The Prachakorn

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม


13 มกราคม 2564
470



โดย รศ.ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาล้ัยมหิดล

กฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้โครงการ 35 ประเภทต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และโครงการ 12 ประเภทต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังกำหนดแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการด้วย แม้จะมีการปฏิบัติตามแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาเป็นเวลานาน แต่กลับพบปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโครงการและประชาชนในพื้นที่มากขึ้นและรุนแรงขึ้น เวทีการรับฟังความเห็นที่จัดขึ้นในประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่เผชิญหน้าและต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านโครงการที่มักจบลงด้วยความรุนแรงแทนที่จะเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าของโครงการและประชาชนในพื้นที่ บ่อยครั้งที่เวทีประชาพิจารณ์ถูกล้มเลิกและไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ นอกจากปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาโครงการแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ เจ้าของโครงการ และประชาชน ซึ่งความขัดแย้งนี้พัฒนาเป็นความไม่ใว้วางใจกันในระยะยาวและเป็นอุปสรรคต่อการหาจุดร่วมในการพัฒนาประเทศที่สมดุลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการประเมินการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์การมีส่วนร่วมที่มีความหมาย (meaningful participation) พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนใน EIA/ EHIA เป็นไปตามหลักเกณฑ์บางส่วนในเรื่องความหลากหลายและความเป็นตัวแทนของผู้เข้าร่วม แต่ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เรื่องการมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ การกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน วิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม การสื่อสารสองทางและความโปร่งใส การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะหลัก 3 ประการเพื่อปรับปรุงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นระบบ 2) การปรับปรุงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำ EHIA ให้มีความยืดหยุ่นและคำนึงถึงบริบท และ 3) การตรวจสอบว่าข้อห่วงกังวลจากการรับฟังความเห็นได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในรายงาน EHIA

Facebook Link: https://fb.watch/36cGdfyNIu/



CONTRIBUTOR

Related Posts
สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th