การตัดสินใจในเรื่องการตายเกี่ยวพันโดยตรงกับผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งหมายถึง บุคคลที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดและกำลังจะเสียชีวิตในไม่ช้า โดยผู้ป่วยระยะท้ายพิจารณาได้ว่าต้องการเสียชีวิตตามธรรมชาติ เสียชีวิตให้ช้าลง หรือเสียชีวิตให้เร็วขึ้น
ทางเลือกในการเสียชีวิตทั่วโลกมี 4 ทางเลือกหลัก ทางเลือกแรก การุณยฆาต (Euthanasia) หมายถึง การที่แพทย์ยุติชีวิตของผู้ป่วยด้วยการให้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตในจำนวนมากจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในทันที ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วย ทางเลือกที่สอง การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-Assisted Suicide) หมายถึง การที่แพทย์เตรียมยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตไว้ให้ ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วย และผู้ป่วยจัดการนำยาเข้าสู่ร่างกายจนเสียชีวิตในทันที ทางเลือกที่สาม การปฏิเสธการรักษา (Non-Treatment Decisions) หมายถึง การตัดสินใจของผู้ป่วยที่จะงดหรือหยุดการรับบริการทางการแพทย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการยืดชีวิต อันรวมถึงการรักษาที่ไม่จำเป็น (Futile Treatment) และการใช้เครื่องพยุงชีพทั้งหมด และ ทางเลือกสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การรับบริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและลดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเร่งหรือยืดการตาย
ทางเลือกทั้งหมดข้างต้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย การุณยฆาตและการฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (ซึ่งเป็นการเร่งความตายให้เร็วขึ้น) ถูกกฎหมายในบางประเทศเท่านั้น เช่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และลักเซมเบิร์ก เป็นต้น แต่ไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยการุณยฆาตถือว่าผิดกฎหมายอาญา เทียบเท่ากับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนการฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ถือว่าเทียบเท่ากับการฆ่าตัวตายด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน การปฏิเสธการรักษาและการดูแลแบบประคับประคอง (ซึ่งเอื้อให้เกิดการตายตามธรรมชาติ) และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเข้มข้นเพื่อยืดความตายให้ช้าลงถูกกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก ในกรณีของการปฏิเสธการรักษาในประเทศไทย มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้สิทธิแก่ผู้ป่วยในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ที่เรียกอย่างสั้นว่า “พินัยกรรมชีวิต” หนังสือดังกล่าวมีข้อผูกพันทางกฎหมาย คุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่ประสงค์จะเลือกเสียชีวิตด้วยการปฏิเสธการรักษา และคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้มีความผิดฐานทอดทิ้งผู้ป่วย
จะเห็นได้ว่า กฎหมายของประเทศไทยสะท้อนคุณค่าและทัศนคติของรัฐที่มีต่อความตาย โดยรัฐได้กำหนดทางเลือกให้กับประชาชนแล้ว ด้วยการสนับสนุนการเสียชีวิตตามธรรมชาติ อนุญาตให้ยืดชีวิตได้ แต่ไม่อนุญาตให้เร่งการเสียชีวิต อย่างไรก็ดี การเร่งการเสียชีวิตเป็นประเด็นที่อาจต้องพิจารณาอย่างเข้มข้นขึ้น ในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาของวัฏจักรชีวิตที่ทับซ้อนกัน มีคนเกิดน้อยลง สัดส่วนคนแก่มากขึ้นและยังต้องพึ่งพิงบุตรหลาน คนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น และคนใกล้ตายก็ใช้เวลานานขึ้นก่อนเสียชีวิต ปัญหาทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และหากไม่ได้รับการแก้ไข ระยะท้ายของชีวิตคนไทยในอนาคตก็จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน มีความทรมาน และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการดูแลก่อนตาย
ทั้งนี้ การเร่งการเสียชีวิตจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรองรับ การประเมินความเป็นไปได้ของกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทยทำได้ด้วยการพิจารณาปัจจัยสนับสนุน จากการศึกษาประสบการณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์และแคนาดาที่มีกฎหมายการุณยฆาตแล้ว พบว่าทั้งสองประเทศนี้มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ได้แก่ (1) การเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์ประเด็นการุณยฆาตจนสังคมตกผลึกทางความคิด โดยพบว่า ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมาย ประชาชนในประเทศเนเธอร์แลนด์และแคนาดามีการถกเถียงในประเด็นที่เกี่ยวข้องมายาวนานถึง 28 และ 23 ปี ตามลำดับ (2) การมีวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualization) ในระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal Democracy) ประเทศที่มีกฎหมายการุณยฆาตมักมีแนวคิดเสรีนิยม และประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงสิทธิของร่างกายตนและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และ (3) การมี “กระแสสังคม” ในเชิงบวก ซึ่งทำให้กฎหมายมีความเป็นไปได้ทางการเมือง (Political Feasibility) โดยทั้งในเนเธอร์แลนด์และแคนาดา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทบทุกกลุ่มเห็นด้วยกับกฎหมายการุณยฆาต มีเพียงกลุ่มเคร่งศาสนาเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็นับเป็นจำนวนน้อยของสังคม
สำหรับประเทศไทย ปัจจัยข้างต้นอาจยังไม่สมบูรณ์นักในปัจจุบัน ประการแรก สังคมไทยยังไม่ได้มีการถกเถียงในประเด็นการุณยฆาตอย่างยาวนานเพียงพอ การกล่าวถึงการุณยฆาตเพิ่งเริ่มมีอย่างกว้างขวางในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เมื่อมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับชายไทยท่านหนึ่งที่ตัดสินใจไปยุติชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น และปัจจุบันกระแสความสนใจก็ลดลงอย่างมากแล้ว ประการที่สอง ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของประเทศไทยไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีกฎหมายที่มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในการแสดงออกทางความคิดอันเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นเสรีนิยม ซึ่งหมายความว่า การวิพากษ์และการทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิและวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งส่งผลทางบวกต่อกฎหมายการุณยฆาต ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด และประการสุดท้าย ในประเด็นความเป็นไปได้ทางการเมือง พบว่า ความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมยังไม่ตรงกันและการสนับสนุนกฎหมายการุณยฆาตยังมีน้ำหนักไม่มากพอ แม้ว่าการยอมรับต่อการุณยฆาตของประชาชนจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมาและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (อ้างอิงการสำรวจ World Values ที่ถามคำถามเดียวกันในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก) แต่ก็ยังพบการต่อต้านจากนักวิชาการ แพทย์ และพระสงฆ์ตามสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งหมดนี้ชี้เห็นให้ว่าเงื่อนไขของการสนับสนุนกฎหมายการุณยฆาตยังไม่ชัดเจน และความเป็นไปได้ในการมีกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ
บทความนี้คัดย่อมาจากหนังสือ “การตัดสินใจในระยะท้ายของชีวิตกับสังคมไทย: บทเรียนจากประสบการณ์ของต่างประเทศ” เขียนโดย นพพล วิทย์วรพงศ์ (พ.ศ. 2563) ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ โดยการสนับสนุนของแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
สุภาณี ปลื้มเจริญ
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง
สุริยาพร จันทร์เจริญ
อมรา สุนทรธาดา
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
กฤตยา อาชวนิจกุล
อมรา สุนทรธาดา
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย
สุชาดา ทวีสิทธิ์
อภิชัย อารยะเจริญชัย