The Prachakorn

หญิงพิการ: ความสวยที่ (ไม่) เท่าเทียม


ดวงวิไล ไทยแท้

18 ตุลาคม 2564
402



เมื่อเอ่ยถึงความพิการ เป็นที่ทราบกันว่าคือผู้ที่มีร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญาไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนทั่วไป ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้โดยง่าย ผู้เขียนเองก็เป็นคนพิการทางร่างกายซึ่งไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่เกิดจากอุบัติเหตุสมัยเด็กเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งแน่นอนไม่มีใครอยากให้ความพิการเกิดขึ้นกับตนเองหรือกับใครก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดอันดับแรกคือทำอย่างไรให้ตนเองมีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ คิดว่าคนพิการ หรือคนที่มีความต้องการพิเศษ (บางคนไม่ชอบที่ตัวเองถูกเรียกว่าคนพิการ) หลายคนได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว

ครั้งนี้ผู้เขียนอยากจะเล่าถึงความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต ตามประสบการณ์จริงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนและผู้พิการได้พบเจอ และส่วนตัวรู้สึกว่ามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้พิการที่เป็นผู้หญิง นั่นก็คือ เรื่องความสวยความงาม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คนชอบมองเป็นเรื่องแปลกที่คนพิการจะแต่งหน้าแต่งตัว ในเมื่อผู้หญิงก็ยังเป็นผู้หญิง คนพิการไม่ได้สูญเสียความเป็นผู้หญิง แต่ส่วนตัวกลับยิ่งรู้สึกว่าต้องการความสวยงามมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพราะคนพิการต้องการสวยเด่น แต่พื้นฐานคืออยากเหมือนคนทั่วไปและลบจุดด้อยของตัวเอง

“ทำไมต้องแต่งหน้า” “ทำไมต้องแต่งตัวสวย” “ทำไมต้องทำผม” และอีกหลายคำถาม

คำตอบก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่ทำก็เพราะอยากสวย ความสวยจะช่วยเพิ่มความกล้า ความมั่นใจที่จะออกไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป เป็นการให้เกียรติกับผู้คนและสถานที่ที่เราต้องไปพบ และที่สำคัญมากสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการเคารพตัวเอง ในการได้ทำตามความต้องการของตัวเอง เพราะแม้เราจะจำกัดเรื่องร่างกายแต่อย่าให้เรื่องการแต่งกายในแบบที่ตัวเองต้องการต้องถูกจำกัดเพราะทัศนคติที่สังคมมองคนพิการในด้านลบ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และการตั้งคำถามในหลาย ๆ ครั้ง เป็นคำถามที่ผู้ถามไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นการบอกให้เลิกทำเสียมากกว่า

การออกนอกบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนพิการหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย ไม่ใช่เพราะออกไม่ได้ แต่ไม่อยากออก เพราะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องพบเจอคนที่ไม่เข้าใจและเกิดคำถามกับร่างกายของเรา แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่ต้องทำกลับมาโฟกัสกับร่างกายของเรา หลายครั้งที่บทสนทนาเริ่มต้นเพราะความอยากรู้ว่าเกิดอะไรกับร่างกายของเรา แต่ไม่ได้อยากรู้จักเราจริง ๆ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจก็คือการแต่งตัว ที่ช่วยให้คนมองที่ความเป็นผู้หญิงมากกว่าการมองเป็นคนพิการ

การที่คนพิการจะออกไปข้างนอก หรือออกจากจากจุดเซฟโซนได้ นั่นหมายถึงการใช้ความมั่นใจ และความกล้าหาญในระดับหนึ่ง ที่ต้องไปพบปะผู้คนที่ไม่เข้าใจในตัวเขา และรวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย เพราะในบางครั้งผู้เขียนก็ไม่อยากออกไปพบคนแปลกหน้า ที่ไม่เข้าใจและเกิดคำถามกับร่างกายของเรา แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่ต้องทำ แต่กลับมาโฟกัสกับร่างกายของเรา และสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจก็คือการแต่งตัว หรือการที่รู้สึกว่าตัวเองมีจุดเด่นอย่างอื่นให้สนใจมากกว่าร่างกายที่ไม่พร้อม

หมายเหตุ: รูปที่ค้นจากเว็บไซต์ สืบค้นจาก https://mgronline.com/celebonline/detail/9580000112124

ภาพ นางแบบสาว เมลานี่ เกย์ดอส (Melanie Gaydos) สาวอเมริกันวัย 27 ปี ผู้ป่วยโรคสังข์ทอง (ectodermal dysplasia)
ที่มา: https://mgronline.com/celebonline/detail/9580000112124 สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2564

ในความเป็นจริงคนพิการหลายคนก็สะท้อนเรื่องนี้ออกมา ยกตัวอย่างเช่น คนตาบอดที่แต่งหน้าเวลาทำงาน เวลาที่ต้องออกไปพบผู้คน หรือแม้กระทั่งตอนอยู่บ้าน คนที่เดินไม่ได้แต่อยากใส่รองเท้าแบบที่เลือกเองมากกว่าแบบที่คนอื่นเลือกให้ คนพิการที่มีฐานะใส่เสื้อผ้าหรือใช้ของราคาแพง ฯลฯ โดยมีพื้นฐานความคิดคล้ายกันคือ ต้องการแสดงความเป็นตัวตน อยากให้ตนเองดูดีในแบบที่ตนเองชอบ มีความมั่นใจ รู้สึกสนุก และรักตัวเองมากขึ้น และก็มีคนพิการที่มีความสุขกับความสวยงามในแบบของตนและประสบความสำเร็จกับความสวยงามนั้น เช่น นางแบบที่มีร่างกายเพียงครึ่งท่อน นางแบบที่มีความผิดปกติของผิวหนัง กระดูก ศีรษะล้าน เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือนางแบบที่เป็นดาวน์ ซินโดรม ซึ่งมีความมั่นใจ ยอมรับ และรักในตนเอง

น่าแปลกอยู่เหมือนกันว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกสวย เราจะไม่โฟกัสที่ความพิการ แต่กลับมีพลังให้สามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ชอบได้มากกว่าปกติ เพราะแม้จะพิการแต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับคนทั่วไป การยอมรับว่าในสังคมมีความหลากหลายและมองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติจึงมีความสำคัญ

สุดท้ายไม่ใช่เรื่องความสวยหรือไม่ แต่อยู่ที่ความพึงพอใจส่วนบุคคล ความเป็นคนเท่าเทียมกัน ที่จะสามารถทำในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่ถูกคนอื่นตัดสินเพียงเพราะร่างกายไม่เหมือนกัน



CONTRIBUTOR

Related Posts
ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th