The Prachakorn

โรคจิตเภทกับจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความเจ็บป่วยและพิการ


ณัฐพร โตภะ

15 กันยายน 2565
2,153



ภาวะการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจที่เรียกว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก แต่เป็นการเจ็บป่วยที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยดูแล และเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ

โรคทางจิต (Mental disorder)  มีความชุกสูงในทุกภูมิภาคทั่วโลกและปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความเจ็บป่วยและพิการ (Year Lived with Disability, YLDs) ในวันนี้เราจะเลือกกล่าวถึงโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งเป็นโรคหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคทางจิต “โรคจิตเภท” เป็นโรคทางจิตเรื้อรังที่รุนแรงซึ่งส่งผลต่อวิธีคิด การกระทำ การแสดงอารมณ์ การรับรู้ความเป็นจริง แม้ว่าโรคจิตเภทจะไม่เหมือนกับอาการป่วยทางจิตอื่นๆ แต่ก็อาจเป็นอาการเรื้อรังและทุพพลภาพได้มากที่สุดโรคหนึ่ง

ที่มา https://www.thaihealth.or.th/?p=258305 สืบค้น 10 กันยายน 2565

จากข้อมูลภาระโรคระดับโลก (Global Burden of Disease) โดยสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation ได้มีการรายงานจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความเจ็บป่วยและพิการ (Year Lived with Disability, YLDs) ของโรคจิตเภท (Schizophrenia) จากปี 1990 ถึง 2019 โดยในประเทศไทยพบว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นและค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยในปี 1990 เพศชายมี YLDs อยู่ที่ร้อยละ 2.25 และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2008 และ 2009 ที่ร้อยละ 2.46 เท่ากัน และค่อยๆ ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.32 ในปี 2019 และในเพศหญิง ปี 1990 YLDs อยู่ที่ร้อยละ 1.76 และเพิ่มสูงสุดในปี 2007 และ 2008 ร้อยละ 1.96 และลดลงอยู่ที่ 1.82 ในปี 2019 และหากแยกตามกลุ่มอายุจะได้ผลดังนี้ อายุ 5-14 ปี ในปี 1990 ร้อยละ 0.091 ปี 2019 ร้อยละ 0.11 อายุ 15-49 ปี ในปี 1990 ร้อยละ 2.84 ปี 2019 ร้อยละ 3.25 อายุ 50-69 ปี ในปี 1990 อยู่ที่ร้อยละ 1.53 และในปี 2019 อยู่ที่ร้อยละ 1.71 และกลุ่มสุดท้ายอายุมากกว่า 70 ปี ปี 1990 มีค่าการสูญเสียปีสุขภาวะอยู่ที่ร้อยละ 0.41 และเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนถึงในปี 2019 อยู่ที่ร้อยละ 0.46 โดยถ้าเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียจากทั้งหมด 61 ประเทศของการรายงาน ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 15 (2.05%) ในปี 2019 และหากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี 11 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 (2.05%) ในปี 2019 ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีปัญหาทางด้านจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความเจ็บป่วยและพิการของโรคจิตเภท อยู่ในอันดับต้นๆ3

จากรายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวชของโรคจิตเภทย้อนหลัง 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - 2564 ของกรมสุขภาพจิต1 มีดังนี้ ปี 2559 จำนวน 480,422 คน ปี 2560 จำนวน 380,401 คน ปี 2561 จำนวน 375,026 คน ปี 2562 จำนวน 273,817 คน ปี 2563 จำนวน 283,065 คน และปี 2564 จำนวน 284,273 คน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ารับบริการในปี 2560 ลดลงประมาณ 100,000 คน จากปี 2559 แต่ขณะเดียวกันมีการรายงานของกรมสุขภาพจิตว่าในปีงบประมาณ 2563 – 2564 มีแนวโน้มลดลง และเพิ่มขึ้น ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงมีนโยบายลดความแออัดของผู้มารับบริการในหน่วยงาน (รูปที่ 1)2

รูปที่ 1 แสดงข้อมูลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ามารับบริการ (หน่วยนับ: คน)

อาการทางด้านจิตเวชไม่ว่าจะมีอาการมากน้อยเพียงใด หรือเป็นแค่อาการวิตกกังวลก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความเจ็บป่วยและพิการ (Year Lived with Disability, YLDs) การเข้าพบหรือเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ


อ้างอิง

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2565). รายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช. สืบค้นจาก https://www.dmh.go.th/report/datacenter/hdc/reds.asp
  2. Bhandari, S. (2022). Schizophrenia: An Overview. Retrieved from: https://www.webmd.com/schizophrenia/mental-health-schizophrenia
  3. Institute for Health Metrics and Evaluation. Global Burden of Disease. Retrieved from: https://vizhub.healthdata.org/gbd-compare/

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
สู้ต่อไป กับการ Work From Home

มนสิการ กาญจนะจิตรา

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

พลเมืองไอซ์แลนด์

อมรา สุนทรธาดา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th