The Prachakorn

แล้วใครจะดูแลเราเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ?


ศุทธิดา ชวนวัน

03 ตุลาคม 2565
929



“อยู่คนเดียว แสนจะเปลี่ยวใจ โบราณว่าไว้ แสนสบายแต่ไม่สนุก
อยู่สองคน มีแต่ความทุกข์ แสนสนุก แต่ไม่สบาย
ไตร่ตรองดู สองอย่างต่างกัน อันความดีนั้นเห็นต่างกัน ชนิดละฝ่าย
อยู่คนเดียว เที่ยวกินใช้ คราเจ็บไข้ ไม่มีใครรักษาเรา....”

ใครที่เกิดทันในช่วงก่อนปี 2500 คงคุ้นหูกับเพลงนี้ดี “มีคู่เสียเถิดคุณขา” ของคุณดารารัตน์ เกียรติเกิดสุข ไม่น่าเชื่อเลยว่า แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงดังข้ามยุคในอดีตเมื่อ 60 กว่าปีก่อน แต่ก็ยังสะท้อนภาพการอยู่คนเดียวและการมีคู่ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

ทุกวันนี้แนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุกำ.ลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องการไม่มีผู้ดูแลในบั้นปลายชีวิต สังคมไทยในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นสังคมไร้ลูกหลาน ค่านิยมเรื่องการมีคู่เปลี่ยนไป คนหนุ่มสาวเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานกันช้าลง ต้องการมีบุตรน้อยลง หรือเลือกที่จะไม่มีบุตรเลย ข่าวต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อสาธารณะได้นำเสนอภาพความยากลำบากและความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตเพียงลำ.พังของผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากปัญหาทั้งทางด้านสุขภาพ จิตใจ เศรษฐกิจ การอยู่อาศัย รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าไม่ถึงบริการทางสังคม ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ชวนขบคิดในเรื่องการเตรียมความพร้อม หรือการเตรียมตัวที่จะรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต นำไปสู่คำถามที่ว่า เมื่อต้องอยู่คนเดียวในบั้นปลายชีวิตผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่กันอย่างไร ใครจะเป็นผู้ดูแล?


รูป: ความอบอุ่นที่ผู้สูงอายุได้รับ
ที่มา: https://www.poppad.com สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2565

สถานการณ์การอยู่ตามลำพังคนเดียวของผู้สูงอายุ

ในปี 2563 ประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนไทยทั้งหมดที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำ.พังคนเดียวและที่สามีภรรยาอยู่กันตามลำพัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2533-2563 ครัวเรือนทั้งสองรูปแบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัวเลยทีเดียว (ดูแผนภูมิ)


แผนภูมิ: สัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว และที่อยู่กับสามีภรรยาเท่านั้น ปี 2533-2563
ที่มา: วิเคราะห์ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2533 2543 2553 และ 2563, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เนื้อเพลงสะท้อนภาพการอยู่คนเดียว

“อยู่คนเดียว แสนจะเปลี่ยวใจ” สะท้อนความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เศร้าใจ ที่ต้องอยู่คนเดียว การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและและสวัสดิการ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวรู้สึกกังวลและซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่น ยิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งมีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหญิงที่มีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุชาย เหตุผลหนึ่งมาจากการเสียชีวิตของคู่สมรส และการอยู่เป็นโสด งานวิจัยของสถาบันฯ1 สะท้อนสภาพจิตใจของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึก “กังวลกับการอยู่คนเดียว และกลัวตายคนเดียว” พวกเขาอยากให้มีคนแวะเวียนมาหาบ้าง การมีคนมาพูดคุยด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางด้านจิตใจ

“อยู่คนเดียว เที่ยวกินใช้ คราเจ็บไข้ ไม่มีใครรักษาเรา” สะท้อนเรื่องการใช้ชีวิตคนเดียว อยากทำอะไรก็ทำได้ แต่ก็ยังทิ้งท้ายไว้ว่า หากเจ็บป่วยไม่สบายจะไม่มีใครช่วยดูแลรักษา ผู้สูงอายุหากไม่มีการเตรียมตัวในเรื่องการออมเงินมาก่อนหน้า เมื่อเจ็บป่วย ไม่สบาย ยามชรา อาจไม่มีเงินไปรักษา รวมถึงเมื่อต้องอยู่ตามลำพังคนเดียว หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแล้ว จะไปได้อย่างไร ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 26 ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว “ไม่มีผู้พาไปรับการรักษา” ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวโดยไม่มีลูกหลานดูแล ทำให้มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ

การเตรียมความพร้อมที่นำไปสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

การเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ คือ การจัดบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง และครอบคลุมให้กับคนทุกกลุ่มวัย หมายถึงว่าผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับดูแล ดังนั้นการมีระบบการดูแลโดยชุมชน (community based services) อาจเป็นคำตอบที่เหมาะสม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ร่วมกับภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล นอกจากนี้แล้ว การจัดบริการทางสังคมควรเป็นในลักษณะสามารถเคลื่อนเข้าไปหาผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกมารับบริการได้ด้วยตนเอง และควรสนับสนุนการมี “ระบบช่วยเหลือการเข้าถึงบริการแบบครบวงจร” (รับที่บ้าน-ไปยังจุดหมายปลายทาง-ส่งกลับบ้าน) ในรูปแบบอาสาสมัคร หรือธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย (social enterprise)

ต่อไปนี้การจัดบริการทางสังคมเพื่อผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่คนเดียวแบบไร้ญาติขาดมิตร สุขภาพไม่ดี/ติดเตียง เพราะเป็นผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง ควรจำเป็นจะต้องเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นพิเศษ


อ้างอิง

ศุทธิดา ชวนวัน, กาญจนา เทียนลาย, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น, สิทธิชาติ สมตา และวิชาญ ชูรัตน์. (2565). โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

Web Accessibility คืออะไร?

เพ็ญพิมล คงมนต์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th