The Prachakorn

การนำเข้าประชากร 200,000 คน วิกฤตหรือโอกาส


อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

01 สิงหาคม 2565
755



“ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าประชากรปีละ 200,000 คน เพื่อบรรเทาปัญหาประชากรที่ลดน้อยลง”….. เราจะพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร เมื่อไร และจะถือว่ามันเป็นวิกฤตหรือโอกาส

เมื่อต้นปีนี้ อีลอน มัสก์ ได้แสดงความคิดเห็นด้วยความตกใจว่า จากปัญหาที่ประชากรประเทศญี่ปุ่นมีการเกิดน้อยลง ประเทศญี่ปุ่นอาจจะสิ้นสุดลง ซึ่งจะเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของโลก

ความคิดเห็นนี้แม้จะเป็นสิ่งที่น่าตกใจไปทั่วโลก แต่แทบจะไม่มีผู้ใดกังวลเลยว่า ประเทศอันดับ 2 ของโลกที่จะเผชิญกับปัญหานี้อย่างแน่นอนเช่นกัน และอาจจะเป็นปัญหารุนแรงยิ่งกว่า คือประเทศใด

จริงๆ แล้วในปี 2563 นักวิชาการของ The Lancet (Vollset et. al.,2020) ได้เปิดเผยตัวเลขการคาดประมาณประชากรของประเทศต่างๆ ในโลก จากปัจจุบันจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 สนับสนุนข้อมูลของสหประชาชาติ ที่พบว่าประเทศอันดับสองรองจากญี่ปุ่น คือประเทศไทยนั่นเอง การคาดประมาณครั้งนี้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า 3 ประเทศแรกที่จะพบปัญหาน่ากังวลมากที่สุด คือจะมีจำนวนประชากรลดลงจากปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ประเทศเหล่านั้นก็คือ ญี่ปุ่น ไทย และ สเปน ตามลำดับ

รายงานนั้นกล่าวว่า ประชากรของประเทศไทยจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 30 กว่าล้านคนเท่านั้น และในทางตรงข้าม ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดต่ำกว่าระดับทดแทนเช่นกัน ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ ต่างกลับจะมีประชากรเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศเหล่านี้มีนโยบายและเป้าหมายจำนวนคนเข้าเมืองอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินนโยบาย replacement migration มาเป็นเวลานาน นานก่อนที่สหประชาชาติจะได้กล่าวเสนอไว้เมื่อปี 2001 (United Nations, 2001) ให้เป็นเครื่องมือทางประชากรกับประเทศที่เริ่มมีปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้จะรักษาความมั่นคงทางจำนวนประชากรไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบ เกิดเป็นวิกฤตระดับชาติกันทุกประเทศ มากน้อยต่างกัน วิกฤตนี้เกิดจากการขัดแย้งระหว่างเจ้าของประเทศกับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่ มีรากฐานจาก Xenophobia ขยายผลเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างลัทธิเก่าด้านประชาธิปไตยเสรีนิยมกับลัทธิประชาชาตินิยม (National Populism) ที่เกิดขึ้นใหม่และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากกรณีของ Brexit และกรณีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์

ภาพ: โค้ชเช นายชัชชัย ชเว ตอนได้สัญชาติไทย (ที่มา: YOUTUBE-TNN Online Feb 5, 2565 BE) และนายอุดม สุขเสน่ห์ ผู้อู้คำเมือง ช่วยชาวบ้าน ตอนได้สัญชาติไทย (ที่มา: YOUTUBE-Thai PBS News Feb 14, 2563 BE)

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตเหล่านี้จะไม่รุนแรง หากนโยบายการนำเข้าประชากรทำอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น โดยมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทำงานสอดคล้องกัน มีหน่วยงานระดับกระทรวงเป็นเจ้าภาพและดำเนินงาน ตั้งแต่กระบวนการในการตั้งเป้าหมายจำนวนประชากรที่จะนำเข้ารายปี การดูจังหวะเวลา การจัดทำนโยบายสาธารณะ การสร้างการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกประชากรที่จะนำเข้า การจัดทำโครงการการบูรณาการประชากรผู้มาใหม่กับประชากรของประเทศ ทั้งในทางสังคมและภูมิศาสตร์ การติดตามและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ และการเยียวยาผลกระทบกับทุกๆ ฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ ขั้นตอนประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจจะมีส่วนสำคัญที่สุดของความสำเร็จ และสามารถสร้างโอกาสใหม่ที่ประเทศจะได้รับ โดยสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตจากลัทธิประชาชาตินิยมดังที่กล่าวมาแล้ว

ที่สำคัญคือวัตถุประสงค์ของการนำเข้าประชากรต้องเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ แก้ปัญหาความยากจนและปัญหาประชากรชายขอบ ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว เป้าหมายใหญ่คือการสร้างความสุขของคนในชาติโดยรวม ส่งเสริมประชาสังคมให้เข้มแข็ง ให้เกิดการพัฒนาเมืองและชนบทไปพร้อมๆ กัน เกิดทั้ง technology transfer และ social and cultural transmission และ globalization ที่ดีที่ควร โดยสรุปคือการตั้งเป้าหมายใหญ่เพื่อการพัฒนาทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ เพื่อให้เป็นสังคมแห่งความสุขโดยรวม

