ผมชอบที่จะเริ่มต้นข้อคิด ข้อเขียนของผมด้วยวลีรำพึงรำพันว่า “เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ... เดี๋ยววัน เดี๋ยวเดือน เดี๋ยวปี” วันนี้ขึ้นปีใหม่อีกแล้ว ผมอ่านกลอนที่แต่งไว้เมื่อ 7 ปีก่อน ที่ขึ้นต้นว่า “ปีใหม่ใช่จะมีชีวิตใหม่ เพียงชีพเก่าสั้นไปอีกปีหนึ่ง” มันคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ ชีวิตผมสั้นไปอีกปีหนึ่งแล้ว
ผมมีอายุสูงขึ้น ปีใหม่ 2566 นี้ ผมจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้สูงอายุวัยกลาง” อย่างเต็มตัว แต่ผมก็ยังดีใจที่สามารถจัดตัวเองให้อยู่ในประเภท “ผู้สูงวัยที่มีพลัง” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ผมยังทำงานอยู่อย่างเข้มแข็ง และงานที่ทำเป็นงานประจำ ไม่ใช่งานอดิเรก
ผมใส่ใจติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากรของประเทศไทยและของโลกอย่างสม่ำเสมอ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลประชากรของประเทศไทยเป็นรายเดือน สหประชาชาติให้ข้อมูลประชากรของประเทศต่างๆ ในโลกทั้งข้อมูลในอดีต ปัจจุบัน และคาดประมาณประชากรในอนาคต ข้อเสียของผมคือ เก็บข้อมูลทั้งที่เป็นสถิติตัวเลข และบทความข้อเขียนเกี่ยวกับประชากรไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่เป็นระบบ ผมมักจะให้เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องช่วยรวบรวมไว้
ผมชอบเอาเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประชากรของประเทศไทยและของโลกมาคุยกับเพื่อนร่วมงานรุ่นที่อ่อนวัยกว่า ผมประพฤติอย่างนี้ตั้งแต่นานมาแล้ว
เริ่มตั้งแต่ “50 ล้านประชากรกับการพัฒนา”
ย้อนหลังไปเมื่อ 38 ปีก่อน พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศสู่สาธารณะให้ทราบว่า ในปี 2527 ประเทศไทยมีประชากรครบ 50 ล้านคนแล้ว ตัวเลขห้าสิบล้านเป็นจำนวนที่มีเสน่ห์ อย่างน้อยเลข 5 ก็เป็นเลขที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 1 ถึง 10 จำนวน 50 เท่ากับครึ่งหนึ่งของ 100 “ห้าสิบล้าน” เป็นตัวเลขกลมๆ ที่น่าจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้
เราจัดให้มีการประกวดเรียงความเรื่อง “50 ล้านกับการพัฒนาประชากร” มีผู้ส่งเรียงความเข้าประกวดจากทั่วประเทศมากกว่า 100 ราย เราจัดให้มีรายการสนทนาเรื่อง “50 ล้านประชากรกับการพัฒนา” โดยมีวิทยากรคือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ (นักเขียน) และศาสตราจารย์ นพ.เทพพนม เมืองแมน ถ่ายทอดสดจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ (ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร) วัตถุประสงค์หลักของงานนี้คือ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร การทำสำมะโนประชากรทั่วราชอาณาจักรครั้งแรกเมื่อปี 2453 นับจำนวนประชากรได้เพียง 8 ล้านคน ในปี 2503 สำมะโนประชากรครั้งแรกของสำนักงานสถิติแห่งชาติ นับประชากรในประเทศไทยได้ 26 ล้านคน ต่อจากนั้นอีก 24 ปี ประชากรไทยได้เพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 50 ล้านคนในปี 2527
การเพิ่มขึ้นของประชากรได้กลายเป็นประเด็นสำคัญไปทั่วโลก หลังจากประเทศไทยประกาศ “50 ล้านประชากรกับการพัฒนา” อีก 3 ปีต่อมา สหประชาชาติได้ประกาศว่า โลกมีประชากรครบ 5,000 ล้านคน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530
สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันประชากรโลก” (World Population Day) หลังจากนั้นเป็นต้นมา
รูป: ประชาสัมพันธ์วันประชากรโลก
ที่มา: https://www.dailynews.co.th/articles/1229350/ สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2566
ประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สหประชาชาติได้คำนวณจำนวนประชากรโลกไว้ดังนี้1
หลังจากที่โลกมีประชากรครบ 5,000 ล้านคนแล้ว ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอีก 35 ปีต่อมา ประชากรโลกมีจำนวนครบ 8,000 ล้านคน เมื่อปลายปีกลายนี้ เท่ากับว่าประชากรโลกเพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณเกือบร้อยล้านคน
หลังจากที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 50 ล้านคนแล้ว ประชากรกลับเพิ่มช้าลง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรครบ 60 ล้าน ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 และได้จัดรายการฉลองเด็กเกิดคนที่ 60 ล้าน ถ่ายทอดสดในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
