The Prachakorn

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด


ปราโมทย์ ประสาทกุล

23 ธันวาคม 2563
19,959



บ่ายวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563

ผมเพิ่งกลับจากไปงานแต่งงานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (งานแต่งงานจัดที่วัดนะครับ ผมไม่ได้เขียนผิด) เจ้าบ่าวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานรุ่นลูกขอให้ผมช่วยเป็นประธานในพิธีแต่งงานครั้งนี้ หลังจากพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ผมก็รับที่จะแสดงบทบาทประธานในพิธีมงคลสมรสที่จะจัดขึ้นในวัดด้วยความเต็มใจ

เงื่อนไขสำคัญประการแรก คือในพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่จัดงานจะมีเก้าอี้ให้ฆราวาสนั่ง สำหรับผมและผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องการนั่งพับเพียบฟังพระสวด เดี๋ยวนี้ผมนั่งพับเพียบไม่ได้เลย แต่ให้นั่งขัดสมาธิก็พอจะได้ เงื่อนไขสำคัญประการต่อมา คือบทบาทประธานมีเพียงไปนั่งเฉยๆ ไม่มีบทพูด บทเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบทการเจรจาสู่ขอต่อรอง หรือการพรรณนาอวยพรคู่บ่าวสาว

เมื่อไม่มีท่านั่งพับเพียบและไม่มีบทเจรจา บทบาทประธานงานแต่งงานในวัดก็เล่นไม่ยาก

ผมเคยแต่ไปร่วมงานแต่งงานที่จัดขึ้นที่บ้าน ในโรงแรม หรือสถานที่ที่ให้บริการจัดงานแต่งงาน  การจัดงานแต่งงานในโบสถ์ก็เห็นมีแต่ของชาวคริสต์  ชาวมุสลิมมีที่ประกอบพิธีกันในสุเหร่าอยู่บ้าง งานแต่งงานในวัดของคนไทยจึงเป็นประสบการณ์ใหม่ของผม ผมจึงขอนำเรื่องนี้มาแบ่งปันเล่าให้ผู้อ่าน “ประชากรและการพัฒนา” ได้เห็นภาพ

พิธีหมั้นในพระวิหาร

พวกเราชาวสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ออกเดินทางไปวัดพร้อมกันตั้งแต่เช้า

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412

วัดราชบพิธฯ เป็นวัดที่มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อม̣พโร)  สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาส

เมื่อก้าวข้ามธรณีประตูกำแพงเข้าไปในบริเวณพระอารามหลวงแห่งนี้ พวกเราทุกคนต่างอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่าวัดนี้ช่างงดงามเหลือเกิน ทั้งพระอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ล้วนสวยงามวิจิตรตระการตา ผมตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นความอลังการของโบสถ์ วิหาร กำแพงแก้ว และเจดีย์ในวัดนี้เป็นอย่างยิ่ง

พิธีหมั้นทำกันในพระวิหาร มีญาติและแขกของฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งเป็นสักขีพยาน

ตรงหน้าพระประธาน พ่อแม่ของเจ้าสาวนั่งข้างซ้าย แม่และป้าของเจ้าบ่าวนั่งอยู่ข้างขวา ผมในฐานะประธานนั่งอยู่ตรงกลาง  เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งคุกเข่ากับพื้นข้างหน้าของผู้ใหญ่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวกราบพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย แล้วทำพิธีสวมแหวนให้แก่กัน

ขั้นตอนนี้ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องมีบทบาทมากสักหน่อย

คนสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือช่างภาพ (ตากล้อง) ซึ่งคงวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเก็บทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์นี้ให้ละเอียดครบถ้วนที่สุด (สมัยนี้ การถ่ายรูปและภาพยนตร์ไม่ต้องใช้ฟิล์ม จึงไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับฟิล์ม) ภาพการสวมแหวน ทั้งภาพเจ้าบ่าวสวมแหวนเพชรให้เจ้าสาว และภาพเจ้าสาวสวมแหวนให้เจ้าบ่าว ย่อมเป็นภาพหลักฐานสำคัญที่จะเป็นสัญลักษณ์ว่าทั้งสองได้เข้าสู่ขั้นตอนแรกของงานสมรสแล้ว

ช่างภาพทำหน้าที่กำกับท่าทางของเจ้าบ่าวเจ้าสาวเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เช่น บอกให้เจ้าสาววางมือและขยับนิ้วเพื่อให้แหวนเพชรที่เจ้าบ่าวสวมให้กระทบกับแสงเป็นประกายแวววับ

ขั้นตอนของพิธีหมั้นใช้เวลาไม่นาน (ไม่น่าจะเกิน 20 นาที)

