป็นคนลางาน แต่สัดส่วนคุณพ่อที่ลางานเพื่อดูแลบุตรก็เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 1980 เป็น 28% ในปี 2017 ในปีเดียวกันนี้ยังพบว่า คุณแม่ 4 ใน 10 คน ในขณะที่คุณพ่อ 1 ใน 10 ที่ลูกอายุ 1-5 ปี ทำงานบางช่วงเวลา การจัดสรรวันลาเพื่อดูแลบุตรของทั้งพ่อและแม่นั้น ทำให้ลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในการรับเข้าทำงาน

แม้ว่าหลังจากปี 2010 TFR ของสวีเดนจะค่อยๆ ลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ TFR ในปี 2018 (1.72) นั้นยังคงสูงกว่าของไทยในปี 2021 (1.51) หากประเทศไทยจะเพิ่มวันลาแบบได้รับเงินเดือนบ้าง น่าจะช่วยให้คุณแม่ที่มีงานและเงินเดือนตัดสินใจมีลูกคนแรก และคนที่สองได้เร็วขึ้น คำอวยพรจากผู้ใหญ่เนื่องในวันแต่งงานให้ “มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง” ก็น่าจะเป็นจริงในไม่ช้า


เอกสารอ้างอิง

  • Bauer, E. (2019). “Is Sweden Our Fertility-Boosting Role Model?”. RetrievedFebruary 17, 2021, from https://www.forbes.com/sites/ebauer/2019/08/09/is-sweden-our-fertility-boosting-role-model/?sh=3b47aac613cb.
  • Miranda, Vitor (2019): Short birth intervals become less common in Sweden: a decline of the speed-premium effect?. Stockholm Research Reports in Demography. Preprint. https://doi.org/10.17045/sthlmuni.7668086.v1

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th