The Prachakorn

คนไทยที่ชื่อไม่อยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำ


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

26 มีนาคม 2564
903



คุณเชื่อหรือไม่ว่า ราว 1 ใน 10 ของคนไทยนั้นไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำ? (ในทางวิชาการ เราเรียกคนที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ว่า “ประชากรแฝง”) คำถามนี้ ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้คงรู้สึกลังเลที่จะตอบว่าเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นแน่ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่เป็นไรค่ะ ลองค่อย ๆ ติดตามเนื้อหาข้างล่าง แล้วผู้อ่านคงได้รับคำตอบด้วยตนเองในที่สุด

มาเริ่มหาคำตอบด้วยการทำความรู้จักและเข้าใจ “ประชากรแฝง” กันก่อนดีกว่า

ก่อนอื่น ขอเริ่มต้นจากคำว่า “แฝง” ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายไว้ว่าเป็นได้ทั้งคำกริยา และคำวิเศษณ์ ถ้าเป็นคำกริยา “แฝง” จะหมายถึง หลบ แอบ ซ่อน เร้น โดยอาศัยสิ่งกำบัง แต่ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ “แฝง” จะหมายถึง เคลือบคลุม ที่ซ่อนเร้น เช่น ความร้อนแฝง ดังนั้น ในทัศนะของผู้เขียน เมื่อเรานำคำว่า “แฝง” มาต่อท้าย “ประชากร” ให้กลายเป็น “ประชากรแฝง” ก็น่าจะมีความหมายตรงที่สุด นั่นคือ ประชากรที่ซ่อนเร้น

ลักษณะที่โดดเด่นของประชากรแฝง คือ เป็นกลุ่มประชากรที่นับได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปนับใคร นับที่ไหน และนับอย่างไร ความยากเช่นนี้นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่ต้องการรู้หรือต้องการใช้ตัวเลขเกี่ยวกับประชากรแฝง ซึ่งก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนักนโยบายหรือนักวางแผน โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการจัดทำผังเมืองรวมของพื้นที่ต่าง ๆ เพราะการทำผังเมืองเป็นการจัดชุมชนหรือเมืองให้เป็นระบบระเบียบ เรียบร้อยสวยงาม ถูกสุขลักษณะ มีการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและไม่ปนเปกัน และยังรวมไปถึงเรื่องของการคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่เพียงพอและตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับความต้องการของคนทุกคนในชุมชนนั้น ๆ  ขอเน้นนะคะ ความต้องการของคนทุกคนในชุมชน โดยนัยยะนี้ ต้องรวมถึงประชากรแฝงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเลขประชากรแฝงจึงมีความสำคัญไม่แพ้ตัวเลขประชากรอื่น ๆ เมื่อเป็นดังนี้ นักประชากรก็มักเป็นผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะสามารถช่วยนักนโยบายหรือนักวางแผนในการหาตัวเลขประชากรแฝงให้แสดงออกมาได้

เมื่อนักประชากรมองประชากรแฝง

นักประชากรมองประชากรแฝงว่าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยที่ผู้นั้นมีหลักฐานการอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งหลักฐานการอยู่อาศัยก็คือการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั่นเอง เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ประชากรแฝงจึงรวมทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่อย่างเปิดเผย คือย้ายที่อยู่แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้านตาม กับผู้คนที่เข้ามาอยู่อย่างหลบซ่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม (มักเป็นพวกผิดกฎหมาย) โดยตัวประชากรแฝงเอง ยังแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า “ประชากรแฝงกลางวัน” เป็นผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ในเวลากลางวันเพื่อเรียนหนังสือหรือทำงาน หรือเป็นผู้ที่เดินทางไป-กลับ (commuter) ระหว่างวัน ส่วนอีกประเภทเรียกว่า ”ประชากรแฝงกลางคืน” เป็นผู้ที่เข้ามากินอยู่หลับนอนอย่างถาวร (แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านตามมา) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้เขียนได้นำมาเป็นหัวเรื่องของบทความนี้

แล้วจะนับคนที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำได้อย่างไร

ไม่ยากเลยค่ะ เพียงการถามถึงสมาชิกทุกคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ๆ ว่าแต่ละคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังนั้นหรือไม่ การถามเพียงเท่านี้ ก็สามารถให้คำตอบได้แล้ว ว่าใครบ้างมีชื่อและใครบ้างไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่คนๆ นั้นอาศัยอยู่ประจำ การถามที่ดูเหมือนไม่ยาก แต่ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ ลักษณะคำถามเช่นนี้เพิ่งเริ่มมีครั้งแรกในการทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) หรือเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนเท่านั้น