ในรายการนี้มีการอภิปรายเรื่อง 60 ล้านประชากร โดยมีผู้ร่วมอภิปราย 3 คน คือ อธิบดีกรมอนามัย ผู้อำ.นวยการสำ.นักบริหารการทะเบียน และผม ปราโมทย์ ประสาทกุล ในฐานะตัวแทนของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม รายการในเช้าวันนั้นมีการถ่ายทอดสดเด็กที่คลอดเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. จากโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เด็กที่เกิดในช่วงเวลานั้นประมาณ 10 คน ได้รับรางวัลและของขวัญจากกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อปี 2551 ผมเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ประเทศไทยควรมีพลเมืองเท่าไรจึงจะดี”2 ว่าประเทศไทยคงมีจำนวนประชากรไม่ถึง 70 ล้าน และจะมีประชากรจำนวนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 66.5 ล้านคนในอีกประมาณ 20 ปีหลังจากที่ผมเขียนหนังสือเล่มนั้น
เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น คือ เมื่อปี 2563 ประชากรสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนมีจำนวนประมาณ 66.5 ล้านคน ถ้านับรวมแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอีกราวอย่างน้อย 3 ล้านคนก็จะมีประชากรอยู่ในประเทศไทยในปีนั้นประมาณ 69.5 ล้านคน (หรือพูดตัวเลขคร่าวๆ ว่าประมาณ 70 ล้านคน)
เดี๋ยวนี้ สำนักบริหารการทะเบียนฯ ทำงานมีประสิทธิภาพมาก ยังไม่ทันพ้นอาทิตย์หลังจากวันขึ้นปีใหม่ 2566 กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ก็ได้ประกาศข้อมูลจำนวนประชากรเป็นรายอายุ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมถึงจำนวนเด็กเกิดและ จำนวนคนตายในปี 2565 เป็นสถิติตัวเลขประชากรและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันในเว็บไซต์ของกรมการปกครอง (https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMenu/newStat/home.php) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และความคิดริเริ่มของสำนักบริหารการทะเบียนฯ (โดยเฉพาะคุณสุรชัย ศรีสารคาม) ที่ปรับระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับทิศทางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก ดังนั้นเพียงวันที่ 3 หรือ 4 ของเดือนมกราคม พวกเราก็ได้รับทราบข้อมูลประชากรในทะเบียนราษฎร จากเว็บไซต์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว
สำนักบริหารการทะเบียนฯ ได้ประกาศว่า เมื่อสิ้นปี 2565 มีราษฎรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน 66 ล้านคน และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในปี 2565 มีเด็กเกิด 502,107 คน น้อยกว่าเด็กเกิดในปี 2564 ถึง 4 หมื่นคน มีคนตายในปี 2565 มากถึง 595,965 คน มากกว่าคนตายในปี 2564 ถึง 3 หมื่นคน
ตัวเลขจำนวนคนเกิด และคนตายในปี 2565 ทำให้พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ตื่นเต้น เหมือนกับที่เคยตื่นเต้นมาแล้วเมื่อช่วงอาทิตย์แรกของปีใหม่ปีก่อน ความจริงพวกเราได้ติดตามจำนวนคนเกิดและคนตายที่สำนักบริหารการทะเบียนฯ รายงานเป็นรายเดือนมาตลอดทั้งปี จำนวนเกิดภายในปี 2565ต่ำกว่าของปี 2564 เกือบทุกเดือน (ยกเว้นเดือนมกราคม) ในขณะที่จำนวนคนตายรายเดือนในปี 2565 สูงกว่าของปี 2564 มาโดยตลอด
ประชากรที่มีคนตายมากกว่าคนเกิดในแต่ละปี ย่อมหมายถึงประชากรนั้นจะลดจำนวนลง ถ้าไม่นับรวมการย้ายถิ่นจากภายนอกเข้ามาอยู่ในประชากรกลุ่มนั้น
ปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ 2 ที่คนตายมากกว่าคนเกิดเป็นการยืนยันว่า ประชากรไทยได้เริ่มลดจำนวนลงแล้ว เรามั่นใจว่า นับแต่นี้ต่อไปอัตราตายของประชากรไทยจะเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนคนตายจะเพิ่มมากขึ้นเลยหลัก 6 แสน และน่าจะถึงหลัก 7 แสนคนในไม่ช้า สาเหตุสำคัญคือ ผู้สูงอายุที่เป็นคนรุ่นเบบี้บูมมีจำนวนมากขึ้น
ปี 2566 นี้ คลื่นของประชากรรุ่นเกิดล้านได้เริ่มเคลื่อนตัวกลายเป็นผู้สูงอายุแล้ว ในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กเกิดจะลดลงไปอีกจนต่ำกว่าหลัก 5 แสนคน เพราะผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีจำนวนน้อยลง และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่เอื้อต่อการมีลูกมาก
ที่มา
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กาญจนา เทียนลาย
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
กาญจนา เทียนลาย
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
อมรา สุนทรธาดา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กาญจนา เทียนลาย