The Prachakorn

ขอส่งความรักในวันวาเลนไทน์


ปราโมทย์ ประสาทกุล

14 กุมภาพันธ์ 2565
687



ผมขอเรียก “ประชากรและการพัฒนา” ฉบับนี้ว่าเป็น ฉบับแห่งความรัก เพราะมีกำหนดพิมพ์เผยแพร่ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น “วันวาเลนไทน์” ซึ่งในความรู้สึกของผม คนไทยเกือบครึ่งประเทศยอมรับแล้วว่าวันนี้เป็น “วันแห่งความรัก”

แต่พอคิดจะเขียนถึงเรื่องวันวาเลนไทน์ ก็รู้สึกเขินอายใจเล็กน้อยที่จะเอาเรื่องประสบการณ์ความรักในอดีตของตัวเองมาเปิดเผย แม้ความรักจะไม่ใช่ความลับ แต่บางแง่บางมุมของความรักก็อาจเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรสงวนไว้ เพื่อชื่นชมหรือขื่นขมเฉพาะตัวของเราคนเดียว ไม่สมควรที่จะเอามาเล่าให้ใครต่อใครฟัง แต่เอาเถิด.. เมื่อตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องความรักในวันวาเลนไทน์แล้ว ก็จะทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ ผู้สูงอายุคนหนึ่ง จะขอเขียนเรื่องความรักนะครับ

วันวาเลนไทน์เมื่อผมยังเป็นเด็ก

ขอบอกตามตรงว่าเมื่อผมยังเป็นเด็ก ยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า ด.ช.–เด็กชาย ผมไม่รู้จักและไม่เคยสนใจวันวาเลนไทน์เลย ในช่วงอายุ 8-12 ปี ซิสเตอร์ที่โรงเรียนคริสต์ที่ผมอยู่คงเคยพูดถึงนักบุญท่านนี้ให้พวกเราได้ฟังบ้างแต่เนื้อหาสาระและความสำคัญของวันวาเลนไทน์ก็ไม่เคยเข้าไปอยู่ในใจของผมเลย หรือจะเป็นเพราะผมยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจความหมายของความรัก

ผมเข้าใจว่าความรักในวันวาเลนไทน์ที่เราหมายถึงในสมัยก่อนนั้นเป็นความรักที่ปนไปกับความ “เสน่หา” หรือเป็นความรักที่มีความรู้สึกทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่ความรักที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปทุกมิติที่ตรงข้ามกับ “ความเกลียด” “ความชัง”

ประสบการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นเด็กที่ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็น “ความรัก” ได้หรือไม่ ผมเคยมีความรู้สึกวาบหวามที่ยังประทับอยู่ในใจอยู่จนบัดนี้ เมื่อผมอายุราว 11 ขวบ ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้น1 ห้องเรียนตอนนั้นจัดให้เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายนั่งเรียนแยกกัน คนละซีกฝั่งห้อง ครั้งชั่วเสี้ยววินาทีหนึ่ง ผมหันไปสบสายตากับเพื่อนนักเรียนหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่นั่งอยู่ไกลกัน ผมเกิดความรู้สึกเหมือนไฟฟ้าช็อตที่ในใจขึ้นมาทันที ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกความรู้สึกนั้นว่าเป็น “ความรัก” ที่เกิดจากกามเทพแผลงศรมาถูกใจผมได้หรือเปล่า ... จะเรียกความรู้สึกนั้นว่าอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงคือ ตั้งแต่ตอนนั้นจนกระทั่งมีชีวิตอยู่มาถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่เคยพูดคุยกับเธอเลยแม้แต่คำเดียว

วาดภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล

ผมเรียนชั้นมัธยมปลายและเตรียมอุดมในโรงเรียนชายล้วน ตั้งแต่ปี 2503-2509 ตลอดช่วงเวลานั้นวันวาเลนไทน์ก็ยังไม่เข้ามาอยู่ในความทรงจำของผม ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมอยู่โรงเรียนวัดไทย (วัดเทพศิรินทร์) หรือเปล่า จึงไม่มีการพูดกันถึงนักบุญในศาสนาอื่น แต่ผมก็ยังสงสัยว่าโรงเรียนวัดฝรั่งที่เป็นโรงเรียนชายหรือหญิงล้วนเขาจะให้ความสำคัญแก่วันแห่งความรักนี้หรือเปล่า (วันหลังผมอาจไปขอข้อมูลจากเพื่อนที่มาจากโรงเรียนวัดฝรั่งเหล่านี้ เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีส่งความรักให้กันในวันวาเลนไทน์ในประเทศไทย)

ที่โรงเรียนชั้นมัธยม ผมมีเพื่อนสนิทหลายคน ช่วงหยุดเทอมเป็นเวลาที่เราต้องห่างเหินกัน ในระหว่างที่ผมกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด เราจะเขียนจดหมายถึงกัน การเดินทางของจดหมายแต่ละฉบับใช้เวลาหลายวัน เดือนหนึ่งก็ส่งจดหมายถึงกันได้เพียง 2-3 ฉบับ เท่านั้น สมัยนั้นที่บ้านต่างจังหวัดของผมยังไม่มีโทรศัพท์ และบ้านเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีโทรศัพท์เช่นกัน

ผมยังจำได้ว่า เมื่อใกล้จะเรียนจบชั้นมัธยมปลาย (ม.6) เป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่พวกเราบางคนต้องลาจากกันเพื่อไปเรียนต่อที่สถาบันการศึกษาอื่น พวกเรามีการเขียนคำอาลัยอาวรณ์ให้กันใน “สมุดเฟรนด์ชิป” (สมุดมิตรภาพ) เรามีการแลกเปลี่ยนรูปถ่ายพร้อมข้อความและลายเซ็นหลังรูปถ่าย เพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักและมิตรภาพที่มีต่อกันระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียน (ข้อความหลังรูปที่เขียนให้กันมี เช่น “เพราะรักจึงมอบ เพราะชอบจึงให้” “ยามอยู่ดูหน้า ยามลาดูภาพ” “แม้ตัวจะห่างไกล แต่หัวใจเราใกล้กัน”)

วันวาเลนไทน์เมื่อผมเป็นวัยรุ่น

ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2509 ผมมาจากโรงเรียนชายล้วน ได้เข้ามาพบเพื่อนๆ ที่มีทั้งชาย หญิง และเพศสภาพที่หลากหลายอื่นๆ ได้มีเพื่อนที่มีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน มีทั้ง คนรวย คนจน มีทั้งพวกที่จัดเป็น “ไฮโซ” และ “โลโซ” ชีวิตในมหาวิทยาลัยของผมจึงเป็นความสนุกสนานและมีชีวิตชีวา ผมได้มีโอกาสได้เห็นการแสดงออกซึ่งความรักของเพื่อน พี่ น้อง ร่วมคณะรัฐศาสตร์มากมายหลายคู่

เชื่อว่าประเพณีมอบความรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ได้มีอยู่ก่อนแล้วในรั้วมหาวิทยาลัย มีการมอบดอกไม้ ให้ของขวัญ และส่งการ์ดให้คนที่รัก แต่การฉลองวันแห่งความรักด้วยกิจกรรมต่างๆ ในตอนนั้นน่าจะกระทำกันในวงจำกัด ฉลองกันเฉพาะในคู่ที่เป็นแฟนกัน

ผมขอสารภาพว่าตัวเองค่อนข้างไร้เดียงสาในเรื่องวันแห่งความรัก ตลอดชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ผมไม่เคยเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับดอกกุหลาบแดง และการ์ดวาเลนไทน์จากใครเลย ...คิดแล้วก็น่าน้อยใจตัวเองอยู่เหมือนกัน

วันวาเลนไทน์ในสมัยนี้

ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้วันวาเลนไทน์มีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ชื่อ เซนต์วาเลนตินุส ชาวโรมัน ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบ 2 พันปีก่อน ได้ฟื้นกลับมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน การ์ดวาเลนไทน์ขายดีมาก กุหลาบแดงที่ปกติขายกันดอกละ 20 บาทก็ขึ้นราคาเป็นดอกละร้อยกว่าบาท ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆ ก็มีคู่รักไปฉลองวันวาเลนไทน์กันเนืองแน่น

ทุกวันนี้ หน่วยราชการบางหน่วย ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ เช่น สำนักทะเบียนอำเภอต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยให้บริการเป็นพิเศษแก่คู่รักที่ไปจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ มีคู่รักไปจดทะเบียนกันที่อำเภอ “บางรัก” กันคับคั่ง (น่าสนใจว่าสถิติคนไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอบางจาก บางพลัด บางระกำ ในวันวาเลน์ไทน์จะลดลงหรือเปล่า) สำนักทะเบียนบางแห่งมีบริการจดทะเบียนสมรสในสถานที่แปลกๆ เช่น จดทะเบียนใต้น้ำ จดทะเบียนบนยอดเขา และมีบริการพิเศษในรูปแบบที่แปลกพิสดารอื่นๆ อีก

ทุกวันนี้วันแห่งความรักขยายขอบเขตกว้างขวางออกไป เมื่อสังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพมากขึ้น นอกเหนือไปจากเพศกำเนิดชายและหญิง เช่น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล เควียร์ อินเตอร์เซ็กซ์ นอนไบนารี่ คนที่มีเพศสภาพต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีความรักที่อยู่ในข่ายที่จะฉลองกันในวันวาเลนไทน์ทั้งสิ้น และความรักในวันนี้ยังมีความหมายครอบคลุมไปถึงความรักที่ไม่ใช่แต่ความรู้สึกทางเพศอีกด้วย

ในช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมานี้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสารได้เปลี่ยนรูปแบบไป การรู้จักจนกลายเป็นคู่รัก และการส่งความรักให้กันในวันวาเลนไทน์ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย เดี๋ยวนี้ผู้คนส่งความรักให้กันและกันโดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ผู้คนส่งการ์ดอวยพรให้มีความสุขในวันวาเลนไทน์โดยทางออนไลน์ รูปดอกไม้ กุหลาบแดง ข้อความที่ไพเราะกินใจส่งถึงกันอย่างสะดวกเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วกดปุ่ม (น่าเห็นใจบริษัทที่ผลิตการ์ดอวยพรในวันสำคัญต่างๆ ทั้งการ์ดอวยพรวันเกิด การ์ด ส.ค.ส. (ส่งความสุข) ในวันปีใหม่ การ์ดแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ ที่เป็นกระดาษก็ตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว)

วันวาเลนไทน์เมื่อผมเป็นผู้สูงอายุ

มาถึงวันนี้ วันที่ผมได้รับสถานภาพเป็นผู้สูงอายุอย่างเต็มขั้น ผมกำลังมองวันวาเลนไทน์ด้วยความชื่นใจ “วันแห่งความรัก” ...ผมคงไม่ส่งกุหลาบแดงหรือการ์ดวาเลนไทน์ไปให้ใคร ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือของเสมือนจริงที่ส่งทางออนไลน์ และผมก็ไม่คาดหวังว่าจะได้รับดอกไม้หรือข้อความหวานชื่นจากใคร แต่หากจะได้รับคำหวานหรือรูปดอกไม้สวยๆ เพื่อแทนความรักจากผู้ปรารถนาดีคนหนึ่งคนใดบ้าง ผมก็คงต้องขอขอบคุณสำหรับไมตรีจิต

ผมจะมอง “วันแห่งความรัก” ปีนี้ด้วยใจปีติ ความรักในโลกนี้มีอยู่อย่างไม่จำกัดปริมาณ ความรักมีมากเหมือนอากาศที่อยู่รอบตัวเรา ทุกคนสามารถตักตวง “ความรัก” มอบให้กับตัวเองและผู้อื่นมากเท่าไรก็ได้ เราควรมองความรักในความหมายที่กว้าง ความรักในวันวาเลนไทน์...เราจะรักทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะรักทุกคน รักลูก หลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง และผู้คนทั้งหลาย

ผู้สูงอายุอย่างผม จะมอบความรักให้แก่ใครในวันวาเลนไทน์นั้นคงจะต้องกระทำให้เหมาะสมกับ “สังขาร” และสถานภาพทาง “สังคม” ของตนเอง

Happy Valentine’s Day ครับ


  1. ระดับการศึกษาก่อนปี 2505-2506 แบ่งได้ดังนี้ ชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษา (ป.1-ป.4) ชั้นมัธยมต้น (ม.1-ม.3) ชั้นมัธยมปลาย (ม.4-ม.6) ชั้นเตรียมอุดม (ม.7-ม.8) และชั้นอุดมศึกษา (การเรียนในมหาวิทยาลัย)


CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th