สังคมญี่ปุ่นยังรีรอที่จะยอมรับ ลูกครึ่ง ว่าเป็นพลเมืองญี่ปุ่นอย่างสนิทใจ และจะมีคำเรียกเฉพาะในภาษาญี่ปุ่นคือ Hafu เป็นคำเลียนเสียงภาษาอังกฤษ half หมายถึงผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นบุคคลเชื้อชาติอื่นๆ เทียบเคียงกับภาษาไทยที่ใช้คำว่า ลูกครึ่ง การยอมรับ ลูกครึ่ง ในสังคมญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่แล้วยังมีข้อยกเว้น หรือยังทำใจยอมรับแบบเต็มร้อยได้ยากนักและเหมารวมว่าเป็นชาวต่างชาติ แม้ว่าบุคคลนั้นจะอาศัยอยู่ในประเทศเป็นเวลานาน พูดภาษาญี่ปุ่นหรือสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้เท่ากับผู้ที่มีสายเลือดญี่ปุ่นเต็มตัว
จำนวนประชากร ลูกครึ่ง ยังมีอัตราส่วนน้อยในกลุ่มประชากรรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงจำนวนที่แท้จริง เนื่องจากไม่มีคำถามเรื่องเชื้อชาติของพ่อหรือแม่ในแบบสำรวจสำมะโนประชากร มีเพียงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนเด็กเกิดรายปีจากพ่อหรือแม่ที่ไม่ใช่เชื้อชาติญี่ปุ่น ประมาณ 36,000 คน ต่อปี หรือประมาณ ร้อยละ 3 ของจำนวนการเกิดทั้งหมดต่อปี หรือ จำนวนการเกิดของเด็กลูกครึ่ง มีประมาณ 5,000 ราย ต่อปี (https://japaninsider.com/growing-up-as-hafu-in-japan/)
รูป: ลูกครึ่งผิวขาวจะได้รับการยอมรับมากกว่าลูกครึ่งผิวสี
ที่มา: https://japaninsider.com/growing-up-as-hafu-in-japan/
มีกรณีศึกษามากมายที่ ลูกครึ่ง ในญี่ปุ่นเผชิญปัญหาจากการที่สังคมมีอคติ เช่น กรณีที่สาวลูกครึ่งชนะการประกวดและครองตำแหน่ง Miss Universe Japan 2015 และได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนของประเทศไปประกวด Miss Universe แม้ว่าจะชนะใจกรรมการแต่ค้านสายตาผู้ชม มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมต่อต้านผลการประกวดด้วยเหตุผลที่ผู้คว้าตำแหน่งอันดับหนึ่งมีแม่เชื้อชาติญี่ปุ่นแต่พ่อเป็นทหารเรือเชื้อชาติ African-American
Miss Universe Japan 2015 ผ่านประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่น่าจดจำเท่าไร พ่อแม่แยกทางกันเมื่อเธอยังเป็นเด็ก ถูกเพื่อนในโรงเรียนแกล้ง เช่น ไล่ให้ไปใช้สระว่ายน้ำที่อื่น หรือในบางครั้งถูกทำร้าย ถูกเพื่อนขว้างขยะใส่ การแสดงอาการรังเกียจต่างๆ เหล่านั้นเธอไม่เคยเล่าให้แม่รับรู้ ในทางตรงข้าม ปัญหาต่างๆ นั้นกลับเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยเธอให้ก้าวข้ามและเข้มแข็งมากขึ้นและพร้อมสู้ชีวิต
หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน รายหนึ่งยังจดจำเหตุการณ์เมื่อเขาถูกเพื่อนนักเรียนรังแกบ่อยครั้งในวัยเด็ก เขาไม่เข้าใจว่าตนเองแตกต่างอย่างไร ทั้งๆ ที่มีความเป็นอยู่เหมือนเด็กอื่นๆ กินข้าวสวย ซดซุปมิโซะที่แม่เตรียมให้ทุกวัน เขาสู้กลับและป้องกันตัวด้วยด้ามร่ม หลังจากโตเป็นหนุ่มเขากลายเป็นนักเต้นจังหวะแร็บแนวหน้า มีแฟนในสื่อสังคมติดตามจำนวนมาก
รูป: Miss Universe Japan 2015
ที่มา: https://www.google.com/search?q=Miss+Universe+Japan+2015
ลูกครึ่งที่มีพ่อหรือแม่เชื้อชาติเอเซียหรืออัฟริกัน ต้องปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิตมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ จากยุโรป เพราะสีผิวและรูปลักษณ์ และมีคำเรียกเฉพาะในกลุ่มชาวญี่ปุ่นว่า zanen หรือ ลูกครึ่งขี้เหร่ ประสบการณ์ของหนุ่มที่พ่อมาจากประเทศกานา ยังจำได้ดีว่าเขาพยายามขอเช่าห้องชุดแต่ถูกปฏิเสธ เพราะเจ้าของกิจการเกรงว่าผู้เช่ารายอื่นๆ อาจไม่พอใจที่ต้องอยู่รวมกับ ลูกครึ่งขี้เหร่ ความไม่เท่าเทียมทางสังคมกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มน้อยรายนี้สร้างมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการศึกษาและความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและกานา ด้วยความหวังว่าการปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเชื้อชาติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงแม้จะใช้เวลานานเพียงไรดีกว่าไม่มีการเริ่มต้น เช่นเดียวกับที่กลุ่มเยาวชนอื่นๆ ช่วยกันจัดตั้งกิจกรรม “HafuTalk” เพื่อเชิญชวนให้ผู้ปกครอง นักเรียนและครู สร้างบทเรียนร่วมกันเพื่อเสริมทักษะด้านต่างๆ ของ ลูกครึ่ง เพื่อการปรับเปลี่ยนอคติในกลุ่มเพื่อนๆ หรือสังคมรอบข้าง โดยมีเป้าหมายว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน
เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการสื่อสารผ่านสื่อสังคมที่มีอิทธิพลต่อรสนิยมคนรุ่นใหม่ เช่น การแต่งกาย บันเทิงหรือสันทนาการ ลูกครึ่ง กำลังกลายเป็นค่านิยมใหม่ที่มาแรงสำหรับวัยรุ่นในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนางแบบ นักร้อง นักแสดงหรือแม้แต่นักกีฬา ความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะตัว ได้สร้างพื้นที่สังคมเพื่อลดการดูแคลนแม้ว่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยเวลาและความมุ่งมั่นเพื่อทลายกำ.แพงความเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมในประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิง
อารี จำปากลาย
ศุทธิดา ชวนวัน
อภิชัย อารยะเจริญชัย
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
วรชัย ทองไทย
ศุทธิดา ชวนวัน
อมรา สุนทรธาดา
กฤติญา สำอางกิจ
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
อมรา สุนทรธาดา