The Prachakorn

“Gen Z” ผู้จะมาพลิกผันโลกการทำงาน


มนสิการ กาญจนะจิตรา

18 สิงหาคม 2565
966



เจเนอเรชัน คือการแบ่งรุ่นประชากร ตามลักษณะการเติบโตภายใต้บริบททางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ละรุ่นจึงมีลักษณะนิสัย พฤติกรรม แนวคิด การให้คุณค่าต่างๆ ที่แตกต่างกันไป ปัจจุบัน กลุ่มเจเนอเรชันของประชากรโลกสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เบบี้บูมเมอร์ เจเนอเรชันเอกซ์ เจเนอเรชันวาย เจเนอเรชันซี และเจเนอเรชันแอลฟา

เจเนอเรชันซี หรือ เจนซี (Gen Z) เป็นกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 2540 – 2553 (ปีนี้อายุ 12 – 25 ปี) เป็นกลุ่มประชากรที่เริ่มทยอยจบการศึกษาและเริ่มเข้าทำงาน จึงเป็นกลุ่มที่กำลังมีบทบาทสำคัญในโลกแห่งการทำงาน เจนซีแตกต่างกับประชากรรุ่นก่อนๆ อย่างไร บทความนี้ จึงอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับเจนซีให้มากขึ้น

ความโดดเด่นของเจนซี คือเป็นรุ่นที่เติบโตมากับเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ประชากรกลุ่มนี้คุ้นชินกับโลกที่มีอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสื่อสังคมมาตั้งแต่อายุน้อย เจนซีจึงไม่ใช่เพียงใช้เทคโนโลยีคล่อง แต่เป็นเจนที่มีความเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างแท้จริง

การเติบโตมาในโลกที่มีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ส่งผลต่อพฤติกรรม แนวคิด และการให้คุณค่าของคนเจนซี ประชากรกลุ่มนี้พึ่งพาเทคโนโลยีสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นในชีวิตประจำวัน พวกเขาไม่ได้มองโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตทั้งหลายเป็นเพียงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตน อีกทั้งการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้ได้รับอิทธิพลความคิดจากวัฒนธรรมและสื่อสังคมบนโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก เจนนี้รับรู้ถึงประเด็นทางสังคมจากรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นความเป็นธรรม ทางเพศ สิทธิมนุษยชน หรือการตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อม คนเจนซี จึงเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเป็นธรรม ความมีเสรีภาพในการแสดงตัวตน และมีแนวโน้มยอมรับต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย

เจนซีเป็นรุ่นที่ชัดเจนในความต้องการของตนเอง จากประสบการณ์การได้เห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตนเองทำ.งานหนักจนไม่มีเวลาส่วนตัว ทำให้เจนซีให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เจนซีต้องการการทำงานที่เคารพเวลาส่วนตัว ไม่ก้าวก่ายในชีวิตนอกเวลางานการมีสวัสดิการที่ให้วันลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการทำงานที่ยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งที่เจนซีให้ความสำคัญ นอกจากนี้ เจนซีให้ความสำคัญกับการมีอุดมการณ์ จึงต้องการทำงานในองค์กรที่สร้างความแตกต่างในสังคม และตัวองค์กรต้องมีแนวดำเนินธุรกิจที่สะท้อนกับแนวคิดและการให้คุณค่าของตนเอง  

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความคาดหวังที่เจนซีมีต่อองค์กรที่ตนอยากทำงานด้วย หากองค์กรนั้นไม่เป็นไปตามความคาดหวังเจนซีก็พร้อมที่จะออกจากองค์กรนั้นๆ และหาโอกาสใหม่ๆ ตรงนี้เป็นความแตกต่างสำคัญของเจนซีจากเจเนอเรชันอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเจนซีเป็นพลเมืองดิจิทัล พวกเขาจึงเล็งเห็นช่องทางโอกาสในการประกอบอาชีพได้กว้างขวางบนโลกออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน หากองค์กรใดเป็นไปตามความคาดหวัง เจนซีก็พร้อมที่จะทุ่มทำงานอย่างหนักเพื่อองค์กรนั้น

เจนซี เป็นกลุ่มที่มีความทุ่มเทกับงาน และมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะด้วยตนเองสูง จากการเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วยตนเอง ตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของเจนซี ที่สามารถเล็งเห็นจุดที่ต้องการพัฒนาตนเอง และสามารถหาแหล่งเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือในจุดนั้นๆ เองได้

อีกไม่นาน เจนซีจะมามีบทบาทในโลกแห่งการทำงานมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สำหรับองค์กรต่างๆ ที่กำลังรับพนักงานรุ่นใหม่ที่เป็นเจนซีเข้ามา ต้องเข้าใจลักษณะของประชากรรุ่นนี้ และอาจต้องมีการปรับตัว เช่น การให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตของพนักงานการให้ความยืดหยุ่น การรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของจริยธรรมการดำเนินธุรกิจ จะเป็นสิ่งดึงดูดเจนซี และเป็นแรงผลักดันให้เจนซีเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไปข้างหน้าในอนาคต

ภาพ: เจนซี กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
ที่มา: https://www.freepik.com/photos/company-team สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2565    


อ้างอิง

  • https://www.forbes.com/sites/markcperna/2022/05/12/5-ways-that-satisfying-the-gen-z-workforce-can-help-every-other-working-generation/?sh=2a6ce066110c
  • https://www.bbc.com/worklife/article/20220613-gen-z-the-workers-who-want-it-all
  • https://connecteam.com/generation-z-in-the-workplace/
  • https://www.metlife.com/workforce-insights/3-ways-gen-z-employees-are-transforming-the-workforce/
  • https://www.talentlms.com/research/gen-z-workplace-statistics

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th