ความเบื่อหน่าย (boredom) เป็นความรู้สึกที่ไม่พอใจหรือไม่สนใจที่จะทำอะไร สัญญาณของความเบื่อหน่ายคือ ความรู้สึกว่างเปล่า (รวมทั้งความรู้สึกหงุดหงิดกับความรู้สึกว่างเปล่านั้น) มีสมาธิสั้น ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง ไม่แยแส เหนื่อยล้า กังวล หรือกระวนกระวายใจ คนที่รู้สึกเบื่อจะอยู่ในสภาพที่นั่งทอดหุ่ย ตาเหม่อลอย และปล่อยเนื้อปล่อยตัว (ดังรูป) ความรู้สึกเบื่อเป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป
รูป: ภาพเขียน "ความเบื่อหน่าย" โดย Gaston de La Touche จิตรกรชาวฝรั่งเศส (1893)
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=23337907
สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2567
ความเบื่อหน่ายมี 3 ประเภท คือ 1. เบื่อหน่ายเพราะถูกห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ 2. เบื่อหน่ายเพราะถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากจะทำ 3. เบื่อหน่ายเพราะไม่มีสมาธิในสิ่งที่กำลังทำอยู่ นอกจากนี้ ความเบื่อหน่ายยังเชื่อมโยงกับการควบคุมอีกด้วย ถ้าเรารู้สึกว่า ตนเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เช่น ต้องนั่งรอรถเมล์ นั่งรอพบหมอ เราก็จะรู้สึกกระสับกระส่าย เบื่อ และหงุดหงิด
ในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ สาเหตุทั่วไปของความเบื่อหน่ายคือ การขาดความเข้าใจในเนื้อหา เช่น เมื่อเราไม่เข้าใจข้อความที่อ่าน ไม่สามารถติดตามหรือเชื่อมโยงเนื้อหาที่อ่าน ก็จะมีผลให้เรารู้สึกเบื่อได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่อ่านเข้าใจง่ายเกินไปหรือไม่ท้าทาย เราก็จะรู้สึกเบื่อได้เช่นกัน
ความเบื่อหน่ายจึงมีความสัมพันธ์ผกผันกับการเรียนรู้ ในโรงเรียนอาจเป็นสัญญาณว่า นักเรียนยังไม่ถูกท้าทายเพียงพอ หรือถูกท้าทายมากเกินไป สำหรับกิจกรรมที่นักเรียนสามารถคาดเดาได้ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้รู้สึกเบื่อได้เช่นกัน
ความเบื่อหน่ายเป็นสาเหตุหนึ่งของการติดพนัน ทั้งนี้เพราะคนเราต้องการหลีกหนีจากความเบื่อหน่าย จึงทำให้ต้องแสวงหาสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้คนที่เบื่อหน่ายมักมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี อันจะส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล มีภาวะแทรกซ้อนในทางเดินอาหาร เป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
ปัญหาพฤติกรรมในเด็ก เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า มักเชื่อมโยงกับความรู้สึกเบื่อหน่าย สำหรับวัยรุ่นที่เบื่อหน่ายก็มักจะมีแนวโน้มที่จะติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และบุหรี่มากขึ้น
วิธีแก้ไขความเบื่อหน่ายโดยทั่วไปคือ การนอนหลับหรือฝันกลางวัน แต่วิธีที่ดีกว่าคือ การทำสิ่งใหม่ๆ ที่ตื่นเต้น เร้าใจ
ความเบื่อหน่ายที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นองค์ความรู้ทางตะวันตก ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครบถ้วน จึงมีผลให้การแก้ไขปัญหาไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ
แต่พุทธศาสนามองว่า มนุษย์เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่ใจเป็นตัวการสำคัญในการปรุงแต่งสิ่งที่มากระทบ ให้เกิดความชอบใจไม่ชอบใจ และจะประพฤติปฏิบัติตนตามความชอบใจและไม่ชอบใจนี้
ความเบื่อหน่ายมี 2 ประเภท คือ 1. ความเบื่อหน่ายธรรมดาคือ เบื่อหน่ายในสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ อันเป็นประเภทเบื่อๆ อยากๆ 2. ความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา (นิพพิทา) คือ เบื่อหน่ายในกองทุกข์ เป็นการเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดีในสังขาร ด้วยการรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็นสิ่งน่าเบื่อ เป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เป็นความเบื่อหน่ายถาวร
