ไม่ใช่แค่อายุเท่านั้นที่ทำให้ Gen Z ได้เข้ามาเป็นพนักงานใหม่ในองค์กร เพราะเขามาพร้อมกับศักยภาพที่นายจ้างต้องการ ด้วยความเป็นคนชนเผ่าดิจิทัลอย่างแท้จริง เพราะคน Gen Z เกิดมาในยุคที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่รอบตัว รู้จักทุกช่องทางสื่อสาร ฉลาดพอที่จะระมัดระวัง และปรับตัวได้กับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น และถึงแม้ Gen Z จะเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน แต่เขาไม่ใช่สตรอเบอรี่ที่จะบอบช้ำได้ง่ายๆ อย่าลืมว่าเขานั่งมองน้ำท่วมในย่านศูนย์กลางทางการเงินในช่วงวัยรุ่น โตมาพร้อมกับวิกฤตการเมืองแบบมาราธอน และได้มองเห็นภาพความล่มสลายของระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จึงจะเลือกทางเดินชีวิตแบบระมัดระวัง ไม่ตกใจง่าย ไม่เพ้อฝัน วางเป้าหมายในการทำงานบนฐานของความเป็นจริง เขามีแรงจูงใจในตนเอง และ มีทักษะในการจัดการปัญหาได้เป็นอย่างดี
ภาพโดย อวิรุทธ์ สิริสินวิบูลย์ - ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากบุคคลในภาพ
ความต้องการและความคาดหวังของคน Gen Z กำลังจะเปลี่ยนภาพโลกแห่งการทำงาน ไปสู่มิติใหม่ ด้วยค่านิยม ทัศนคติ และประสบการณ์แวดล้อมที่แตกต่างจากคนทำงานรุ่นพี่ ส่งผลให้ความคาดหวังและเป้าหมายในการทำงานของคน Gen Z แตกต่างไป ผลการสำรวจภายใต้โครงการองค์กร 4G มีสุข2 ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคนทำงาน Gen-Z ที่นายจ้างควรจะรู้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นคนทำงานรุ่นใหม่ในองค์กร
วันเวลาได้พาเรามาถึงจุดที่การจ้างงานระยะยาว (lifetime employment หรือ long-term employment) ไม่ใช่เป้าหมายที่คนรุ่นใหม่คาดหวังจากองค์กร โดยร้อยละ 65.3 ของกลุ่มตัวอย่าง Gen Z วาดภาพตนเองเกษียณจากธุรกิจส่วนตัว และ อีกร้อยละ 6.7 เกษียณจากการเป็นฟรีแลนซ์ มีเพียงร้อยละ 14.9 คาดหวังที่จะเกษียณจากองค์กรภาครัฐ และ 5.7 จากองค์กรเอกชน
ภาพที่ 1 งานสุดท้ายที่ทำก่อนเกษียณ ในภาพวาดการทำงานของ Gen Z (N=475)
ลักษณะเด่นของ Gen Z คือ มีความเป็นอิสระ เชี่ยวชาญเทคโนโลยี มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เรียนรู้เร็ว ทันสมัย และคิดนอกกรอบ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นที่ต้องการของบริษัทน้อยใหญ่ ถ้าGen Z พกทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการทำงาน จะยิ่งผลักดันให้องค์กรก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน แต่ทักษะเหล่านี้ ก็เหมาะมาก ที่จะนำมาใช้สร้างกิจการของตนเอง ด้วยความที่คนกลุ่มนี้มีทักษะการประกอบการสูง (high entrepreneurship skill) การเป็นผู้ประกอบการเสียเองก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ร้อยละ 16.4 ของปัญญาชน Gen Z มุ่งมั่นว่างานแรกของเขา คือ ทำธุรกิจส่วนตัว อีกร้อยละ 4.6 จะเริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ และร้อยละ 2.9 จะนำทักษะที่มีคุณค่าของตนเองนี้ ไปสร้างความก้าวหน้าให้กับที่บ้าน ด้วยการทำงานในธุรกิจครอบครัว เรียกได้ว่า 1 ใน 4 ของ Gen Z จะเริ่มชีวิตการทำงานด้วยลำแข้งของตนเอง
แม้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของ Gen Z (ร้อยละ 63.9) จะเริ่มงานแรกในภาคการทำงานปกติ คือ ทำงานให้กับภาครัฐและองค์กรเอกชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจุดหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะลาออกเป็นส่วนใหญ่ และผันตัวเป็นผู้ประกอบการ หรือเลือกเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อควบคุมเป้าหมายและกำหนดความก้าวหน้าในงานด้วยตนเอง ผลการสำรวจชี้ว่า ร้อยละ 64 ของ Gen Z ที่เลือกรับราชการเป็นงานแรกในชีวิต และร้อยละ 77 ที่เริ่มงานกับองค์กรเอกชน ไม่ได้คาดหวังที่จะอยู่กับองค์กรเหล่านี้ไปจนเกษียณ แต่มุ่งหวังที่จะเกษียณจากกิจการของตนเองหรือทำงานอิสระจากการเป็นฟรีแลนซ์
ภาพที่ 2 งานแรกที่ทำเมื่อจบการศึกษา ในภาพวาดการทำงานของ Gen Z (N=475)
การย้ายงานแต่ละครั้ง มีความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เพราะการย้ายงาน ทำให้คนทำงานต้องเปลี่ยนเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อม และรายได้ แต่สำหรับคน Gen Z ที่โตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น การย้ายงานเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตการทำงานของเขา โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83) คาดหวังว่าตนเองจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัทอย่างน้อย 1 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ไม่ได้คาดหวังจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัทเลย ในตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเขา
ภาพที่ 3 จำนวนครั้งที่คาดหวังจะเปลี่ยนนายจ้างหรือย้ายบริษัท ในตลอดช่วงชีวิตการทำงาน (N=347)
เราทุกคนกำลังเดินอยู่บนช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่รู้อนาคต แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ โลกของวันพรุ่งนี้ไม่มีทางจะเหมือนกับเมื่อวาน ภายใต้สภาวะของความไม่แน่นอน และวิกฤตภัยคุกคามที่คาดเดาไม่ได้ องค์กรที่จะอยู่รอดได้ ไม่ใช่องค์กรที่มีแผนกลยุทธ์ล้ำเลิศที่วางไว้ล่วงหน้า แต่เป็นองค์กรที่มีความสามารถในการรับรู้อย่างต่อเนื่อง และตอบสนองต่อข้อมูลใหม่ได้อย่างทันท่วงที ความพร้อมของคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดความอยู่ “รอด” หรือ “ร่วง” ให้กับองค์กร การมีคนทำงานที่ใช่จะช่วยให้องค์กรผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้
หาก Gen Z มีทักษะที่องค์กรของคุณต้องการ การบริหารจัดการรูปแบบการทำงานและสวัสดิการเพื่อดึงดูดคนทำงาน Gen Z เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
อ้างอิง
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ชณุมา สัตยดิษฐ์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
สุภาณี ปลื้มเจริญ
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
ปรียา พลอยระย้า
พิมลพรรณ นิตย์นรา