สำหรับเป้าหมายเชิงปริมาณและกระบวนการในการตั้งเป้าจำนวนประชากรต่างชาติเพื่อให้สัญชาติไทย สามารถตั้งเป้าได้ปีละ 200,000 คน เป็นการคำนวณคร่าวๆ (ยังไม่ได้ใช้ cohort component method) ใน 80 ปี จะได้ประชากรไทยเข้ามา 16 ล้านคน เท่ากับการทดแทนประมาณ 50% ของประชากรที่หายไป เนื่องจากการทดแทนไม่จำเป็นต้องทดแทนทั้งหมด 100% เพราะประเทศสามารถใช้นโยบายอื่นๆ ร่วมด้วยได้เช่น การรณรงค์ส่งเสริมการเกิดอย่างต่อเนื่อง การสร้างสังคม active ageing การพัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง การเลื่อนอายุเกษียณ และการใช้ technology รวมทั้ง robot และ AI ตลอดจนการแบ่งปันทรัพยากรกันในระบบภูมิภาค เช่น ในอาเซียนด้วยกัน เป็นต้น

วัตถุประสงค์ จำนวน หน่วยงานรับผิดชอบ
เพื่อป้อนให้กับโครงการพัฒนาระดับชาติ เช่น ECC 20,000 คณะรัฐมนตรี
เพื่อนำเข้าประชากรคุณภาพให้กับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จิตวิญญาณ สุขภาวะ และการเชื่อมโยงกับประชากรในพื้นที่ 20,000 รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อเชื่อมโยงกับ SME ในพื้นที่ 160,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,850 แห่ง
รวม 200,000  

ในตารางที่เสนอไว้นี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ จำนวนประชากรที่จะนำเข้า และหน่วยงานระดับบนที่สมควรเป็นผู้ให้นโยบายหรือผู้รับผิดชอบ วัตถุประสงค์แรกคือ ป้อนประชากรหรือแรงงานให้กับโครงการพัฒนาระดับชาติ เช่น EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งอาจจะเป็นแรงงานระดับสูงหรือระดับผู้บริหาร หรือผู้ลงทุนที่ได้รับสิทธิพิเศษอยู่อาศัยระยะยาว และการถือครองที่ดิน นำไปสู่การคัดสรรให้สัญชาติไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด จำนวนประมาณ 20,000 คน บริหารโดยคณะรัฐมนตรี

วัตถุประสงค์ที่ 2 คือ การนำเข้าประชากรที่เลือกสรรตามคุณภาพเพื่อการพัฒนาทางสังคม สิ่งแวดล้อม ภาษาและวัฒนธรรม จิตวิญญาณ สุขภาวะ และเป็นประชากรต่างชาติที่สามารถเชื่อมโยงกับประชากรในพื้นที่แต่ละจังหวัด ประมาณ 20,000 คนเช่นกัน บริหารจัดการภายใต้การกำกับโดยรัฐสภา ซึ่งอาจจัดเป็นโควตาแต่ละปีสำหรับสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

และวัตถุประสงค์ที่ 3 คือการคัดสรรประชากรต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศทั้ง 7,850 แห่ง โดย อปท. เหล่านั้นเป็นผู้บริหารการคัดสรรเองตามโควตาจากขนาดของประชากรของ อปท. จัดทำนโยบายสาธารณะกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ได้ประชากรต่างชาติที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและความต้องการของ SME (Small and Medium Enterprises)
ในพื้นที่

การตั้งเป้าเชิงปริมาณตามที่กล่าวมานี้ เป็นการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตทางประชากรของประเทศที่เรารู้ได้ก่อนอย่างจริงจังและรวดเร็ว วิกฤตนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นปัญหาระยะยาว แต่จริงๆ แล้ว การเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เป็นการได้เปรียบทุกด้าน และการมีเวลาในการปรับกระบวนการให้ถูกต้อง มีความสำคัญยิ่ง ถ้ารอไปและไปรีบเร่งตามกระแสในภายหลัง จะเกิดปัญหาลัทธิประชาชาตินิยมดังตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ทำมาก่อน ปัจจุบันเรามีโอกาสเรียนรู้ และออกแบบแนวทางปฏิบัติของประเทศเราเองได้โดยการเริ่มพิจารณาประเด็นต่างๆ ให้รอบด้านตั้งแต่ตอนนี้ แล้วเราก็จะสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอันดียิ่งได้อย่างแน่นอน

ลองนึกภาพดูว่าเราจะมีความสุขแค่ไหนที่จะได้บุคคลคุณภาพ อย่างเช่น โค้ชเช (คุณชัชชัย ชเว) และคุณอุดม สุขเสน่ห์ มาอยู่กับเราปีละ 200,000 คน


อ้างอิง

  • Vollset, S. E. et. al, Fertility, mortality, migration, and population scenarios for 195 countries and territories from 2017 to 2100: a forecasting analysis for the Global Burden of Disease Study, The Lancet VOLUME 396, ISSUE 10258, P1285-1306, OCTOBER 17, 2
  • United Nations. Department of Economic and Social Affairs. Population  Division. Replacement Migration: Is it a Solution to Declining and Ageing Populations? vol. no. 206, United Nations, New York, 2001.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th