The Prachakorn

โลกจับตาญี่ปุ่นแก้ปัญหาวิกฤตสูงวัย


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

28 ธันวาคม 2563
541



ญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤตสังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นจึงถูกจับตามองเพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ผู้นำญี่ปุ่นริเริ่ม

ปี 2020 ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากร 126 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด (ร้อยละ 34.3) อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของชายและหญิงชาวญี่ปุ่น คือ 81.9 และ 88.1 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า สหประชาชาติคาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มถึงร้อยละ 42.3

การสูงวัยของประชากรจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยจะทำให้ GDP ลดลงด้วยอัตราร้อยละ 1 ในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ด้วยสาเหตุการขาดแคลนแรงงานที่จะมาทดแทนประชากรวัยแรงงานที่ค่อยๆ เกษียณอายุ อันเนื่องมาจากอัตราเกิดต่ำ

ภาพผู้สูงอายุเป็นพนักงานส่งของในโตเกียว

ที่มา: https://www.japantimes.co.jp/opinion/2019/11/19/commentary/japan-commentary/economic-challenge-japans-aging-crisis/

โดยทั่วไปค่าแรงของชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน แต่เนื่องจากมีแรงงานสูงอายุมากขึ้น จึงกระทบต่อการเลื่อนตำแหน่งซึ่งเป็นแรงจูงใจในการทำงานของคนหนุ่มสาว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ จึงเสนอ Womenomics โดยกดดันให้บริษัทเพิ่มค่าจ้างและตำแหน่งสำคัญในองค์กร เพื่อจูงใจให้ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน

คนญี่ปุ่นส่วนมากมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ที่ต่อต้านแรงงานข้ามชาติ อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะจึงริเริ่มกำหนดประเภทวีซ่าใหม่ เพื่อควบคุมแรงงานในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนักก่อน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศต้นทางที่เป็นเป้าหมายแรงงานที่ต้องการ ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการดูแลสุขภาพ (Care-giving sector)

สหประชาชาติแนะนำให้ญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณเป็น 77 ปี เพื่อรักษาอัตราส่วนของประชากรวัยแรงงานและผู้เกษียณอายุ ประชากรรุ่นใหม่จึงไม่อาจหวังที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างที่ประชากรรุ่นก่อนได้รับหลังเกษียณ พวกเขาต้องทำงานอย่างยาวนานกว่าจะได้หยุดพักหรืออาจเสียชีวิตไปเสียก่อน แถมยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการดูแลประชากรสูงอายุอีกด้วย ท่านอาเบะจึงพยายามจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate-TFR) จาก 1.43 คน ในปี 2017 เป็น 1.8 คน ในปี 2025 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะปีนี้สตรีชาวญี่ปุ่นมีบุตรโดยเฉลี่ย (TFR) ลดลงเหลือเพียง 1.36 คนเท่านั้น

ประเทศไทยคงต้องจับตาดูวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตสูงวัยของญี่ปุ่น ว่าจะขยายอายุเกษียณ หรือ ปรับมาตรการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ หรือ จะเพิ่มอัตราเกิดซึ่งกระทบกับแรงงานสตรี แนวทางหลังนี้ทำให้ผู้หญิงเป็นความหวังที่จะผ่านวิกฤตไปได้ เพราะนอกจากต้องมีลูกคุณภาพแล้ว ยังต้องทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจด้วย บทความนี้จึงขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้หญิงและคุณแม่ทุกคนค่ะ

แหล่งข้อมูล: United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division. 2019. “World Population Prospects 2019”.           

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th