The Prachakorn

ลิ้น


วรชัย ทองไทย

31 มกราคม 2567
1,320



ลิ้นเป็นกล้ามเนื้อในปากที่เต็มไปด้วยเซลล์รู้รสและเซลล์สัมผัส ลิ้นเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีความยืดหยุ่นสูง และเป็นอวัยวะรับรู้สัมผัสที่ไวที่สุด จึงช่วยในการพูด การกลืน และการกิน นอกจากนี้ ลิ้นยังมีบทบาทสำคัญในภาษากายและการแสดงอารมณ์ของคนเราอีกด้วย

ลิ้นประกอบด้วยกล้ามเนื้อแปดมัด มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าและยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร พื้นผิวด้านบนของลิ้นประกอบด้วยต่อมรับรสและต่อมรับสัมผัส

ลิ้นมีต่อมรับรสระหว่าง 3,000 - 10,000 ต่อม ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต่อมรับรสมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์แล้วตายไป และมีต่อมรับรสเกิดใหม่มาทดแทนหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดเวลา

ต่อมรับรสทำหน้าที่ทดสอบอาหารที่เรากินและดื่ม เพราะรสชาติจะบอกความแตกต่างระหว่างอาหารที่ดี กับอาหารที่ไม่ดีหรือมีพิษ การรับรู้รสชาติเคยมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของมนุษย์ในสมัยโบราณ นอกจากนี้รสชาติยังกระตุ้นการผลิตน้ำลายในปากและกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยบดเคี้ยวและย่อยอาหาร

ลิ้นรับรู้รสชาติที่แตกต่างกัน 5 รส คือ เค็ม เปรี้ยว หวาน ขม และเผ็ด ลิ้นรับรู้รสชาติได้หลังจากที่อาหารผสมกับน้ำลายแล้ว เราจึงรับรู้รสเค็มก่อนรสอื่น เพราะเกลือละลายได้เร็วกว่าสารอาหารอื่นๆ เมื่อได้รับความชื้น

ต่อมรับสัมผัสที่ปลายลิ้นมีความไวต่อการสัมผัสมาก จึงรับรู้ขนาด รูปร่าง และเนื้อสัมผัส (texture) ของอาหารได้อย่างรวดเร็ว อันจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะเศษหิน กระดูก และก้างปลาออกจากอาหาร ก่อนที่จะกลืน

ความแข็งแรงและยืนหยุ่นของลิ้น ทำให้ลิ้นสามารถบดขยี้อาหารกับเพดานปาก และคลุกเคล้าอาหารกับน้ำลาย เพื่อให้อาหารอ่อนลงก่อนที่จะกลืน

มนุษย์พูดได้ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างลิ้น ริมฝีปาก และฟัน ทำให้เสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอ กลายเป็นคำพูดที่ออกจากปากเป็นที่เข้าใจกันได้ ลิ้นเคลื่อนไหวด้วยการเปลี่ยนรูปร่าง ขนาด และตำแหน่งในปาก โดยที่ลิ้นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เราจึงอาจพูดได้มากกว่า 90 คำต่อนาที

มนุษย์นอกจากจะสื่อสารกันด้วยการพูดแล้ว ยังใช้กิริยาท่าทางหรือภาษากายในการสื่อสารอีกด้วย ลิ้นจึงเป็นอวัยวะเดียวที่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาพูดและภาษากาย

การแลบลิ้น (ดูรูป) โดยทั่วไปถือว่าเป็นกิริยาที่หยาบคาย แต่ในทิเบตกลับถือว่าเป็นการทักทาย

รูป อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์แลบลิ้น
ที่มา: Fair use, https://en.wikipedia.org/w/index.php?curid=8970653
สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567

ลิ้นไม่เพียงแค่เป็นกลไกของการกินอาหารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเลือกอาหารที่จะกินด้วย เนื่องจากลิ้นรับรู้รสชาติของอาหาร เราจึงเลือกกินแต่อาหารที่มีรสอร่อย แต่อาจไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือกินอาหารมากเกินไป จนเป็นผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิด “โรคอ้วน”

ในหนังสือ “การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ กินเป็นอยู่เป็น โดยกินเป็นคือ กินอย่างมีปัญญา

กินด้วยปัญญาคือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค หรือกินพอดี ได้แก่ จำกัดปริมาณอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย และจำกัดประเภทอาหารให้พอดีที่จะได้สารอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

แต่ถ้าเราอยากจะกินอาหารอร่อยๆ บ้าง ก็ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่
-  อย่าเบียดเบียนตนเอง เช่น ไม่กินอาหารมาก ไม่กินอาหารเป็นพิษ
-  อย่าเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะแย่งชิงเอาเปรียบกัน
-  อย่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่กินทิ้งกินขว้าง ล่าสัตว์สงวนเพื่อบริโภค (อุ้งตีนหมี นอแรด)

ชาวอิสลามและชาวคริสต์ก่อนรับประทานอาหาร จะสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าก่อน ชาวพุทธจึงควรที่จะนำบทสวดพิจารณาอาหารของพระสงฆ์ (วัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหาร) คือ บทสวดปฏิสังขา-โย มาประยุกต์ใช้ เพื่อเราจะได้กินด้วยปัญญา โดยอาจสวดเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ได้

บทสวดปฏิสังขา-โย พร้อมคำแปล (ในวงเล็บ) มีดังนี้
          ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ    
          (ข้าพเจ้าพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงรับประทานอาหาร)
          เนวะ ทะวายะ นะ มะทายะ นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ
          (มิใช่เพื่อจะสนุกสนาน เห็นแก่เอร็ดอร่อย สวยงามโอ่อ่าโก้เก๋)
          ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ
          (ที่รับประทานนี้ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ให้ชีวิตดำเนินไปได้)
          วิหิงสุปะระติยา
          (เพื่อระงับความหิวกระหาย)
          พรัหมจริยานุคคหายะ
          (เพื่ออนุเคราะห์พรหมจริยะ คือ เพื่อเกื้อหนุนชีวิตดีที่ประเสริฐ)
          อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะติหังขามิ นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ
          (โดยการรับประทานด้วยปัญญาอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะระงับเวทนาเก่า คือ ความหิว กับทั้งจะไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ เช่น อึดอัด แน่น จุกเสียด ท้องเสีย)
          ยาตรา จะ เม ภะวิสสะติ
          (และเราก็จะมีชีวิตดำเนินไปได้)
          อะนะวัชชะตา จะ
          (พร้อมทั้งจะเป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากข้อเสียหาย)
          ผาสุวิหาโร จาติ
          (แล้วก็เป็นอยู่อย่างผาสุกด้วย)

ผู้สนใจที่ต้องการคำอธิบายโดยละเอียดของ “บทสวดปฏิสังขา-โย” สามารถดาวน์โหลดหนังสือเรื่อง การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น ได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/47 สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2567

สำหรับรางวัลอีกโนเบลที่เกี่ยวกับลิ้นคือ รางวัลในสาขาเคมีและภูมิศาสตร์ปีล่าสุด (2566) ที่มอบให้กับนักวิจัยจากโปแลนด์ (Jan Zalasiewicz) ที่อธิบายว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากชอบใช้ลิ้นเลียหิน

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”


หมายเหตุ: ขยายความจาก “ลิ้น” ในประชากรและการพัฒนา 44(3) กุมภาพันธ์-มีนาคม 2567: 7

ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th