หลายท่านคงจะเคยอ่าน Dragon Ball ผลงานมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ โทริยามะ อากิระ กันใช่ไหมครับ การ์ตูนในตำนานเรื่องนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักอ่านทั่วโลก ไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาอะไรก็ล้วนแต่ขายดิบขายดี ในญี่ปุ่นเอง Dragon Ball เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายมากกว่า 300 ล้านเล่ม และเมื่อถูกแปลเป็นภาษาอื่น ก็ยังคงความนิยมในระดับต้น ๆ เช่นกัน
ว่าแต่รู้สึกกันไหมว่า อ.โทริยามะ แกแอบแทรกแนวคิดอะไรหลาย ๆ อย่างลงไปใน Dragon Ball ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดมากคือเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่แทรกเข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแนบเนียน
ที่มา : https://www.okaygotcha.com/2021/05/the-new-official-dragon-ball-website.html
หากจำกันได้ในตอนต้นจะว่าด้วยการออกตามหา ลูกแก้ววิเศษทั้งเจ็ด ซึ่งสมาชิกในแก๊งต้องเดินทางไกลผจญภัยต่าง ๆ มากมาย อาจารย์หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยวิเคราะห์ไว้ในหนังสือชุด การ์ตูนที่รัก (ประเสริฐ, 2554) ว่าการเดินทางในช่วงต้นของ Dragon Ball ไม่ต่างอะไรกับการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋งในเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งที่แท้จริงแล้ว อ.โทริยามะ เองก็ยอมรับว่าเขาได้นำเอาพล็อตไซอิ๋วมาใช้จริง ๆ
ที่มา : https://www.asialogy.com/dragon-ball-hakkinda-bilmediginiz-50-sasirtici-sey/
“พระถัง” อาจเปรียบได้กับ ศรัทธา “เห้งเจีย” คือ ปัญญา “ตือโป๊ยก่าย” คือ ศีล “ซัวเจ๋ง” คือ สมาธิ ศีล/สมาธิ/ปัญญา ต้องพร้อมกันทั้งหมด โดยมีศรัทธานำ หลายหนที่ตัวละครบางตัวออกนอกลู่นอกทาง เช่น เจ้าหมูตือโป๊ยก่ายลุ่มหลงไปกับอบายมุข หรือเห้งเจียที่ดื้อด้านเอาแต่ใจ นั่นจึงทำให้การเดินทางเกิดอุปสรรค ศรัทธาเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถนำพาไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ แต่องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดคล้องและรวมเป็นหนึ่งเดียว
ขณะที่ใน Dragon Ball เราอาจเปรียบ บลูม่า เป็นศรัทธา หรือ พระถัง เพราะเจ้าหล่อนมุ่งมั่นจะขอพรจากเทพเจ้ามังกร (นางอยากได้แฟนหล่อ ๆ ซักคน) เช่นเดียวกับพระถังที่แน่วแน่ในการเดินทางไปชมพูทวีป โงกุน คือตัวแทนของเห้งเจีย เพราะเป็นลิง (มีหาง) มีพลังพิเศษ เจ้าหมูอูรอน คือตือโป๊ยก่ายที่ผิดศีลเป็นประจำ ยามุชา คือซัวเจ๋งที่กลัวผู้หญิงเหมือนกัน ระหว่างการเดินทางก็จะมีเรื่องให้ทะเลาะกันเสมอ ๆ แต่เมื่อเจอสถานการณ์คับขันก็จะกลับมาสามัคคีกันดังเดิม
