The Prachakorn

วัยแรงงานจะขาดแคลน...จริงหรือ?


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

16 สิงหาคม 2564
381



หนึ่งในความท้าทายของสังคมสูงอายุคือการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากโครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงจากการที่มีจำนวนเด็กเกิดน้อย เมื่อประชากรเด็กเติบโตขึ้นจนถึงอายุ 15 ปี จึงจะถือว่าเข้าสู่วัยแรงงาน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2533) ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ร้อยละ 63.4 และเด็ก (0-14 ปี) ร้อยละ 29.2 ของประชากรทั้งหมด ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุ ประชากรวัยเด็กมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรวัยแรงงาน ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีประชากรวัยเด็กลดลงเหลือร้อยละ 16.6 และวัยแรงงานร้อยละ 64.6 ของประชากรทั้งหมด เรามีประชากรวัยเด็กเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรวัยแรงงานเท่านั้น

เด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า พวกเขาจะเข้าสู่ตลาดแรงงานแต่สามารถชดเชยประชากรวัยแรงงานที่กำลังกลายไปเป็นผู้สูงอายุได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ภาพด้านล่างนี้แสดงจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงาน โดยคาดว่าประชากรอายุ 20-24 ปี จะเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่เรียนจบและกำลังหางานทำ ประชากรอายุ 60-64 ปี เป็นประชากรที่เกษียณอายุตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ จุดตัดของกราฟ ปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงานไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงานได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่นเพราะไม่สามารถนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศได้อย่างที่วางนโยบายไว้

จำนวนประชากรเข้าและออกวัยแรงงาน พ.ศ. 2553-2583
 
แหล่งข้อมูล: สร้างจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 
(ฉบับปรับปรุง สิงหาคม พ.ศ. 2562)

กระบวนการจัดหาแรงงานจากต่างประเทศเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้มากกว่าการส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรเพิ่ม สิงคโปร์มีความพยายามจะเพิ่มอัตราเกิดโดยใช้มาตรการจูงใจที่หลากหลาย แต่แนวโน้มอัตราเกิดในประเทศยังลดลงไปเรื่อยๆ การจัดตั้ง Ministry of Manpower ให้เป็นกระทรวงบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์มีประสิทธิภาพสูง เพราะสำรวจความต้องการแรงงานโดยระบุทักษะที่ชัดเจนและปรับข้อมูลทุกปี รวมทั้งสร้างแรงจูงใจและกำหนดเกณฑ์วีซ่านำเข้าแรงงานทักษะเฉพาะที่ขาดแคลนเท่านั้น พร้อมกันนี้สิงคโปร์ยังได้เพิ่มคุณภาพประชากรชาวสิงคโปร์เอง โดยปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในการพัฒนาแรงงานให้ตรงเป้า เพื่อนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด

สนามแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์นี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก วิสัยทัศน์ของผู้นำและการตัดสินใจบนข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะลดความรุนแรงของปัญหา เพราะ “วัคซีน ต้องฉีดก่อนการติดเชื้อ” 

นักประชากรศาสตร์ของไทย มองทะลุปัญหาและเสนอนโยบายทดแทนประชากรในศตรวรรษที่ 21

ติดตามใน Prachakorn Form EP.6 | ความมั่นคงทางประชากรและสังคม: นโยบายการทดแทนประชากรในศตวรรษที่ 21 
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัศฤทธิรงค์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th