The Prachakorn

ออมเพื่อเก็บ และ ออมเพื่อลงทุน


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

07 มิถุนายน 2565
656



การเตรียมตัวสำหรับชีวิตในวัยสูงอายุเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก วางแผน และเตรียมการตั้งแต่ในช่วงวัยทำงานโดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อการมีหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ที่เพียงพอให้กับตัวเอง ในช่วงวัยที่ความสามารถในการทำงานเริ่มถดถอย และการคาดหวังความช่วยเหลือสนับสนุนจากครอบครัว รวมถึง สวัสดิการรัฐอาจเป็นไปได้น้อยลง

การสนับสนุนให้คนไทยวัยทำงาน มีพฤติกรรม “การออม” เพื่อชีวิตในวัยสูงอายุ หรือหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การให้ออมเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ควรต้องสนับสนุนไปพร้อมกับการให้ความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงิน รวมถึงการลงทุนเพื่อให้เงินออมที่เก็บไว้ สามารถก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวด้วยเช่นกัน การลงทุนในทุกลักษณะย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การลงทุนทำกิจการส่วนตัว แต่ความเสี่ยงนั้นก็มาพร้อมกับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการออมเป็นเงินสด หรือการฝากธนาคารไว้เฉยๆ ซึ่งหากผู้ลงทุนมีความรู้และทักษะที่เพียงพอ รวมถึงสามารถประเมินและจัดการความเสี่ยงที่ยอมรับได้ได้อย่างเหมาะสม ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ล้มเหลว หรือขาดทุนก็ย่อมลดลง

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ลดลงจากร้อยละ 3 กว่าๆ ในปีก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่อัตราผลตอบแทนนี้ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ถึง 8 เท่า หรือ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์ถึง 4-5 เท่า (แผนภูมิ 1 และ 2)

แผนภูมิ 1 อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาด SET (ร้อยละ)


แผนภูมิ 2 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ (ธ.ค. 2564)

ที่มา: (1) สถิติภาพรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายปี (https://www.set.or.th/static/mktstat/Market_Statistics_th_TH.xls;) (2) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ (กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีอยุธยา) วันที่ 29 ธันวาคม 2564, ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการวิจัย “ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจออนไลน์กับกลุ่มประชากรไทยวัยทำงานจำนวน 1,734 คน ในปี 2564 พบว่า รูปแบบการออมของคนวัยทำงานไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นลักษณะ “ออมเพื่อเก็บหรือสะสม” มากกว่า “ออมเพื่อลงทุน”

ในภาพรวม (แผนภูมิ 3) กว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 61.9) มีการออมแบบเก็บสะสมเพียงอย่างเดียว (ทั้งการเก็บสะสมระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เก็บเป็นเงินสด หรือฝากธนาคาร และการเก็บสะสมระยะยาวที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า เช่น การทำประกันชีวิตแบบออมหรือ เงินบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนชุมชน เป็นต้น) ขณะที่ มีเพียงร้อยละ 38.1 ที่มีการออมทั้งแบบเก็บสะสมและออมแบบลงทุนควบคู่กัน (เช่น ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ทำกิจการ รวมถึง บิตคอยน์) โดยกลุ่มประชากรเจเนอเรชัน Y มีสัดส่วนที่ออมแบบเก็บสะสมและออมแบบลงทุนควบคู่กัน รวมถึงออมแบบลงทุนเพียงอย่างเดียว สูงกว่าเจเนอเรชันอื่น

แผนภูมิ 3 รูปแบบการออมของคนวัยทำงาน (อายุ 18-59 ปี) จำแนกตามเจเนอเรชัน

ที่มา: จงจิตต์ ฤทธิรงค์ เฉลิมพล แจ่มจันทร์ พิมลพรรณ นิตย์นรา และณัฐณิชาลอยฟ้า. (2565). ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

การวิเคราะห์ทางสถิติ เกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออมนี้ ให้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า ในการส่งเสริมให้คนไทยวัยทำงานมีพฤติกรรมการออมเพื่อลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ในวัยสูงอายุได้ดีกว่าการออมแบบเก็บสะสมเพียงอย่างเดียวนั้นแม้ว่าต้องครอบคลุมให้ความสำคัญกับคนวัยทำงานทุกคน แต่ก็อาจมุ่งเน้นเป็นพิเศษในกลุ่มคนวัยทำงานเพศหญิง ผู้ที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ผู้ที่ประกอบอาชีพในสถานภาพการทำงานที่นอกเหนือไปจากการประกอบธุรกิจส่วนตัว (ซึ่งในกลุ่มนี้ มักเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนเพื่อทำกิจการใดประกอบเป็นอาชีพอยู่แล้ว) เช่น ลูกจ้างและพนักงาน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และประชากรวัยทำงานที่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง



CONTRIBUTOR

Related Posts
ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ผู้สูงอายุกับราวจับ

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th