ความเบื่อหน่ายธรรมดาเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ในบรรดากิเลสทั้งหลาย เช่น โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้ ความเขลา) มานะ (ความถือตัว) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) พยาบาท ฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน โดยที่กิเลสคือ สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง อันประกอบด้วย ตัณหา (ความทะยานอยาก) อุปาทาน (ความยึดมั่น) และอวิชชา (ความไม่รู้)
กิเลสแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. อนุสัยกิเลส (กิเลสอย่างละเอียด) 2. ปริยุฏฐานกิเลส (กิเลสอย่างกลาง) 3. วีติกกมกิเลส (กิเลสอย่างหยาบ)
อนุสัยกิเลส หรือกิเลสอย่างละเอียด ได้แก่ 1. กามราคะ (ความกําหนัดในกาม) 2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ) 3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด การยึดถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง) 4. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) 5. มานะ 6. ภวราคะ (ความกําหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน) 7. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ)
ปริยุฏฐานกิเลส หรือกิเลสอย่างกลาง เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทางความคิด ได้แก่ 1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) 2. พยาบาท (ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ) 3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่ง่วงเหงา) 4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านกังวลใจ) 5. วิจิกิจฉา
วีติกกมกิเลส หรือกิเลสอย่างหยาบ ได้แก่ 1. ปาณาติบาต (การตัดรอนชีวิต) 2. อทินนาทาน (ลักขโมย) 3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) 4. มุสาวาท (พูดเท็จ)
วิธีระงับกิเลสคือ สิกขา 3 อันประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา โดยที่ศีลเป็นเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกมาถึงกายและวาจา ส่วนสมาธิเป็นเครื่องละกิเลสอย่างกลาง ที่รุมเร้าอยู่ในจิตใจ สำหรับปัญญาเป็นเครื่องละกิเลสอย่างละเอียด ที่แอบแนบนอนคอยอยู่ในสันดาน รอแสดงตัวในเมื่อได้เหตุกระตุ้น
ความเบื่อหน่ายเป็นกิเลสอย่างกลาง จึงระงับได้ด้วยสมาธิ ด้วยการเจริญ “อัปปมาทะ” (ความไม่ประมาท) คือ การดําเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกํากับความประพฤติปฏิบัติ โดยใช้ “ธรรมมีอุปการะมาก 2” (ธรรมที่เกื้อกูลในกิจ) ได้แก่ สติ (สํานึกอยู่ไม่เผลอ) และสัมปชัญญะ (ความเข้าใจชัดตามความเป็นจริง)
สำหรับรางวัลอีกโนเบลที่ให้กับงานวิจัยเกี่ยวกับความเบื่อหน่ายคือ รางวัลในสาขาการศึกษาของปีล่าสุด (2567) ที่มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศจีน แคนาดา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น (Katy Tam, Cyanea Poon, Victoria Hui, Wijnand van Tilburg, Christy Wong, Vivian Kwong, Gigi Yuen และ Christian Chan) ที่ร่วมกันศึกษาวิจัยความเบื่อหน่ายของครูและนักเรียนอย่างเป็นระบบ
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”
หมายเหตุ: ขยายความจาก “ความเบื่อหน่าย” ใน ประชากรและการพัฒนา 44(4) เมษายน-พฤษภาคม 2567: 7
วรชัย ทองไทย
ธีรนันท์ ธีรเสนี
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ชิษณุพงษ์ สรรพา
อารยา ศรีสาพันธ์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย