The Prachakorn

รูปถ่ายกับจริยธรรมของผู้ถ่ายและผู้ใช้ (Episode 1: อิทธิพลของรูปถ่าย ผ่านเลนส์ผู้ถ่าย)


สิรินทร์ยา พูลเกิด

07 ธันวาคม 2563
516



ท่านทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปี คนทั่วโลกถ่ายรูปรวมกันกว่าล้านล้านรูป เมื่อปี 2562 คนทั่วโลกถ่ายรูปดิจิตอลไป 1.4249 ล้านล้านรูป และคาดว่าปี 2565 คนจะถ่ายรูปเพิ่มขึ้น จนเกิน 1.5 ล้านล้านรูป1 

ไม่เพียงแค่ถ่าย แต่พวกเราก็เก็บรูปเยอะเช่นกัน ทั้งรูปที่ถ่ายเองและรูปของคนอื่น ในปี 2562 รูปถูกเก็บในฐานออนไลน์ถึง 6.4583 ล้านล้านรูป และคาดว่าอีกสามปีข้างหน้า รูปจะถูกเก็บแตะใกล้ 10 ล้านล้านรูป1

เห็นตัวเลขเหล่านี้ ก็ไม่น่าแปลกใจกับเท่าไหร่นัก เพราะในปัจจุบัน เกือบทุกคนมีกล้องถ่ายรูปไว้ติดตัว หรือติดบ้าน อย่างน้อยก็กล้องจากมือถือ ซึ่งพฤติกรรมถ่าย แชร์ ใช้ เก็บรูปภาพ ได้กลายเป็นพฤติกรรมชีวิตประจำวันของคนบนโลกกว่าพันล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว 

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

การให้สิทธิเสรีภาพในการถ่ายรูปมีประโยชน์นับไม่ถ้วน แต่ขณะเดียวกัน พวกเราก็กำลังเจอกับโลกของข่าวปลอม หรือ “fake news” โลกที่มีการตัดต่อรูป และการเวียนใช้รูปของคนอื่นโดยไม่ได้ขอคำยินยอม คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ในฐานะที่เราเป็นทั้งผู้ถ่ายและผู้บริโภครูปภาพ

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เรามักถูกสอนให้อ่านและเขียนเป็น สอนให้หลีกเลี่ยงการลอกงาน โกหก หรือใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น แต่น่าแปลก ไม่มีใครบอกเรา ให้เอาคำสอนเหล่านี้มาปรับใช้กับการถ่ายหรือใช้รูปภาพ ดังนั้นการเข้าใจการถ่ายและการใช้รูปภาพในโลกสมัยใหม่ของเราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

รูปถ่ายมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบการมองโลกของเรา เมื่อเราถ่ายรูปและแบ่งปันรูปที่เราถ่ายให้คนอื่นดู นั่นคือเรากำหนดกรอบการมองโลกของพวกเขา ซึ่งนี่ที่ถือเป็นอภิสิทธิ์ที่สุดวิเศษของคนถ่าย แต่ก็เป็นความรับผิดชอบอย่างมหาศาลของคนถ่ายด้วยเช่นกัน

หากการถ่ายรูปของท่าน สะท้อนความดีงามของคนถูกถ่าย ความน่าอยู่ของสังคมหรือสภาพแวดล้อม และไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลหรือพื้นที่นั้น ก็คงไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็มีหลากหลายครั้งที่การถ่ายรูปภาพที่ปราศจากจริยธรรมของหลายคน ไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้บุคคลหรือพื้นที่นั้น ๆ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งปัจจุบันเราจึงเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมายที่มีการฟ้องร้องเอาผิดทั้งการแอบถ่าย แชร์ หรือตัดต่อภาพอยู่เป็นประจำ 

Marvin Heiferman นักเขียนและผู้คัดเลือกงานศิลปะ ได้กล่าวไว้ว่า “Photography changes everything2.” ผู้เขียนขอเติมต่ออีกนิดว่า การถ่ายรูปเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ในทิศทางที่มันอยากให้เป็น

ภาพโดย Gabriel Miguel Bero จาก Pixabay

ถ้าเอาเฉพาะแค่การถ่ายรูปก่อน ถ่ายแค่ไหนถึงเรียกว่าผิดกฎหมาย ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 25603 ที่ระบุชัดถึงบทลงโทษเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพ ตัดต่อ/ดัดแปลง

“มาตรา ๑๖ ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 

ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง”

ถ้าเราถ่ายรูปที่ทำร้ายคนที่ถูกถ่าย คงไม่มีใครอยากให้ถ่าย ถ้าเราตัดต่อภาพของเราและหลอกลวงคนดู คงไม่มีใครเชื่อเราอีกต่อไป ถ้าเราไม่มีจริยธรรมในการถ่ายภาพหรือใช้ภาพ ตัวเราก็เป็นภัยต่อจรรยาวิชาชีพ ในทางกลับกัน การถ่ายรูปอย่างมีจริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของผู้ถูกถ่าย คำนึงถึงความรับผิดชอบของตนเองต่อผลกระทบต่อบุคคลและสังคม และซื่อสัตย์ต่อจรรยาวิชาชีพ จะช่วยให้รูปภาพของเราแต่งเติมสร้างสรรค์ สร้างพลังให้กับโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี

ในต่างประเทศ มีหลายกรณีที่มีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล เช่น ไปถ่ายขาของคนเดินเท้า ถ่ายรูปสาวใส่ชุดฟิตเข้ารูป หรือถ่ายรูปคนไข้พิการ ดังนั้นมนุษย์กล้องชาวไทยทั้งหลาย โปรดลั่นชัตเตอร์หรือรัวแฟลชอย่างระมัดระวัง ถือจริยธรรมการถ่ายรูปเป็นที่ตั้ง หากไม่ระวัง มีโทษทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว

นี่เป็นแค่จริยธรรมของการถ่ายรูป ใน episode หน้า เราจะมาคุยกันในเรื่องการใช้รูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ ตัดต่อ/ดัดแปลง ใช้ภาพระดับไหน ถึงจะไม่ผิดจริยธรรม รอติดตามได้ใน episode 2


เอกสารอ้างอิง   

  1. Mylio. (n.a.). How many photos will be taken in 2020? Retrieved December 3, 2020, from https://focus.mylio.com/tech-today/how-many-photos-will-be-taken-in-2020
  2. Heiferman, M. (2012). Photography changes everything. New York: Aperture
  3. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560. (2560, 24 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนที่ 10 ก, หน้า 24-35.
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th