The Prachakorn

แอบดูนักวิชาการเถียงกันเรื่องเสรีภาพและการแบนสารอาหาร: กรณีไขมันทรานส์


วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์

10 พฤษภาคม 2565
684



ในขณะที่หลายๆ ประเทศยังคงลังเลว่าจะ “แบน” ไขมันทรานส์ดีไหม ประเทศไทยได้ประกาศชัยชนะในการกำจัดไขมันทรานส์ผ่านการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นประกาศ “ห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ร่วมกันว่า นักวิชาการในต่างประเทศเขาเคยเถียงกันเรื่องอะไร จึงทำให้การกำหนดนโยบายที่ (น่าจะ) ดีต่อสุขภาพของประชากรติดหล่มไม่ไปไหนสักที ผ่านดราม่าเกี่ยวกับการแบนไขมันทรานส์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Bioethics ในปี ค.ศ.2010


ที่มา: https://www.freepik.com/free-photo/trans-fats-free-lifestyle-concept_16482372.htm#query=trans%20fat%20free&position=10&from_view=search

จุดเริ่มต้นของดราม่าเกิดขึ้นเมื่อ David Resnik ได้เขียนบทความเรื่อง “เสรีภาพและการแบนไขมันทรานส์” โดยได้โจมตีการแบนไขมันทรานส์ว่าอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ฟาง (slippery slope) เนื่องจากเป็นการ “เปิดประตูให้รัฐมีอำนาจควบคุมอาหาร ซึ่งเป็นการจำกัดทางเลือกเกี่ยวกับอาหารและส่งผลกระทบต่อประเพณี”1 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรายอมให้รัฐแบนไขมันทรานส์ได้ ต่อไปเราก็ต้องยอมให้รัฐแบนสารอาหารอื่นๆ ได้ (และต่อไปก็ต้องยอม “ทน” กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่อไป)

พอมีนักวิชาการคนหนึ่งพูดมาอย่างนี้ นักวิชาการคนอื่นๆ ก็ได้แห่แหนกันออกมาโจมตี Resnik แบบใหม่ แบบสับ! โดยเฉพาะในประเด็นที่ Resnik อ้างว่า การแบนไขมันทรานส์จะทำให้เกิดไฟไหม้ฟาง ต่อไปรัฐจะแบนอาหารอื่นๆ ไปเรื่อยๆ 

Lawrence O. Gostin ได้โจมตี Resnik ในประเด็นการลิดรอนเสรีภาพในการซื้อไขมันทรานส์ โดยกล่าวว่า “ผู้บริโภคอาจจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้เพราะอาหารที่ปราศจากไขมันทรานส์จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ การลิดรอนเสรีภาพจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้ผลิตอาหารมากกว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้บริโภค” กล่าวได้ว่า “การแทรกแซงดังกล่าวส่งผลต่ออิสรภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกเกี่ยวกับอาหารมากมาย”2 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การแบนไขมันทรานส์ไม่ได้เดือดร้อนคนกินเลย แต่คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือผู้ผลิตที่ต้องเปลี่ยนแปลง ภาพนี้ชัดมากในประเทศไทย เพราะเราแบนไขมันทรานส์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แล้ว รวมทั้งยังมีกฎหมายอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เรา “กินดี” มากขึ้น ผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าใครเป็นผู้ที่เดือดร้อนจากกฎหมายดังกล่าวที่แท้จริง และเราเดือดร้อนจากกฎหมายดังกล่าวอย่างไรบ้าง

Paula Boddington ได้โต้แย้งความคิดเห็นของ Resnik ว่า “Resnik ได้ให้เหตุผลราวกับว่ารัฐบาลได้สร้างอุปสรรคต่อการเลือกของปักเจก ซึ่งเป็นการละเลย ‘อิทธิพล’ อันเป็นอุปสรรคและแรงกดดันที่ต่อปัจเจก”3 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนที่จะไปห่วงว่ารัฐบาลจะพรากจากเสรีภาพไปจากประชาชน ห่วงประชาชนก่อน! ประชาชนถูกอิทธิพลกดดันให้ต้องกินแต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจนป่วยขนาดไหน ลองคิดดูสิครับ เวลาเราไปตลาด อาหารแบบไหนที่ถูก และอาหารแบบไหนที่แพง แล้วถ้าเราไม่มีเงิน ต่อให้รู้ว่าของที่กินไม่ดีต่อสุขภาพก็ต้องกิน

