The Prachakorn

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง


ปราโมทย์ ประสาทกุล

21 มิถุนายน 2565
1,012



เมื่อสองสามวันก่อน มีเพื่อนในโซเชียลมีเดียส่งข่าวในวงการหนังสือมาให้ผมอ่าน หัวข้อข่าวเขียนว่า “นักเขียนลาลับไปอีกคน”

“จันทรรำไพ” นักเขียนนวนิยายแนวโรแมนติกที่มีภาษาสละสลวย ไพเราะ อ่อนหวาน และตรงไปตรงมา ผมเคยอ่านหนังสือของเธอบางเรื่องแล้วชื่นชอบมาก นั่นคงเป็นเหตุผลที่เพื่อนส่งข่าวการจากไปของเธอมาให้ เธอเขียนหนังสือนิยายไว้หลายเรื่อง มีอาทิ อมาญาส์ กาลาปาโก้ส ฝากหัวใจไว้เอกวาดอร์ สาวไทยบุกเดี่ยวโคลอมเบียเมืองมาเฟียถิ่นละติน

จันทรรำไพ เป็นคนรักที่จะใช้ชีวิตอิสระเสรี หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอก็ไปใช้ชีวิตในต่างแดน โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้

จันทรรำไพ ลาลับไปเมื่อสองสามเดือนก่อน ขณะที่เธอมีอายุ 81 ปี เธอได้กำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่จะออกเดินทางจากโลกนี้ไว้ล่วงหน้า เธอเลือกที่จะออกเดินทางจากคลินิกแห่งหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วิธีการเดินทางของเธอเป็นการ “ดับลมหายใจอย่างสงบ”

การลาโลกนี้ไปอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี

ผมได้ขอความรู้จากกูเกิ้ลเกี่ยวกับวิธีการที่จันทรรำไพเลือกใช้ในการเดินทางไกลที่ไม่มีวันหวนกลับ

ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “euthanasia” พจนานุกรมฉบับกูเกิ้ลแปลเป็นภาษาไทยว่า “การุณยฆาต” ผมคิดว่า คำนี้น่าจะยังไม่ตรงกับความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษนัก ผมเคยดูภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่งที่มีคำถามที่พระเอกพูดกับนางเอกตอนใกล้อวสานของเรื่อง “They shoot the horse, don’t they?” แปลเป็นไทยว่า “เขายิงม้า (ให้ตาย) ไม่ใช่รึ” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อม้าขาหัก มันจะเจ็บปวดทรมาน เพราะม้ามีชีวิตอยู่ได้ด้วยการยืนทั้งสี่ขาตลอดเวลา คนยิงม้าให้ตายก็เพื่อให้ม้านั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน ซึ่งตรงกับคำว่า “mercy killing” หรือ การุณยฆาต คือ ฆ่าให้ตายเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมานมากกว่า

คำว่า euthanasia นี้ เป็นการทำให้บุคคล (ผมไม่ขอเรียกว่าผู้ป่วย) ถึงแก่ความตาย ที่ไม่ใช่เป็นการตั้งใจฆ่า หรือฆาตกรรม อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การทำให้สิ้นใจเชิงรุก (active euthanasia) คือ การเร่งให้บุคคลหมดลมหายใจ และการปล่อยให้บุคคลหมดลมหายใจโดยตัดการรักษาเพื่อยื้อชีวิต (passive euthanasia)

พวกเราหลายคนคงคุ้นกับเรื่องของการทำให้คนสิ้นใจด้วยการฉีดยาให้หลับไป (เช่น การประหารชีวิตนักโทษด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อต การฉีดยาหรือสารเคมีให้คนหมดลมหายใจ) หรือการถอดเครื่องช่วยหายใจ ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะทำให้บุคคลสิ้นใจเชิงรุกได้พัฒนาก้าวล้ำไปไกลมาก มีการผลิตแคปซูลขนาดใหญ่ให้คนที่ต้องการลาจากโลกนี้ไปเข้าไปนอนสบายๆ โดยไม่ต้องใช้สารฉีดเข้าร่างกาย

ขอให้เราลองนึกภาพการทำงานของแคปซูลที่ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะในการเดินทางไกลสุดโลก เมื่อบุคคลที่ต้องการใช้บริการยานพาหนะนี้เข้าประจำที่และพร้อมที่จะออกเดินทาง เขาจะเป็นผู้กดปุ่มสตาร์ทเครื่องด้วยตนเอง เครื่องยนต์จะเริ่มปล่อยแก๊สไนโตรเจนออกมา ในระยะเวลา 30 วินาที ระดับออกซิเจนในยานจะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้น บุคคลที่เป็นผู้โดยสารยานนั้นจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที จากการขาดออกซิเจน ความพิเศษของแคปซูลนี้ คือ จะทำให้คนที่ใช้บริการไม่มีอาการสำลัก และจากไปอย่างสงบ

แคปซูลนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไหนก็ได้ เพื่อให้วาระสุดท้ายในชีวิตของผู้ใช้บริการได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ตนปรารถนา

จันทรรำไพ เลือกที่จะออกเดินทางไกลครั้งนี้จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีบริการทำให้บุคคลสิ้นใจเชิงรุกได้ ที่จริงแล้วการทำให้บุคคลอื่นสิ้นใจไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ยังผิดกฎหมายในประเทศนี้ แต่การให้เครื่องมือหรือบริการที่จะให้บุคคลฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันประเทศที่มีกฎหมายรองรับบริการดับลมหายใจด้วยตนเองนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ออสเตรเลีย แคนาดา โคลอมเบีย เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา (บางรัฐ)