สำหรับข้อคำถามที่ใช้ถามเป็นดังนี้ “......(ชื่อ)..... มีชื่อในทะเบียนบ้านนี้หรือไม่” ซึ่งตัวเลือกของคำตอบมีอยู่ 5 ตัวเลือก คือ 1) มีอยู่ที่บ้านนี้ 2) มีอยู่ที่อื่นแต่จังหวัดนี้ 3) มีอยู่ที่จังหวัดอื่น 4) ไม่มีในประเทศไทย แต่มีในประเทศอื่น และ 5) ไม่มีที่ใดเลย โดยคำตอบข้อ 3) ถึงข้อ 5) เท่านั้น ที่บอกให้ทราบว่ามีคนอยู่มากน้อยเพียงใดที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำของพื้นที่จังหวัดหนึ่ง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจำนวนประชากรแฝงกลางคืนนั่นเอง ซึ่งจากการทำสำมะโนฯ พ.ศ. 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานว่าจากประชากรในประเทศไทยที่นับได้ทั้งหมด 65.9 ล้านคนนั้น 8.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 เป็นผู้ที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำ หรือเป็นประชากรแฝงตามความหมายที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำถามการมีชื่อในทะเบียนบ้านจะให้ภาพของประชากรแฝง (กลางคืน) ซึ่งทำให้เราทราบว่าจังหวัดหนึ่ง ๆ มีประชากรแฝงมากน้อยเพียงใด แต่เราจะไม่ทราบว่าแล้วคนในจังหวัดนั้นไปแฝงอยู่ที่จังหวัดอื่นใดบ้าง ดังนั้น หากต้องการทราบว่าในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีคนที่มีชื่อตามทะเบียนบ้านของจังหวัดนั้นไปอาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นใด ก็ต้องมีการสอบถามเพิ่มเติมสำหรับคำตอบที่เป็นตัวเลือกที่สาม “3) มีอยู่ที่จังหวัดอื่น” โดยถามว่า “จังหวัดอะไร”

หลังจากปี 2553 มีข้อมูลคนที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำอีกหรือไม่?

คำตอบคือ มีค่ะ ....... หลังจากสำมะโนฯ พ.ศ. 2553 แล้ว สสช. ได้เริ่มมีการสำรวจประชากรแฝงอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2557 ด้วยการนำคำถามการมีชื่อในทะเบียนบ้านเพิ่มเข้าไว้ในแบบสอบถามการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรที่ทำเป็นประจำทุกปี คำถามที่ให้ภาพประชากรแฝงมีทั้งหมดด้วยกัน 3 ข้อ เป็นคำถามหลัก 1 ข้อ และคำถามที่เกี่ยวเนื่องอีก 2 ข้อ และทุก ๆ ปีอีกเช่นกัน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2557) ที่ได้มีรายงานผลการสำรวจประชากรแฝงให้ผู้ที่สนใจได้สามารถเข้าไปสืบค้นผ่านทางเว็บไซต์ของ สสช.


รูป: คำถามการสำรวจประชากรแฝงที่เพิ่มไว้ในการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร

ผู้เขียนได้เข้าไปสืบค้นรายงานการสำรวจประชากรแฝง พ.ศ. 2557 – 2562 พบว่า ร้อยละประชากรแฝงกลางคืน ซึ่ง สสช.ได้ให้คำจำกัดความว่าหมายถึง “ผู้ที่อาศัยอยู่ประจำในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่อาศัยอยู่ประจำ ซึ่งอาจจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดอื่น ในต่างประเทศ หรือไม่มีชื่อที่ใดเลย” เป็นดังนี้

พ.ศ. ร้อยละประชากรแฝงกลางคืน
2557 9.9
2558 10.7
2559 10.3
2560 10.0
2561 9.9
2562 10.1

ที่มา: รายงานการสำรวจประชากรแฝง พ.ศ. 2557 – 2562, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากตารางตัวเลขที่ผู้เขียนรวบรวมและนำมาแสดงให้เห็นนั้น แต่ละปีมีร้อยละของคนกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันนัก คือ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 (ค่าเฉลี่ย 6 ปีเท่ากับ 10.2) ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเชื่อได้แล้วนะคะว่า ราว 1 ใน 10 ของคน (ที่อาศัยอยู่ในประเทศ) ไทยนั้นไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ตนอาศัยอยู่ประจำ

ภาพประกอบ freepik.com



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th