*ได้รับอนุญาตพิมพ์รูปจากบุคคลในภาพแล้ว

พิธีหมั้นเสร็จ ก็ต่อด้วยพิธีสงฆ์

เวลาประมาณ 10.00 น. พระสงฆ์ 9 รูปได้เข้านั่งประจำอาสน์ นับเป็นวาสนาอย่างยิ่งของคู่บ่าวสาวที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน มงคลแถลง) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เมตตามาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีมงคลสมรสครั้งนี้

ในขั้นตอนนี้ คู่บ่าวสาวต้องทำหน้าที่เป็นตัวแสดงหลัก

คู่บ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธ กราบพระพุทธ และกราบพระสงฆ์

ฆราวาสทุกคนที่นั่งเป็นสักขีพยานในพระวิหารกล่าวบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีลพร้อมกัน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ให้ศีล จากนั้นพระสงฆ์ทั้ง 9 รูป สวดมนต์ให้พร ระหว่างที่พระสงฆ์สวดมนต์อยู่นั้น สมเด็จฯ เรียกคู่บ่าวสาวเข้าไปใกล้ พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ทั้งสอง แล้วยกขันน้ำพระพุทธมนต์ให้พระสงฆ์ลำดับถัดไปเพื่อพรมให้คู่บ่าวสาว คู่บ่าวสาวได้รับน้ำพระพุทธมนต์ที่ประพรมโดยพระสงฆ์ครบทั้ง 9 รูป

ผมมองดูพระสงฆ์ทั้ง 9 รูป พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้คู่บ่าวสาวในขณะที่ท่านสวดมนต์ด้วยความอิ่มเอมใจ น้ำ.พระพุทธมนต์ย่อมเป็นมงคลอย่างยิ่ง พิธีกรรมในขั้นตอนนี้ไม่ยืดเยื้อ (คู่บ่าวสาวไม่ต้องนั่งเมื่อยรอรับน้ำสังข์ที่แขกจำนวนมากเรียงลำดับทยอยเข้ามารดน้ำอวยพร) คู่บ่าวสาวเคลื่อนตัวเคียงคู่กันน้อมรับน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ดูน่ารัก  (ไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเพื่อนเจ้าสาวอีกอย่างน้อย 4 คนคอยยืนเป็นเพื่อนให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง)

ขั้นตอนที่พระสงฆ์สวดให้พรนี้ใช้เวลาไม่นาน เมื่อท่านสวดเสร็จ คู่บ่าวสาวถวายปิ่นโตอาหาร และปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์ทุกรูป พระสงฆ์สวดยะถาให้คู่บ่าวสาวกรวดน้ำ จากนั้นท่านให้พร และยะถาสัพพี เป็นอันเสร็จพิธี

เจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาร่วมงานภายในบริเวณวัดอันร่มรื่น

สรุปงานมงคลสมรสที่จัดในวัด

ผมขอสารภาพว่าชอบงานมงคลสมรสที่เรียบง่ายอย่างนี้ งานไม่ยืดเยื้อและใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมรวมแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมง

พวกเราที่ไปร่วมงานหลายคนพูดกันว่างานนี้เรียกว่าเป็นงาน “มงคลสมรส” ได้อย่างเต็มปาก พระสงฆ์ 9 รูปประพรมน้ำพระพุทธมนต์แทนแขกเหรื่อจำนวนนับร้อย พระสงฆ์สวดอวยพรให้โดยไม่ต้องมีใครขึ้นไปกล่าวสั่งสอนศิลปะการครองรัก ครองเรือน และนำดื่มอวยพรให้คู่บ่าวสาว

ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อเหลียวมองรอบตัวแล้ว ผู้ที่มาร่วมงานมงคลสมรสในวันนี้ ผม “อาจ” เป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุด ผมได้เขียนอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสุขในชีวิตสมรสตลอดไป (เชื่อว่าคงเป็นเวลานานอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี ที่เขาจะอยู่ด้วยกัน) ผมไม่ได้ถามว่าเขาทั้งสองวางแผนจะมีลูกสักกี่คน (เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อย่างเขาทั้งสอง คงมีลูกเป็นจำนวนไม่มากนัก)

แต่ผมมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่อย่างคู่บ่าวสาวที่ประกอบพิธีมงคลสมรสในวัดเมื่อเช้านี้ ทั้งสองรู้ว่าจะครองชีวิตอยู่ด้วยกันไปอีกยาวนาน เขาคงรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรตั้งแต่วันนี้ ทั้งเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง และการมัธยัสถ์เก็บออมเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายยามชรา

ผมยังเชื่ออีกว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ หุ่นยนต์ การติดต่อสื่อสาร อินเทอร์เน็ต การคมนาคม ฯลฯ เมื่อประกอบกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ จะทำให้ผู้สูงอายุไทยในอนาคตดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมสูงวัยได้อย่างมีความสุข



CONTRIBUTOR

Related Posts
ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th