สำหรับตัวละครเอกอย่าง โงกุน กับ เห้งเจีย นั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างที่อาจเป็นไปตามไอเดียของ อ.โทริยามะ เห้งเจียในไซอิ๋วอยากจะอยู่ยงคงกระพันไม่เจ็บไม่แก่ จึงไปฝึกวิชากับเซียนจนมีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้า แล้วก็เกิดผยองออกอาละวาดไปทั้งสวรรค์ จนพระยูไลต้องเสด็จลงมาปราบจึงจะสงบลงได้ แต่กิริยาก้าวร้าวนี้เกิดขึ้นกับโงกุนแค่ช่วงแรก ๆ เท่านั้น การถือกำเนิดก็คล้ายกัน เมื่อหินพันปีแตกออกจึงเกิดเป็นเห้งเจีย ก็คล้ายกับยานอวกาศที่ระเบิดออกแล้วพบว่ามีทารกโงกุนอยู่ภายใน คุณปู่ซุนโกฮังจึงเก็บมาเลี้ยงด้วยความเอ็นดู แต่เด็กคนนี้กลับดื้อซนมีกำลังมาก อาละวาดไม่อยู่นิ่ง จนวันหนึ่งเกิดพลัดตกจากหุบเขาหัวกระแทกพื้นอย่างแรง พอคืนสติก็กลายเป็นเด็กเรียบร้อยว่านอนสอนง่าย เห็นได้ว่าพัฒนาการด้านพฤติกรรมของทั้งสองตัวละครมีความคล้ายกันอยู่คือจากก้าวร้าวแล้วค่อยสงบ
ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/5f5787b7fd2d613e5864f6eb
ในไซอิ๋วนั้นยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเห้งเจียนั้นนิสัยลึก ๆ เป็นอย่างไรแน่ เขาสงบลงเพราะถูกกำราบจากผู้ที่เหนือกว่า (พระยูไลและเจ้าแม่กวนอิม) อาจหมายความว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ยอมด้วยใจแต่ยอมเพราะสู้ไม่ได้ เพราะหลายหนที่เห้งเจียแอบไปสร้างความปั่นป่วนชวนปวดหัวให้พระถังต้องคอยดุด่า ขณะที่ใน Dragon Ball โงกุนกลับมีนิสัยไปในทางไม่เดียงสาต่อโลก หากจะวัดความใสสะอาดของจิตใจก็ดูได้จาก เมฆสีทอง ที่ถูกกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะขี่มันได้ ซึ่งมีตัวละครใน Dragon Ball ไม่กี่ตัวที่ได้สิทธิขี่เมฆสีทอง ขณะที่เมฆวิเศษของเห้งเจียนั้นใช้อิทธิฤทธิ์ล้วน ๆ ความดีความเลวไม่เกี่ยวกัน
คติความเชื่อขงจื๊อ เต๋า และพุทธ รวมเป็นแนวคิดและวิถีปฏิบัติของสังคมจีน มีคติขงจื๊อเป็นแก่นในการชี้นำดำรงตนให้อยู่ในกรอบจารีต มีคติเต๋าและพุทธเป็นเครื่องค้ำชูจรรโลงจิตใจ (สุรสิทธิ์, 2564) ซึ่งทั้งหมดที่ปรากฎในไซอิ๋วก็ถูกนำมาใช้ใน Dragon Ball เช่นกัน ในไซอิ๋วมีการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกเป็นแกนหลักของเรื่อง ระหว่างทางจะมีอุปสรรคมากมายคอยขัดขวางและเป็นบททดสอบทางจริยธรรมและศีลธรรม เช่นเดียวกับใน Dragon Ball ต่างกันตรงที่เป็นการเดินทางตามหาลูกแก้ววิเศษ ความเชื่อเรื่องลัทธิเต๋าในไซอิ๋ว เช่น ยาอายุวัฒนะ ก็พบใน Dragon Ball แต่เปลี่ยนเป็นการขอพรให้มีชีวิตเป็นอมตะ หรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ก็เปลี่ยนเป็น เทพเจ้ามังกร หรือ พระเจ้า ใน Dragon Ball ที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ รวมถึงความเชื่อในคติขงจื๊อที่มุ่งเน้นคุณธรรมและความกตัญญู ก็พบได้ในเกือบทุกตอนของ Dragon Ball
ในภาคแรกของ Dragon Ball เราจับสังเกตได้ไม่ยากเลยว่าแนวทางของเรื่องเดินตามรอยของไซอิ๋วแบบไม่มีปิดบัง จนกระทั่งเข้าสู่ภาคที่สอง แม้แก่นของเรื่องจะเปลี่ยนเป็นโทนการต่อสู้เต็มรูปแบบ แต่ อ.โทริยามะ อากิระ ก็ยังคงแทรกคติธรรมและแนวคิดทางศาสนาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
เอกสารอ้างอิง
วรชัย ทองไทย
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
เพ็ญพิมล คงมนต์
ภูเบศร์ สมุทรจักร
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
วรชัย ทองไทย
อารี จำปากลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
สุรีย์พร พันพึ่ง
สุภาณี ปลื้มเจริญ
ประทีป นัยนา
วาทินี บุญชะลักษี
อมรา สุนทรธาดา
ชิษณุพงษ์ สรรพา
วรชัย ทองไทย
เรืองริน ประทิพพรกุล
อภิชัย อารยะเจริญชัย