จากข้อมูลในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศมีจำนวนถึง 12.0 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด (66.5 ล้านคน) ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) ที่มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดโดยที่สัดส่วนนี้ก็จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ การเตรียมตัวและการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องของคนไทยทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุในปัจจุบันเท่านั้น
ความมั่นคงทางรายได้ หรือการมีแหล่งรายได้ รายรับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพพื้นฐานเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตของคนวัยทำงานปัจจุบันเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องการการวางแผนและการเตรียมตัวล่วงหน้านานพอสมควร โดยเฉพาะในบริบทประเทศไทยที่ยังมีความครอบคลุมของระบบหลักประกันรายได้ยามชราและระบบบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณค่อนข้างจำกัด
สำหรับผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน แหล่งรายได้หลักในยามสูงอายุอันดับ 1 (ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุ พ. ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ยังเป็นรายได้หรือเงินช่วยเหลือจากบุตร (34.7%) อันดับ 2 เป็นรายได้จากการทำงาน (31.0 %) อันดับ 3 กลายเป็นเบี้ยยังชีพจากทางราชการ (20%) ระดับ 4 และ 5 เป็นรายได้จากเงินบำเหน็จบำนาญ และจากคู่สมรสตามลำดับ ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยเงินออม หรือ จากค่าเช่าทรัพย์สินต่างๆเช่นที่ดินที่อยู่อาศัย ของตนเองมีสัดส่วนที่เป็นรายได้หลักของผู้สูงอายุในอันดับท้ายๆ คำถามก็คือ สำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต ซึ่งก็คือคนไทยที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานปัจจุบัน การคาดหวังต่อแหล่งรายได้เหล่านี้ ในการเป็นแหล่งรายได้หลักยามสูงอายุจะยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่ ในสถานการณ์ที่คนไทยแต่งงานช้าลง มีบุตรน้อยลง ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง ประชากรสูงอายุในปัจจุบันที่มีจำนวนมากอยู่แล้วและในอนาคตที่จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปซึ่งหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อไปไม่มีลด สถานการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้คำตอบของคำถามข้างต้นน่าจะชัดเจนอยู่ว่า "เป็นไปได้ยาก" และก็ทำให้น่ารู้เหมือนกันว่า คนวัยทำงานไทยปัจจุบัน คิดเห็นและคาดหวังอย่างไรต่อแหล่งรายได้ของตนเองในอนาคตเมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุ
โครงการวิจัย "ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ" ได้ทำการสำรวจมุมมองความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวในการเป็นผู้สูงอายุด้านต่างๆ ของคนไทยในวัยแรงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นในเรื่องเกี่ยวกับแหล่งรายได้ยามสูงอายุของตนเอง ผลการสำรวจสะท้อนข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ โดยพบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของคนวัยทำงาน (ร้อยละ 71.3) คาดหวัง "พึ่งตนเอง" เป็นหลักจากเงินออม และรายได้จากทรัพย์สินที่เก็บหอม รอมริบ หรือลงทุนไว้ ความคาดหวังที่จะพึ่งพาแหล่งรายได้จาก ลูก หลาน ครอบครัว รวมถึง เครือญาติ มีอยู่ค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 27.3 ของผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด ความคาดหวังต่อการได้รับสวัสดิการและเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51.3 หรือเกินครึ่ง ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากรายได้จากเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง อันดับที่ 3 ที่ร้อยละ 46.4 เป็นความคาดหวังต่อการได้รับเงินหรือสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบํานาญภาครัฐ กองทุนประกันสังคม หรือ การเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ขณะที่สัดส่วนผู้ที่คาดหวังว่าจะยังคงมีรายได้จากการทำงานในวัยสูงอายุ มีเพียงร้อยละ 31.8 (ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าผลจากความไม่คาดหวังที่จะทำงานในวัยสูงอายุ หรือ ความไม่คาดหวังว่ายังจะสามารถทำงานได้ในวัยสูงอายุ)
ผลการสำรวจข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นมุมมองและความตระหนักของคนไทยต่อการเป็นผู้สูงอายุในอนาคตคร่าวๆได้ในระดับหนึ่งว่า ความหวังที่จะพึ่งพาลูกหลานหรือได้รับการเกื้อหนุนจากครอบครัวในอนาคตน่าจะเป็นไปได้น้อยลง การต้องพึ่งตัวเอง ต้องอยู่บนลำแข้งของตนเองจากเงินเก็บออมและการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ น่าจะเป็นชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนรัฐก็ (หวังว่า)น่าจะยังเป็นแหล่งที่พึ่งพาได้ส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่มากแต่ก็ยังดีกว่าไม่มี โดยเฉพาะในรูปแบบสวัสดิการหรือมาตรการเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ แต่ที่น่าจะเป็นโจทย์เพื่อไปหาคำตอบต่อ คงเป็นเรื่องความคาดหวังต่อรายได้จากการทำงาน ว่าทำไมหรือมีสาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้คนไทยคาดหวังที่จะมีรายได้จากการทำงานในวัยสูงอายุเพื่อจุนเจือตนเองเพียงแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ
ภายใต้โครงการวิจัยนี้ ข้อคำถามในการสำรวจ "ความคาดหวัง" ถูกถามตามด้วยข้อคำถามเรื่อง "การวางแผน" ที่คิดไว้และ "การเตรียมตัว" ในปัจจุบันของกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจวัยทำงาน ในโอกาสหน้า ผู้เขียนน่าจะได้นำข้อมูลผลการสำรวจมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านต่อไป เพื่อให้เห็นว่า ในความคาดหวังและความตระหนักที่รู้ว่าต้องพึ่งตนเองมากขึ้นในอนาคต การวางแผนและการเตรียมตัวที่คิดไว้หรือมีบ้างแล้วนั้น มีแนวโน้มน่าจะสามารถตอบโจทย์เพื่อบรรลุความคาดหวังในการพึ่งพาตนเองให้ได้ในยามสูงอายุได้หรือไม่ หรือน่าจะยังมีอะไรที่เป็นช่องว่าง (gaps) มีข้อจำกัดและอุปสรรคอะไร ที่เราทุกฝ่ายน่าจะสามารถช่วยกันแก้ไขและเติมเต็มได้ในช่วงที่น่าจะยังทันการก่อนเราจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือระดับสุดยอดในอนาคต
ที่มา โครงการความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
การอ้างอิงข้อมูลจากบทความนี้
จงจิตต์ ฤทธิรงค์ เฉลิมพล แจ่มจันทร์ พิมลพรรณ นิตย์นรา และณัฐณิชาลอยฟ้า. 2565. ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นครปฐม
ศุทธิดา ชวนวัน
โยธิน แสวงดี
ธีรนันท์ ธีรเสนี
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
ศุทธิดา ชวนวัน
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จรัมพร โห้ลำยอง
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
อมรา สุนทรธาดา
สุชาดา ทวีสิทธิ์
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา