นโยบายส่งเสริมการเกิด ไม่ควรมุ่งเน้นไปยังคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการมีบุตรคนต่อๆ ไปด้วยซึ่งนโยบายดังกล่าวควรมีความแตกต่างจากนโยบายส่งเสริมการเกิดสำหรับผู้ที่ยังไม่มีบุตร เพราะการตัดสินใจมีลูกคนแรก กับการตัดสินใจมีลูกคนที่สอง สาม หรือสี่ มีความแตกต่างกัน นโยบายในการจูงใจให้มีบุตรจึงควรมีความแตกต่างกันด้วย บทความนี้ขอนำเสนอตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงกระตุ้นให้คนมีลูกเท่านั้น แต่หวังให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย
เริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ที่ประสบกับปัญหาการเกิดน้อยมาอย่างยาวนาน (โดยเฉลี่ย ผู้หญิงสิงคโปร์หนึ่งคนจะมีบุตรเพียง 1.1 คนตลอดวัยมีบุตร หรืออายุ 15–49 ปี) สิงคโปร์มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการเกิดจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือการให้เบบี้โบนัส (baby bonus) สำหรับเด็กแรกเกิด โดยมีการให้เป็นลักษณะขั้นบันได คือ พ่อแม่จะได้รับ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เกือบ 2 แสนบาท) สำหรับบุตรคนแรกและคนที่สอง และ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เกือบ 2.5 แสนบาท) สำหรับบุตรคนที่สามเป็นต้นไป จึงค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลของสิงคโปร์ ไม่ได้เพียงต้องการให้คนมีลูก แต่ต้องการให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย1
การลาคลอดแบบได้รับค่าจ้าง เป็นอีกนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมีลูกคนต่อๆ มา ประเทศสาธารณรัฐเช็กมีนโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่น คือ แม่สามารถเลือกการรับสิทธิประโยชน์การลาคลอดในอัตราเงินรายเดือนในระยะเวลาต่างๆ ได้ เช่น แม่สามารถเลือกรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ ในช่วงระยะเวลาสองปีหลังคลอดบุตร หรือ รับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 33 ของรายได้ ในระยะเวลาสามปีหลังคลอดบุตร หรือ รับร้อยละ 33 ตั้งแต่คลอดบุตรถึงเดือนที่ 21 และร้อยละ 17 ของรายได้จากเดือนที่ 21 ถึงปีที่ 4 หลังการคลอดบุตร นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนการเกิดโดยตรง แต่ผลปรากฏว่า นโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ ทำให้แม่หลายคนสามารถเลือกรับเงินรายเดือนในสัดส่วนสูงในระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจการมีลูกคนที่สองเร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศสโลวะเกีย2
นอกจากนโยบายการลาคลอดสำหรับแม่ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกคนที่สองแล้ว นโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของพ่อก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การศึกษาในประเทศนอร์ดิก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน พบว่าการลาของพ่อ มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการมีลูกคนที่สองทั้งในสามประเทศดังกล่าว3 ข้อค้นพบดังกล่าว เป็นไปตามข้อสมมติฐานที่ว่า ความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องเชิงบวกกับระดับการเจริญพันธุ์ นั่นหมายความว่า ยิ่งในครอบครัวมีความเท่าเทียมทางเพศสูงเท่าไร จะยิ่งมีระดับเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีระดับการศึกษาสูง งานวิจัยในไต้หวันพบว่า ความต้องการมีบุตรคนที่สองขึ้นไปสำหรับผู้หญิง เพิ่มขึ้นหากสามีมีส่วนร่วมในการเลี้ยงบุตร (แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการทำงานบ้าน) ซึ่งผลที่พบนี้ เห็นชัดในกลุ่มผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป4
สำหรับประเทศไทย แนวโน้มการมีบุตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่า ราว 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์มีลูกเพียงคนเดียว และในบรรดาผู้ที่มีบุตรคนเดียว ราวครึ่งหนึ่งไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม ประเทศไทยมีความพยายามในการส่งเสริมการเกิดผ่านนโยบายต่างๆ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่ไม่ควรมองข้าม การเพิ่มเงินรางวัลสำหรับจำนวนบุตรที่มากขึ้น การลาคลอดที่ยืดหยุ่น และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ อาจเป็นแนวทางช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวไทยที่พร้อมตัดสินใจมีลูกคนที่สอง...สาม..หรือสี่ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ที่มา: https://researchcafe.org/policies-for-birth-promotion-in-thailand/ สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565
กาญจนา เทียนลาย
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
อารี จำปากลาย
สิรินทร์ยา พูลเกิด
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา เทียนลาย
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
ธีรนงค์ สกุลศรี
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
พิมลพรรณ นิตย์นรา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
อมรา สุนทรธาดา
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
วรรณี หุตะแพทย์
มงคล ธงชัยธนาวุฒิ
จรัมพร โห้ลำยอง
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต,สุภรต์ จรัสสิทธิ์