เรามีสิทธิเป็นเจ้าของชีวิตของเราหรือไม่

เรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของชีวิตของแต่ละคนเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและซับซ้อน สิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายและชีวิตอาจมองได้หลายแง่หลายมุม ทั้งมุมมองด้านกฎหมาย ศีลธรรม ความเชื่อ ทัศนคติส่วนบุคคล และหลักคำสอนทางศาสนา

ประเด็นสิทธิในการเป็นเจ้าของชีวิต เริ่มตั้งแต่คำถามว่า ชีวิตของคนได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด ตั้งแต่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา หรือคำถามว่า ตั้งแต่ตัวอ่อนในครรภ์มีอายุเท่าใด และใครควรมีสิทธิเป็นเจ้าของและจัดการกับชีวิตนั้น เมื่อคลอดจากครรภ์เป็นการเกิดมีชีพแล้ว ย่อมชัดเจนว่า บุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือใครก็ตาม จะไม่สามารถกระทำการใดๆ เพื่อให้สภาพชีวิตนั้นดับสิ้นลง

ถ้าคนเรามีสิทธิเป็นเจ้าของร่างกายและชีวิตของตนแล้ว เราย่อมมีสิทธิตัดสินใจที่จะจัดการชีวิตของตน การฆ่าตัวตายจึงเป็นการใช้สิทธินั้น และไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่ผู้ที่มองในด้านศีลธรรมอาจแย้งว่าการฆ่าตัวตายไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการฆ่าชีวิตหนึ่ง แม้จะเป็นชีวิตของตัวเองก็ตาม และบางศาสนาอาจถือว่าบุคคลไม่มีสิทธิฆ่าชีวิตที่เป็นของพระเจ้า

ผมเคยได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิธีการของบางสังคมในอดีตที่จะจัดการจบชีวิตของผู้สูงอายุโดยความสมัครใจ ผมได้ยินมาว่าบางพื้นที่ของสังคมญี่ปุ่นโบราณ ลูกชายจะเอาพ่อแม่ที่ชรามากแล้วใส่ตะกร้าสะพายหลังแบกขึ้นเขา ไปปล่อยทิ้งไว้ให้ตายไปตามยถากรรม พ่อแม่ผู้ชราก็ยอมรับสภาพที่จะไม่เป็นภาระของลูกๆ ต่อไป ผมยังเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า คนอินเดียนแดงบางเผ่าเมื่อตัวเองชรามากแล้ว ไม่ต้องการเป็นภาระให้ครอบครัว ก็เลือกที่จะเดินเข้าป่าตามลำพังเพื่อไปหาที่ตายของตนเอง

มรณานุสติ

ใครๆ ก็รู้ว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย เหมือนข้อความที่เขียนไว้หน้าตาลปัตร 4 ด้ามเรียงกัน พระ (บางวัด) 4 รูป ใช้บังหน้าเวลาสวดอภิธรรมในงานศพ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

เมื่อความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว คนเราก็ไม่สมควรที่จะไปเกรงกลัวความตาย

ผมเคยอ่านเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายของชาวทิเบตที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด คนเราเกิดมาในชาตินี้ก็ต้องตายไป แล้วก็ไปเกิดใหม่ในชาติหน้า ชาวทิเบตเชื่อว่า การตายเป็นเพียงการละทิ้งสังขารร่างกายที่เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ในชาตินี้ เพื่อไปสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่ในชาติหน้า

ผมชอบแนวคิดในเรื่องความตายของชาวทิเบต ความตายไม่น่ากลัว เมื่อร่างกายหรือเสื้อผ้าชุดที่เราสวมใส่หมดสภาพลง เราก็ตายเพื่อจะได้ไปสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ในชาติหน้า

ผมสังเกตว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมที่มีอายุผ่านหลักเจ็ดสิบมา 4-5 ปีแล้ว เริ่มพูดถึงการเตรียมตัวตายกันมากขึ้น ดูเหมือนทุกคนจะมีสติรู้ว่า เวลาที่จะมีชีวิตอยู่สั้นลงทุกทีแล้ว หลายคนเริ่มพูดถึงการเตรียมตัวตาย คนรุ่นผมมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกถึง 7,000 วัน ก็เก่งแล้ว โอกาสที่จะเห็นพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกน้อยลงทุกที

ผมได้อ่านบทความของ ดร.สุดปรารถนา ดวงแก้ว (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เรื่อง “ชูคัทสึ: การเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของคนญี่ปุ่น” ที่เขียนถึงศัพท์คำว่า “ชูคัทสึ” หมายถึงการให้คนญี่ปุ่นเตรียมตัวตายใน 4 เรื่อง คือ (1) การเตรียมด้านทรัพย์สิน (2) การรักษาพยาบาลและการดูแล (3) การจัดการงานศพ และ (4) การจัดการเกี่ยวกับสิ่งของที่ระลึกต่างๆ

สำหรับผมกำลังจะทำ “ชีวเจตนา” หรือ “เอกสารแสดงเจตนารมณ์ว่าเมื่อผมอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต และไม่อยู่ในสภาพที่จะตัดสินใจใดๆ แล้ว ให้ผู้เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลและบุคคลรอบข้าง ปล่อยให้ผมเสียชีวิตไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษใดๆ ที่จะยื้อชีวิตของผมไว้”

(เอกสารนี้จะได้รับการรับรองจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12)

บทความนี้เริ่มจากการตายอย่างมีศักดิ์ศรีของจันทรรำไพ มาจบลงที่การเตรียมตัวตายอย่างเรียบง่ายของผู้เขียน

ภาพ: แคปซูลรุ่นใหม่ที่ใช้เป็นยานเดินทางไกลสู่สัมปรายภพ
ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/310637 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th