The Prachakorn

ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

16 กุมภาพันธ์ 2565
779



“การสำรวจสะท้อนความคิด ทัศนคติ และความคาดหวังของประชากรในแต่ละเจเนอเรชัน การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่อาจจะยากและมีเงื่อนไขมากกว่าที่คนรุ่นก่อนประสบมา ทำให้พวกเขามีภาพอนาคตเมื่อเป็นผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวและต้องพึ่งพาตนเองให้ได้”

ความสงสัยว่าประชากรแต่ละรุ่นอายุมีภาพจินตนาการหรือความคาดหวังเมื่อพวกเขากำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” ทีมวิจัยได้สอบถามคนที่อายุ 18-59 ปี ด้วยแบบสอบถามออนไลน์เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งอภิปรายกลุ่มผ่านโปรแกรม Zoom ซึ่งเป็นแบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้เข้าร่วมวิจัยและทีมวิจัยในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การสำรวจนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,734 คน ส่วนมากเป็นเจน Y และ Z ทุกเจนมีผู้ตอบแบบสอบถาม 400 คนขึ้นไป ส่วนมากเป็นหญิง (71%) และกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ดังรูปที่ 1) 


รูป 1 จำนวนและสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามตามรุ่นอายุและภูมิภาค

การสำรวจพบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ทราบว่าประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยแล้ว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่า ผู้สูงอายุน่าจะเปลี่ยนไปเริ่มต้นที่อายุมากกว่า 60 ปี เพราะผู้สูงอายุสมัยนี้สุขภาพแข็งแรงและสามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายได้ 

คนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยามอายุเกษียณว่าเป็นการหยุดทำงาน แต่พวกเขามองว่า เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากการทำงานประจำ เป็นอิสรภาพทั้งในเรื่องของเวลาและการเงินที่พวกเขาจะได้จากการทำงานฟรีแลนซ์จากที่ใดก็ได้ในโลก หรือ เป็นเจ้าของกิจการที่ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวเอง ภาพฝันที่พวกเขาไม่ต้องวิตกกังวลด้านการเงินหรือรายได้อีกต่อไปนี้ ขึ้นอยู่กับการวางแผนเพื่อการออมเงินและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเร็ว อย่างการซื้อหุ้นหรือการลงทุนในคริปโต ผู้เข้าร่วมวิจัยเจน Z บางรายวางแผนจะเกษียณอายุที่ 35 ปี ซึ่งเขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้หากวางแผนการลงทุนให้ดีพอ แต่เมื่อถามว่า หลังเกษียณอายุที่ 35 ปีแล้ว จะทำอะไรต่อไป ทีมวิจัยกลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนถึงเป้าหมายของชีวิต แต่ภาพที่เขามองเห็นคือ การอยู่เป็นโสด หรือหากโชคดีได้พบคู่ชีวิต ก็จะอยู่ด้วยกันแบบที่ไม่ต้องมีภาระเรื่องลูก 

ความกังวลใจเรื่องผู้ดูแลเมื่อเป็นผู้สูงอายุไม่ใช่เงื่อนไขในการตัดสินใจเพื่อสร้างครอบครัวสำหรับคนรุ่นใหม่ การสำรวจพบว่า 22% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะอาศัยอยู่คนเดียวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในจำนวนนี้ ส่วนมากเป็นผู้หญิงประมาณ 61% พวกเขาวางแผนจะไปอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ที่เรียกว่า nursing home หรือ senior complex เงื่อนไขเดียวที่ต้องทำให้สำเร็จคือ การเก็บเงินให้มากพอที่จะจ่ายค่าบริการ หรือ ค่าเช่าไปจนวาระท้ายของชีวิต ดังนั้นพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมีลูก 

รูป 2 ร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามที่คาดหวังว่าจะอาศัยอยู่คนเดียวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ 
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

นอกจากนี้ หลายคนคิดว่าจะสามารถยุติชีวิตได้ก่อนที่จะถึงวันที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จากตัวอย่างข่าวที่อนุญาตให้ดำเนินการได้ในต่างประเทศ การสำรวจพบว่า 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดไม่ต้องการยื้อชีวิตหากอยู่ในภาวะโคม่า คนส่วนมากในทุกรุ่นอายุมีความคิดเป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อวางแผนการรักษาล่วงหน้า (หรือยุติการรักษา) สัดส่วนประชากรรุ่นเจน X ที่ตัดสินใจยุติชีวิตเมื่ออยู่ในอาการโคม่าจะมากกว่า เจน Y และ Z ตามลำดับ พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรอบข้างที่ต้องนอนติดเตียง และรู้สึกว่าไม่ต้องการเป็นภาระให้แก่ลูกหลานหรือญาติหากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น และคิดว่าการมีชีวิตอยู่กับสายที่ระโยงระยางและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่น่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่พวกเขาต้องการ แม้ว่าเอกสารชีวเจตน์ (living will) จะยังไม่แพร่หลายและยังไม่มีกฎหมายรองรับในประเทศไทย แต่บางคนก็แสดงความประสงค์ต่อญาติพี่น้องไว้แล้วในกรณีที่พวกเขาต้องตัดสินใจแทน 

รูป 3 กรณีที่ร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองหรือสื่อสารได้ เช่น ผู้ที่ไม่ต้องการยื้อชีวิต

ข้อมูลจากการสำรวจสะท้อนความคิด ทัศนคติ และความคาดหวังของประชากรในแต่ละรุ่นอายุ ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแตกต่างกัน การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่อาจจะยากและมีเงื่อนไขมากกว่าที่คนรุ่นก่อนประสบมา ทำให้พวกเขามีภาพอนาคตเมื่อเป็นผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวและต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ มากกว่าที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ การสนทนาผ่าน Zoom กับผู้เข้าร่วมวิจัยจากหลากหลายอาชีพ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้เข้าใจคนเจน Y และ Z ว่า การสร้างความสัมพันธ์ใหม่เพื่อพัฒนาเป็นคู่รักและคู่ชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นเป้าหมายของชีวิต และในช่วงวิกฤตเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ 


ที่มา: โครงการความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

การอ้างอิงข้อมูลจากบทความนี้ 

จงจิตต์ ฤทธิรงค์, เฉลิมพล แจ่มจันทร์, พิมลพรรณ นิตย์นรา, และ ณัฐณิชา ลอยฟ้า, 2565. ความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. นครปฐม. 
 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Work From Home คำ.ตอบ Work-Life Balance?

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th