The Prachakorn

หัวใจ


วรชัย ทองไทย

04 กรกฎาคม 2566
347



พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “หัวใจ” ไว้ว่า
        1.อวัยวะภายในสำหรับฉีดเลือดให้หมุนเวียนเลี้ยงร่างกาย
        2.ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ รู้สึก นึก และคิด เช่น เขาทำอย่างนี้เหมือนเป็นคนไม่มีหัวใจ
        3.ส่วนสำคัญแห่งสิ่งต่างๆ
        4.อักษรย่อของหลักธรรมหรือข้อความต่างๆ ที่ผูกไว้เพื่อกำหนดจำได้ง่าย และนิยมว่าเป็นของขลัง เช่น หัวใจอริยสัจ ว่า “ทุ. ส. นิ. ม.” หัวใจนักปราชญ์ ว่า “สุ. จิ. ปุ. ลิ.” หัวใจเศรษฐี ว่า “อุ. อา. ก. ส.”

        ในบทความนี้ จะกล่าวถึง "หัวใจ" ในสองความหมายแรก คือ หัวใจที่เป็นอวัยวะ และหัวใจที่หมายถึงใจ

หัวใจมนุษย์เป็นอวัยวะสำคัญ ที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเท่ากำปั้น อยู่ในทรวงอกด้านซ้ายระหว่างปอด และทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย

หัวใจมี 4 ห้อง แบ่งเป็น 2ซีก โดยหัวใจห้องบนซีกขวาทำหน้าที่รับเลือดดำ (เลือดที่มีออกซิเจนน้อย) จากร่างกาย แล้วส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างขวา เพื่อส่งต่อไปยังปอด ในขณะเดียวกันหัวใจห้องบนซีกซ้ายจะรับเลือดแดง (เลือดที่มีออกซิเจนมาก) จากปอด แล้วส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อส่งกลับไปเลี้ยงร่างกาย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง หัวใจซีกขวาจะรับเลือดดำจากร่างกาย ปั๊มเข้าสู่ปอดเพื่อฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง และหัวใจซีกซ้ายจะรับเลือดแดงจากปอด เพื่อปั๊มกลับไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายวนเวียนอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการนี้ทำโดยการบีบตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ กล่าวคือ เมื่อหัวใจคลายตัว เลือดจากร่างกายและจากปอดจะไหลสู่หัวใจจนเต็ม จากนั้นหัวใจจะบีบตัว เพื่อปั๊มเลือดในหัวใจเข้าสู่ปอดและร่างกายจนหมด การคลายตัวและบีบตัวของหัวใจรอบหนึ่งคือ การเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง
คนปกติมีการเต้นของหัวใจราว 72 ครั้งต่อหนึ่งนาที ในขณะที่นักกีฬามีการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจที่แข็งแรงกว่าและขนาดหัวใจที่ใหญ่กว่าของนักกีฬานั่นเอง ที่ทำให้สามารถสูบฉีดโลหิตได้มากกว่าคนทั่วไปในแต่ละครั้ง

หัวใจเริ่มเต้นเมื่อสี่สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ และเต้นไม่หยุดจนกระทั่งเสียชีวิต โดยทารกแรกเกิดอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงถึง 129 ครั้งต่อนาที และจะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับ 72 ครั้งต่อหนึ่งนาที เมื่อเป็นผู้ใหญ่

ปัจจุบัน โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกในโลก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ  คือ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ โรคเบาหวาน โรคอ้วน การบริโภคอาหารขยะ การไม่ออกกำลังกาย และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจเช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น

สำหรับหัวใจในความหมายที่แปลว่า "ใจ" คือ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ รู้สึก นึก และคิดนั้น เป็นนามธรรม ที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ มองเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ทำให้ไม่ถือว่าเป็นความจริงในทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในหลายวัฒนธรรมถือว่าหัวใจเป็นศูนย์กลางของร่างกาย เป็นที่ตั้งของชีวิต อารมณ์ เหตุผล เจตจำนง สติปัญญา และจิตใจ นอกจากนี้ หัวใจยังเป็นสัญลักษณ์ของหลายศาสนา ที่แสดงถึงความจริง มโนธรรม และความกล้าหาญทางศีลธรรม รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความรัก (ดูรูป) ด้วย

รูป: ภาพวาดหัวใจ สัญลักษณ์ของความรัก
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Heart#/media/File:Heart_corazon.svg
สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566

ศาสนาพุทธถือว่ามนุษย์เรามีประสาทสัมผัสเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากประสาทสัมผัสทั้ง 5อีกอย่างหนึ่ง คือ ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจนึกคิด) อันทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่น เพราะใจนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่จะฝึกฝนและพัฒนาตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้

มนุษย์เราเมื่อเห็นสิ่งสวยงาม ได้ยินเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม ได้ทานของอร่อย หรือได้สัมผัสความนุ่ม ก็จะเกิดอารมณ์ชอบใจและมีความสุข แต่ถ้าเราได้พบกับสิ่งตรงกันข้าม ก็จะเกิดอารมณ์ไม่ชอบใจและมีความทุกข์ อารมณ์ที่ชอบใจแล้วมีความสุข หรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้วมีความทุกข์นี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ยังไม่ได้ฝึกฝน

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมารมณ์ ย่อมรู้ว่าอารมณ์ที่เกิดกับใจนี้ เป็นสิ่งปรุงแต่งที่เราสามารถควบคุมได้ ดังนั้น ถ้าเราได้ศึกษาจนรู้เท่าทันในธรรมารมณ์แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่มีแต่ความสุข ไม่มีความเครียด อันจะส่งผลให้หัวใจมีสุขภาพดี และมีอายุยืน

ในปี 2565 รางวัลอีกโนเบล สาขาหทัยวิทยาประยุกต์ (Applied Cardiology) ได้มอบให้กับนักวิจัย 5 คนจากสาธารณะเช็ค เนเธอแลนด์ สหราชอาณาจักร สวีเดน และอารูบา (Eliska Prochazkova, Elio Sjak-Shie, Friederike Behrens, Daniel Lindh และ Mariska Kret) ที่ร่วมมือกันศึกษาและพบว่า “ครั้งแรกที่คู่รักใหม่ได้รู้จักกันและถูกใจกันนั้น หัวใจของทั้งคู่จะเต้นพร้อมกัน”

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


หมายเหตุ: ที่มา “หัวใจ” ใน ประชากรและการพัฒนา 43(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2566: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
รำพึงรำพันวันสงกรานต์ 2562

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ต้องยกเลิกมาตรา 301

กฤตยา อาชวนิจกุล

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หัวใจ

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th