ผศ.ดร.ดุสิตา พึ่งสำราญ
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดและสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหนักในทุกภาคส่วนตั้งแต่ประมาณต้นปี 2563 และดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้างในช่วงปลายๆ ปี แต่ก็กลับเกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา และยังไม่มีใครตอบได้ว่า จะกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้นได้เมื่อไหร่ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ มูลนิธิ SWING (ย่อมาจาก Service Workers IN Group Foundation) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการป้องกันเอชไอวีและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มพนักงานบริการทางเพศในทุกเพศ พบว่า กลุ่มเป้าหมายนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ที่ทำให้เกิดการตกขาด ไม่มีอาชีพและขาดรายได้ในทันที การล็อคดาวน์ยังส่งผลต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น และที่สำคัญ พนักงานบริการทางเพศไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาหรือความช่วยเหลือของภาครัฐได้เท่ากับประชาชนในอาชีพอื่น มูลนิธิ SWING ได้รับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ด้วยการขับเคลื่อนให้เกิดความช่วยเหลือต่างๆ ลงไปให้ถึงปากท้องของพนักงานบริการจำนวนมากในพื้นที่ นับตั้งแต่เริ่มมีโควิด-19 รอบแรก และรอบใหม่นี้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนประการหนึ่ง คือ การใช้ข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ในการผลักดันให้เกิดนโยบายสำคัญ การดึงงบประมาณจากภาครัฐ และองค์กรทุนต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ด้วย การนำเสนอเวทีเสวนาใต้ชายคาประชากรนี้ ขอบอกเล่าเรื่องราววิธีการรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะในแง่มุมที่เป็นการทำงานด้วยข้อมูลของมูลนิธิ SWING ที่อาจจะเป็นอีกมุมมองสำหรับการทำงานวิจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนทางนโยบายสำหรับผู้สนใจต่อไปได้