Kenneth Kirkwood ได้โจมตี Resnik โดยกล่าวว่า “คนเราไม่ได้มีอิสระในการกระทำตามหลักอิสรภาพนิยม ความตระหนักรู้คิดเกี่ยวกับทางเลือกของพวกเขาถูกไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์เนื่องจาก […] ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหาร”4 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนเราไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ นะ เพราะเราถูกคนผลิตกับคนขายของล่อด้วยวิธีการต่างๆ จนเราต้องซื้อ ผู้อ่านเคยไหมครับ หิวน้ำมากๆ ตั้งใจว่าจะเดินเข้าไปซื้อน้ำขวดเดียวในซุปเปอร์ ปรากฏเดินหลงในดงขนมไม่รู้ตัว เดินออกมาเหลือเงินไม่กี่บาท

James Wilson และ Angus Dawson ได้โต้แย้งความคิดเห็นของ Resnik ว่า “ทางเลือกในการบริโภคอาหารแทบจะไม่เกี่ยวกับอิสรภาพในตนเองเลย” ทั้งนี้เพราะ “อำนาจทางสังคมและวัฒนธรรมส่งผลต่อการเลือกของเรา”5 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เวลาเราไปซื้อของกิน ต่อให้คนขายไม่หลอกล่อเรา แต่สังคมและวัฒนธรรมก็หลอกล่อให้เราไปซื้อของไม่ดีมากินอยู่ดี ลองนึกดูสิครับ บางครั้งเราไม่หิว แต่เพื่อนหรือที่ทำงานชวนไปกิน เขาเลือกอะไรเราก็ต้องกิน เราอยากจะกินลดน้ำหนัก แต่ที่บ้านไม่ได้ลดด้วย สุดท้ายไดเอ็ทล่มมาแล้วกี่รอบ

จะเห็นได้ว่า ประเด็นไขมันทรานส์เล็กๆ จุดประกายให้เราได้สะท้อนคิดถึงประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับอาหารได้เยอะเลยครับ ก็นับว่าเป็นโชคดีที่ประเทศไทยมีกฎหมายแบนน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และปลอดภัยหายห่วงจากภัยไขมันทรานส์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีนโยบายและกฎหมายหลายฉบับที่ยังคง “ติดหล่ม” อยู่เพราะนักวิชาการและนักกฎหมายยังคงเถียงกันอยู่ โดยเอา “ประชากร” มาอ้างเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเอง

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทบทวนถึงเวลาที่เราไปห้างสรรพสินค้า แล้วสุดท้ายก็เดินเข้าร้านอาหารที่อาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วลองคิดดูสิครับว่า เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้ออาหารจริงหรือ 

  • ทำไมรู้สึก “อร่อย” เวลากินของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  • ทำไมไปซุปเปอร์ฯ แล้วชอบเผลอหยิบอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ “ติดมือ” มาทุกที
  • ทำไม “เพื่อน” ชอบชวนไปกินร้านที่ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพสักเท่าไหร่
  • ทำไมชอบดู “คนกินอาหารเยอะๆ”

เรามีเสรีภาพในการเดินเข้าไปหยิบ ซื้อและรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เสรีภาพของเราถูกกำหนดโดยรส ความถี่ ปริมาณของอาหาร จำนวนคนที่เรากินข้าวด้วย ฯลฯ โดยที่เรา (อาจจะ) ไม่รู้ตัว

เสรีภาพที่ถูกบังคับ ใช่เสรีภาพที่แท้จริงหรือครับ


ที่มา

  1. Resnik, D., Trans fat bans and human freedom. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 27-32.
  2. Gostin, L. O., Trans fat bans and the human freedom: a refutation. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 33-34.
  3. Boddington, P., Dietary choices, health, and freedom: hidden fats, hidden choices, hidden constraints. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 43-44.
  4. Kirkwood, K., Lipids, liberty, and the integrity of free actions. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 45-46.
  5. Wilson, J.; Dawson, A., Giving liberty its due, but no more: trans fats, liberty, and public health. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 34-36.


CONTRIBUTOR

Related Posts
สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th