วิถีชีวิตของคนเจนเนอเรชันวาย (เกิดระหว่าง พ.ศ.2525-2547) ที่เรียกกันสั้นๆ ว่าเจนวาย อยู่ในความสนใจของสังคมมานานกว่า 20 ปี เนื่องจากคน กำลังอยู่ในวัยแรงงาน หรือที่อายุน้อยที่สุดก็อยู่ในวัยที่เตรียมจะเข้าตลาดแรงงาน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสังคมไทย ผู้ใหญ่เจนเนอเรชันก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเจนเนอเรชันเอ๊กซ์ หรือเจนเนอเรชันเบเบี้บูม พากันบอกว่าลูกหลานเจนวายทำอะไรคิดอะไรแปลกไปกว่าคนรุ่นก่อน บางอย่างก็ถูกใจบางอย่างก็ไม่ถูกใจ ทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ข้อสังเกตุเกี่ยวกับแนวทางและทัศนคติการทำงานของคนเจนวายไม่ว่าจะที่ไหนในโลกมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่นความทะยานอยากที่จะประสบความสำเร็จโดยเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ไม่อยากไต่เต้าตามลำดับขึ้นการบริหารในองค์กร ต้องการความอิสระในการทำงาน ต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ท้าทายวิถีเก่า ฯลฯ องค์กรหลายแห่งพยายามอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจกับวิธีคิด และวิถีชีวิตของคนเจนวาย เพื่อการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ตรงใจพนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้ให้มากที่สุด ด้วยตระหนักดีกว่าพนักงานเจนวายเป็นกลุ่มที่เพียบพร้อมทั้งเรี่ยวแรง ความรู้ ความคิด และเป็นอนาคตขององค์กร
บทความวิจัย Dream Life Dream Job: Lifestyles That Determine Job Search Criteria of Generation Y College Students in Thailand1 ใช้ข้อมูลจากโครงการ พฤติกรรมและทัศนคติต่อการวางแผนชีวิตและการทำงานของประชากรเจเนอเรชันวาย ซึ่งเก็บด้วยวิธีผสมผสาน (Mixed method) โดยข้อมูลเชิงคุณภาพเก็บจากด้วยการสนทนากลุ่มกับนักศึกษามหาวิทยลัยชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัย 12 แห่ง จำนวน 8 กลุ่ม ทั้งสิ้น 64 คน และข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม 1,320 คน (สามารถอ่านรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างจากบทความ) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของบทความวิจัยนี้คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง วิถีชีวิต กับหลักเกณฑ์ในการหางานทำของคนเจนวาย
ในการศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิด ทัศนคติ ความสนใจ และความคิดเห็น (Attitude, Interest, Opinion: AIO) สร้างเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยมีข้อคำถามย่อย 47 ข้อคำถาม ส่วนเกณฑ์ในการหางานทำพัฒนาขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม มี 6 เกณฑ์ คือ เงินเดือน ความมั่นคง การได้ทำงานที่ตรงสายวิชาที่เรียนมา ความก้าวหน้าในอาชีพ สภาพการทำงาน และความท้าทายของงาน2
ในการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor analysis) สามารถจำแนกวิถีวิตของคนเจนวายได้ 18 รายการ ได้แก่ มั่นใจ-ท้าทาย ทุ่มเทกับงาน สนใจเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ติดตามข่าวสารเป็นประจำ ใส่ใจภาพลักษณ์-แฟชั่น ติดแบรนด์ ติดห้าง รักษารูปร่าง นั่งร้านกาแฟ-สังสรรค์กับเพื่อน ใช้สื่ออออนไลน์เข้มข้น ชายเป็นผู้นำ หญิงเสมอชาย ใช้เวลากับครอบครัว ชอบอยู่บ้าน รักษาวินัยและความถูกต้อง เคร่งครัดศีลธรรม รักสิ่งแวดล้อม และประหยัดอดออม (ทั้งนี้ ในคนหนึ่งคนอาจมีวิถีชีวิตได้หลายอย่าง)
จากการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ (Multiple regression) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและเกณฑ์การหางาน มีข้อค้นพบที่สำคัญหลายอย่าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการที่พบว่า วิถีชีวิตที่มีแนวโน้มจะต้องใช้เงินมาก เช่น การรักษาภาพลักษณ์-แฟชั่น การใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อน มีผลเชิงบวกต่อความสำคัญที่ให้กับเงินเดือน ความมั่นคงของงาน และความก้าวหน้าในอาชีพ และที่น่าเป็นห่วงคือ ความสำคัญที่ให้กับเงินเดือนมีความผกผันต่อความเคร่งครัดศีลธรรม
* ภูเบศร์ สมุทรจักร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
** นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์, นักวิจัยผู้ชำนาญการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
*** สุชาตา มานะจิตต์, อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
ปรียา พลอยระย้า
กัญญา อภิพรชัยสกุล
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
จรัมพร โห้ลำยอง
สุภาณี ปลื้มเจริญ
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ชณุมา สัตยดิษฐ์
วิภาพร จารุเรืองไพศาล